“โอลิเวอร์ ครอมเวลล์” ลอร์ดผู้พิทักษ์แห่งอังกฤษ ช่วงเปลี่ยนระบอบเป็น “สาธารณรัฐ”

โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ (Oliver Cromwell) วาดโดย Samuel Cooper (ภาพจาก Wikimedia Commons)

อังกฤษช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 มีเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ เพราะเป็นห้วงเวลาแห่งความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างสถาบันกษัตริย์ นำโดยพระเจ้าชาลส์ที่ 1 (Charles I) แห่งราชวงศ์สจวต (House of Stuart) และฝ่ายรัฐสภา นำโดย โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ (Oliver Cromwell) ซึ่งนำไปสู่สงครามกลางเมืองอังกฤษ

ชัยชนะของฝ่ายรัฐสภาส่งผลให้พระเจ้าชาลส์ที่ 1 ถูกจับกุมและประหารชีวิต อังกฤษเริ่มยุคสมัยสาธารณรัฐ (Republic) โดยมีโอลิเวอร์ ครอมเวลล์เป็นประมุขแห่งรัฐ เขาปฏิเสธสถานะกษัตริย์แต่นิยามตำแหน่งของตนว่า “ลอร์ดผู้พิทักษ์” (Lord Protector)

ในยุครัฐบาลโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ชาวอังกฤษในระบอบใหม่ต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงมากมาย ก่อนจะพบว่าประมุขแห่งรัฐของพวกเขาไม่ต่างจากกษัตริย์เลย ทั้งยังเป็นผู้เผด็จการคนหนึ่ง และระบบระเบียบทางสังคมที่ครอมเวลล์เพียรสร้างขึ้นนี้ไม่ใช่วิถีที่พวกเขาปรารถนา

การสร้างความเปลี่ยนแปลงของครอมเวลล์

โอลิเวอร์ ครอมเวลล์เกิดวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1599 ที่เมืองฮันติงดอน (Huntingdon) ประเทศอังกฤษ เขาได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแขวงเคมบริดจ์ (Cambridge) ระหว่าง ค.ศ. 1640-1649 เมื่อเกิดสงครามกลางเมือง ด้วยบทบาทผู้นำทางการทหารของฝ่ายรัฐสภา โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ได้รับสมญานามว่า “Ironsides” และภายหลังชนะสงคราม เขาคือหนึ่งในผู้ลงนามสั่งประหารชีวิตพระเจ้าชาลส์ที่ 1

Oliver Cromwell at the Battle of Worcester, ครอมเวลล์ในสมรภูมิวูสเตอร์ ศึกสุดท้ายก่อนฝ่ายรัฐสภามีชัยเหนือกษัตริย์ชาลส์ที่ 1 (ภาพจาก Wikimedia Commons)

โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ดำรงตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาอังกฤษระหว่าง ค.ศ. 1649-1653 ระหว่างนั้นเขาคือผู้นำทัพในการรบที่ไอร์แลนด์และสกอตแลนด์ ชัยชนะอันเด็ดขาดทำให้อำนาจของเขาเพิ่มพูนขึ้นอย่างมหาศาล

วันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1653 โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ใช้กำลังทหารสั่งยุบรัฐสภารัมป์ (Rump Parliament) แห่งอังกฤษ แล้วจัดตั้งรัฐสภาแบร์โน (Barebones Parliament) เพื่อสนับสนุนเขาเป็นประมุขแห่งรัฐในตำแหน่ง “ลอร์ดผู้พิทักษ์” แห่งอังกฤษ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์ ณ วันที่ 16 ธันวาคม ของปีเดียวกันนั้น

โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ถือเป็นนักปฏิวัติที่แตกต่างจากนักปฏิวัติคนอื่น ๆ ในโลกตะวันตก เพราะเขาเคร่งศาสนาอย่างมาก ครอมเวลล์เป็นคริสต์ศาสนิกชนนิกายพิวริตัน (Puritan) ที่มีข้อยึดถือจริงจังหลายประการและมองว่านิกายแองกลิคัน (Anglicanism) ของอังกฤษนั้นทั้งหย่อนยานและแทบไม่ต่างจากนิกายคาทอลิก (Catholic) เลย

ตลอดการดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ โอลิเวอร์ ครอมเวลล์พยายามที่จะไม่เป็นผู้เผด็จการ จะเห็นได้จากการหลีกเลี่ยงสถานะกษัตริย์และใช้ชื่อตำแหน่งลอร์ดผู้พิทักษ์เพื่อกลบภาพการใช้อำนาจแบบราชาธิปไตยของเขาเอง ทั้งที่มีการตัดสินใจที่เด็ดขาด โหดร้าย และเป็นเผด็จการในหลาย ๆ เหตุการณ์ ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อพบว่านโยบายของเขาถูกคุกคามจากอำนาจกลุ่มอื่น ๆ

โอลิเวอร์ ครอมเวลล์เป็นผู้สั่งสังหารหมู่ชาวไอริชที่เป็นคาทอลิกเมื่อพวกเขาก่อกบฎและไม่ยอมจำนนต่อรัฐบาลอังกฤษ มีการยึดที่ดินของชาวไอริชเหล่านี้ในเขตอัลเตอร์ (Ulster) แล้วแจกจ่ายให้ชาวอังกฤษที่เป็นโปรเตสแตนต์ นำไปสู่ปัญหาเจ้าที่ดินชาวอังกฤษกับชาวนาไอริชผู้ยากจนซึ่งเป็นความขัดแย้งอันยาวนานและสร้างความทุกข์ทนให้ชาวไอริชไปอีกหลายชั่วอายุคน

ในสกอตแลนด์ กองทัพรัฐบาลของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์มีการปราบปรามชาวสกอตที่ให้ความช่วยเหลือทายาทของพระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งราชวงศ์สจวต ด้วยความโหดเหี้ยม และนองเลือดอยู่ไม่น้อย รัฐบาลอังกฤษในยุคเขายังก่อสงครามกับดัตช์ (เนเธอแลนด์) ระหว่าง ค.ศ. 1652-1654 ในสงครามช่วงชิงอำนาจในเส้นทางการค้าทางทะเล และมีการยุบสภาอันยาวนานใน ค.ศ. 1653 ทำให้เหล่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่มีอำนาจหรือส่วนร่วมในการตรวจสอบนโยบายต่าง ๆ ของเขาได้เลย

ความเคร่งครัดในศาสนาของครอมเวลล์ทำให้วัฒนธรรมอังกฤษที่เป็นเรื่องเพลิดเพลินทางโลก เช่น การแสดงละครที่เฟื่องฟูมาตั้งแต่ยุคของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 1 (ค.ศ. 1558-1603) และเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวอังกฤษอย่างตลาดที่มีการแสดงละครเป็นประจำต้องปิดตัวลง ชาวอังกฤษต้องอยู่ในกรอบของศาสนาอย่างเคร่งครัดและถูกสั่งห้ามใส่เสื้อผ้าที่มีสีสัน

อย่างไรก็ตาม โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ถือเป็นผู้นำคนแรกที่สามารถรวบรวมอาณาจักรต่าง ๆ ในเกาะอังกฤษให้อยู่ใต้รัฐบาลเดียวได้อย่างสมบูรณ์ มีการเสริมสร้างทัพเรืออังกฤษอย่างขนานใหญ่หลังขาดการบำรุงมาระยะหนึ่ง เพื่อให้อังกฤษเป็นเจ้าแห่งท้องทะเลอีกครั้ง มีส่งเสริมพาณิชย์นาวี ออกกฎหมายเรือ (Navigation Acts) ใน ค.ศ. 1651 ว่าด้วยการสั่งห้ามค้าขายกับเรือสัญชาติดัตช์ บังคับให้ใช้เรืออังกฤษเท่านั้นในการการขนส่งสินค้าในการค้าขายทางทะเลกับอังกฤษและดินแดนในปกครองของอังกฤษ เศรษฐกิจอังกฤษในยุครัฐบาลนี้จึงขยายตัวอย่างมาก

โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ยังใช้อำนาจที่มีทดลองระบอบการเมืองการปกครองรูปแบบต่าง ๆ ที่เขาปรารถนาให้เกิดขึ้นในอังกฤษ มีการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เช่น การให้หลักประกันในการนับถือศาสนาแก่พวกโปรเตสแตนต์นิกายต่าง ๆ (ยกเว้นนิกายแองกลิคัน) การพัฒนารัฐธรรมนูญสำหรับการให้อำนาจการปกครองแก่รัฐบาล เขาพยายามที่จะปกครองอังกฤษภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งถือเป็นชาติมหาอำนาจชาติแรกที่ริเริ่มแนวคิดนี้

ถึงกระนั้น ความพยายามเหล่านี้เกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศการเมืองที่โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ปกครองด้วยอำนาจที่ไม่ต่างจากกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พฤติกรรมที่เป็นเผด็จการของเขาจึงทำให้มีเรื่องขัดแย้งกับรัฐสภาแห่งอังกฤษอยู่เนือง ๆ

โอลิเวอร์ ครอมเวลล์, วาดโดย Robert Walker (ภาพจาก National Portrait Gallery, London)

โอลิเวอร์ ครอมเวลล์แสดงออกถึงความเป็นเผด็จการทหารอย่างเต็มตัวเพื่อควบคุมรัฐสภา ในเหตุการณ์การยุบสภา ค.ศ. 1653 เพื่อไม่ให้รัฐสภาออกกฎหมายลงโทษหรือต่อต้านคณะนายทหารของเขาหรือผู้มีอุดมการณ์ศาสนาเช่นเดียวกับเขา อันที่จริงชาวอังกฤษส่วนใหญ่ไม่ได้เรียกร้องหรือต้องการขันติธรรทางศาสนาอย่างที่เขาต้องการให้เกิดแต่อย่างใด และกลุ่มทหารที่เห็นด้วยกับแนวคิดของเขาก็เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น

การปกครองระบอบสาธารณรัฐภายใต้การนำของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์จึงขัดแย้งกับพื้นฐานแนวคิดทางการเมืองและวัฒนธรรมของอังกฤษซึ่งปกครองในระบอบกษัตริย์มาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน และเป็นรัฐบาลที่มีความเปราะบางพร้อมสลายตัวได้ตลอดเวลา

รื้อฟื้นระบอบกษัตริย์

หลังการอสัญกรรมของของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ใน ค.ศ. 1558 ผู้ที่เคยสนับสนุนเขาจึงหันหลังให้ริชาร์ด ครอมเวลล์ (Richard Cromwell) บุตรชายผู้สืบทอดอำนาจต่อจากเขา ชาวอังกฤษเห็นเป็นโอกาสที่จะกำจัดอำนาจเผด็จการทหารและรือฟื้นระบบรัฐสภาขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งรวมถึงฟื้นฟูระบอบกษัตริย์อังกฤษด้วย

ดังนั้น ค.ศ. 1660 จึงการจัดตั้งรัฐสภาใหม่ที่เรียกว่า Convention Parliament กลุ่มกษัตริย์นิยม สมาชิกรัฐสภา และผู้สนับสนุนนิกายแองกลิคันจึงรวมตัวกันทูลเชิญเจ้าชายชาลส์ (Charles) พระราชโอรสองค์โตในพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ให้เสด็จนิวัตจากฝรั่งเศสกลับมาครองราชบัลลังก์อังกฤษ เฉลิมพระนามพระเจ้าชาลส์ที่ 2 (Charles II, ค.ศ. 1660-1685) ราชวงศ์สจวตจึงกลับมาครองอังกฤษอีกครั้ง เรียกเหตุการณ์นี้ว่าเป็น “การฟื้นฟูระบอบกษัตริย์” หรือ Restoration

หลังการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ในอังกฤษ ร่างของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ที่ฝัง ณ โบสถ์เซนต์ปีเตอร์ที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ (Westminster Abbey) ถูกขุดขึ้นมาประจานด้วยการแขวนด้วยโซ่และตัดหัว สิ้นสภาพลอร์ดผู้พิทักษ์แห่งอังกฤษ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์ อย่างน่าสังเวช

ทั้งนี้ แม้ราชวงศ์สจวตจะหวนคืนอำนาจได้ แต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในอังกฤษไม่ได้ถูกรื้อฟื้นด้วยแต่อย่างใด เพราะพระราชบัญญัติต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยก่อนสงครามกลางเมืองยังคงสถานะการเป็นกฎหมายแห่งชาติอยู่ พระราชบัญญัติเหล่านี้ล้วนจำกัดอำนาจกษัตริย์ไม่ให้ใช้อำนาจสมบูรณ์แบบราชาธิปไตยได้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการหล่อหลอมและพัฒนาประชาธิปไตยอังกฤษโดยมีรัฐสภาทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิของประชาชนและต่อต้านอำนาจของประมุขที่เป็นเผด็จการหรือพยายามควบรวมอำนาจรัฐด้วยกำลังทหาร

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

อนันต์ชัย เลาหะพันธุ. (2560). ยุโรปสมัยใหม่ ค.ศ. 1492-1815. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร.

Maurice Ashley, Britannica: Oliver Cromwell English statesman


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กันยายน 2565