ตามพิสูจน์พระปฏิญาณ 3 ประการของพระพุทธเจ้าหลวง ในคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ร.ศ. 116

ภาพรัชกาลที่ 5 ในหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส L’ILLUSTRATION ฉบับที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1910 (ภาพจากคุณไกรฤกษ์ นานา)

ในคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ร.ศ. 116 / พ.ศ. 2440 พระพุทธเจ้าหลวงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ และตราพระราชบัญญัติจำนวน 20 มาตรา เพื่อความสงบเรียบร้อยในพระราชอาณาจักร ในขณะที่พระองค์ท่านเสด็จประทับอยู่ต่างแดน

พระพุทธเจ้าหลวง-พระองค์เองทรงเปล่งคำปฏิญาณ 3 ประการเฉพาะหน้าพระภิกษุสงฆ์ในการที่จะประพฤติพระองค์ในเวลาประทับอยู่ต่างแดน ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2439 ดังนี้

1. ข้าพเจ้าจะไม่มีจิตรยินดีน้อมไปในสาศดาอื่น นอกจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แลพระธรรมอันพระองค์ได้ตรัสรู้ชอบดีแล้ว กับทั้งพระสงฆ์หมู่ใหญ่ อันได้ประพฤติตามคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเลยเปนอันขาด จนตราบกว่าสิ้นชีวิตร

2. การที่ข้าพเจ้าไปครั้งนี้ แม้ว่าจะช้านานเท่าใดก็ดี ข้าพเจ้าจะไม่ร่วมประเวณีด้วยสัตรีใด จนกลับเข้ามาถึงในพระราชอาณาเขตร

ต้นฉบับลายพระหัตถ์คำปฏิญาณ (บางส่วน) ของรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหอจดเหมายเหตุแห่งชาติ)

3. ถึงแม้ว่าจะไปในประเทศ ซึ่งเขาถือกันว่าการให้สุราเมรัยไม่รับเปนการเสียกิริยาอันดี ฤๅเพื่อป้องกันโรคภัยอันเปลี่ยนอากาศเป็นต้น ข้าพเจ้าจะไม่เสพสุราเมรัย ให้มึนเมาเสียสติ ฤๅแม้แต่มีกายวิกลเกินปรกติเป็นอันขาด

พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จออกจากพระนคร, 13° 45′  N, 100° 35 ‘ E เมื่อวันที่ 7 เมษายน ร.ศ. 116 เสด็จไปยังเมืองต่างๆ ในจำนวน 15 ประเทศ ระยะเวลาการเดินทางร่วม 9 เดือน สิ้นระยะทางประมาณ 55,065 ก.ม. พระองค์ท่านเสด็จกลับสู่พระนครในวันที่ 16 ธันวาคม ร.ศ. 116 ทรงเปล่งคำกล่าวคืนพระปฏิญาณ บอกบริสุทธิ์เฉพาะหน้าพระภิกษุสงฆ์ โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นองค์ประธาน ทรงสมาทานเบญจศีลในสำนักพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส อธิบดีสงฆ์แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ดังนี้

1. ข้าพเจ้ามิได้มีน้ำใจน้อมไปในสาศดาอื่น นอกจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แลพระธรรมอันพระองค์ตรัสรู้ชอบดีแล้ว กับทั้งพระสงฆ์หมู่ใหญ่อันได้ประพฤติตามคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

2. ข้าพเจ้ามิได้ร่วมประเวณีด้วยสัตรีใด จนกลับมาถึงในพระราชอาณาเขตร

3. ข้าพเจ้ามิได้เสพสุราเมรัยมึนเมา แม้แต่มีกายวิกลเกินปรกติ

ในจดหมายเหตุพระพุทธเจ้าหลวงถึงแม่เล็ก (สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ) และจดหมายเหตุเสด็จประพาสยุโรป ร.ศ. 116 ของพระยาศรีสหเทพไม่ได้ให้รายละเอียดมากนักเกี่ยวกับข้อปฏิญาณ 3 ประการของพระพุทธเจ้าหลวง อาจจะเป็นเพราะข้อปฏิญาณดังกล่าว เป็นข้อวัตรปฏิบัติส่วนพระองค์

พระกอลสาระทะเถระ (Ven. Galle Sarada Thera) พระภิกษุชาวสิงหลที่ผู้เขียนทีโอกาสพบในศรีลังกา ท่านได้เล่าเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าหลวงว่า พระสงฆ์ในเมืองกอล จังหวัดหนึ่งทางตอนใต้ของศรีลังกา ห่างจากกรุงโคลัมโบ 105 ก.ม. ไม่ทราบการเสด็จเมืองกอล เจ้าอาวาสวัดศรีปรมานันทมหาวิหาร เดินทางไปโคลัมโบ เพื่อเข้าเฝ้าในวันที่ 20 เมษายน ร.ศ. 116 ในตอนเย็นของวันที่ 19 เมษายน พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จวัดศรีปรมานันทมหาวิหาร ทรงนมัสการปูชนียสถานของทางวัด ณ วัดแห่งนี้มีศาลาหลังใหญ่ที่ได้รับพระราชทานนามจากพระองค์ท่านว่า “จุฬาลงกรณ์ธรรมศาลา”

หลังจากนั้นเสด็จวัดคงคารามมหาวิหาร เมืองกอล พระอารามแห่งนี้เคยเป็นที่อยู่ของพระสมณทูตไทยสมัยรัชกาลที่ 4 มีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สี) เป็นหัวหน้า เมื่อเสด็จถึง พระสังฆรัตนติสสะเถระทูลถวายรายงานและอ่าน “จุฬาลงกรณ์คาถา” พระคาถาภาษาบาลีสรรเสริญพระมหากรุณาธิคุณ ของพระพุทธเจ้าหลวง วัดคังคารามมหาวิหารได้สร้างเสาหินสูง 99 นิ้ว รู้จักกันทั่วไปว่า “เสาหลักหินจุฬาลงกรณ์” 6° 5′  N, 80° 10 ‘ E มีคำจารึกพระนามและการเสด็จเยี่ยมวัดของพระพุทธเจ้าหลวง เสาหลักหินนี้ประดิษฐานอยู่กลางบริเวณวัด ล้อมรอบด้วยพระวิหาร เจดีย์ พระอุโบสถ และกุฏิสงฆ์ เป็นอนุสรณ์รำลึกถึงพระองค์ท่าน

ราวประมาณ 10 ปีล่วงมาแล้ว ผู้เขียนได้ พบกับนายทะยานันทะ คุณะวัฒเดนะ (Dayananda Gunawardane) ชาวสิงหลในกรุงโคลัมโบ ผู้บอกถึงความจงรักภักดีของชาวภาคใต้ศรีลังกาที่มีต่อพระพุทธเจ้าหลวง สร้างอนุสรณ์สถานเกี่ยวกับพระองค์ท่าน ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในการฟื้นฟูพุทธศาสนาในศรีลังกา ในสมัยที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ พระบุลัตคามะเถระ (Ven. Bulathgama Thera) พระสงฆ์ผู้นำมีชื่อเสียงในภาคใต้ ถูกตำรวจจับกุมในข้อหาจัดขบวนแห่ตามถนน ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายมีโทษทั้งปรับและจำคุก พระพุทธเจ้าหลวงทรงทราบเรื่องนี้ ทรงมีพระราชสาสน์ด่วนถึงพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งอังกฤษ ในที่สุดพระเถระถูกปล่อยตัวและได้รับการขอโทษจากตำรวจ นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาถึงทุกวันนี้ ชาวพุทธศรีลังกามีสิทธิเสรีภาพมีสิทธิเสรีภาพในการจัดขบวนแห่ทางศาสนาตามประเพณีทั่วประเทศ

จากคำบอกเล่าของพระสงฆ์ และนักประวัติศาสตร์ศรีลังกา ตลอดจนถึงเอกสารต่างๆ ในสมัยนั้น ทำให้ทราบเป็นอย่างดีว่า พระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระราชประสงค์จะรักษาพระปฏิญาณข้อแรก ที่พระองค์ท่านทรงสมาทานไว้ตลอดเวลา เสด็จวัดพุทธศาสนาในเมืองกอล ซึ่งนับเป็นสถานที่แห่งแรกในศรีลังกาที่เสด็จเยี่ยม ก่อนที่จะเข้าร่วมพิธีเฝ้ารับเสด็จอย่างเป็นทางการในเมืองหลวงในระหว่างเสด็จยุโรป พระองค์ท่านทรงจัดหาซื้อกระถางศิลาอ่อนไว้สำหรับถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระมหารัตนปฏิมากรและพระพุทธชินสีห์ด้วย

หลังจากเสด็จประพาสรัสเซีย พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จกรุงสตอกโฮล์ม เมืองหลวงของสวีเดนนอร์เวย์ และเสด็จภาคเหนือของประเทศโดยทางชลมารค ในวันที่ 17 กรกฎาคม ร.ศ. 116 เวลาเช้าพระองค์ท่านเสด็จประทับเรือกลไฟสตริมมาคาเลน (Strömkarlen) พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชและคณะ เพื่อทอดพระเนตรทัศนียภาพเขตหักก์วิกก์ (Häggvk) ส่วนเรือพระที่นั่งจักรีจอดรอคอย ณ ท่า เมืองฮาร์นสัน (Härnösand) ในโอกาสนี้ประชาชนที่มาคอยเฝ้ารับเสด็จ ได้รับอนุญาตให้ชมภายในเรือพระที่นั่งจักรี ในพื้นที่เขตที่อนุญาตให้ชมได้

อย่างไรก็ตาม นักข่าวของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นชื่อว่า วาสเตอร์นูแลนด์อัลเลฮันเด (Västermorrlands Allehanda) ได้แอบเข้าไปในห้องพระบรรทม พยายามค้นหาห้องพระมเหสีของพระพุทธเจ้าหลวง เพื่อรายงานข่าวที่ผู้คนกำลังสนใจกันมากอยากจะรู้ว่า ห้องของพระองค์ท่านจัดอย่างไร พระมเหสีที่ติดตามจะประทับอยู่ห้องไหน ข่าวลือที่แพร่ขยายไปทั่วว่า พระมเหสีชาวสยามที่ติดตามการเสด็จครั้งนี้ มีจำนวนระหว่าง 40-60 พระองค์ นักข่าวคนนี้เดินหาแหล่งข่าวสำคัญจนทั่ว เขียนรายละเอียดสิ่งที่ได้พบเห็นในห้องพระบรรทม เช่น หนังสือที่ทรงโปรด พระพุทธรูปบนแท่นบูชา ตรวจดูห้องครัว ห้องข้าราชบริพารและคอกเลี้ยงวัวและไก่ในเรือ ไม่พบหลักฐานใดๆ ที่พอจะเป็นหลักฐานให้ทราบถึงความเป็นอยู่และจำนวนพระมเหสืบนเรือแม้แต่พระองค์เดียว

………..

วันที่ 20 กรกฎาคม ร.ศ. 116 พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จพระราชดำเนินไปงานเลี้ยง ณ โรงแรมคะนุตส์ในเมืองซุนส์วัล (Knaust Hotel in Sundsvall) จังหวัดทางตอนเหนือของสวีเดนปัจจุบัน เพื่อเสวยพระกระยาหารกลางวัน ทางโรงแรมได้จัดโต๊ะเสวย มีเครื่องดื่มวอดก้า (Vodka) เครื่องดื่มที่มีชื่อเสียงที่สุดในแถบสแกนดิเนเวีย ในงานพิธีเลี้ยงรับรองนั้นพระพุทธเจ้าหลวงทรงถือแก้วแชมเปญและน้ำเปล่าเสด็จพระราชดำเนินทักทายแขกผู้มีเกียรติทั่วงานและทรงกล่าวเชิญชวนดื่มในพิธี ผลปรากฏว่าแขกผู้มาร่วมงานไม่มีใครสามารถดื่มครบตามคำเชิญ หรือคิดจะสู้กราบทูลเชิญชนแก้วกับพระองค์ท่านได้

ในพระราชหัตถเลขาถึงแม่เล็ก ฉบับวันที่ 18 กรกฎาคม ร.ศ. 116  มีข้อความเกี่ยวกับเรื่องดื่มว่า…ฉันจะต้องย้อนเล่าขึ้นไปถึงเรื่องฉันทำเมาที่สตอกโฮม บรรดาที่เห็นว่าสนิทเปนที่สุดแล้ว พระยาพิไชยแกอมยิ้มกับฉันร่ำไป เพราะเจ้าแผ่นดิน แกเปนคนขี้เมา เขานับถือกันว่าดี ความที่รักฉันพูดอะไรเกือบจูบกันทุกที การเลี้ยงในเรือวันจะกลับเปนการสนุกรื่นเริงเสียจริงๆ พอแกไปแล้ว ฉันเดินจ๋องๆ เปนคนๆ เราดีๆ คนเมาจริงสู้ฉันไม่ใคร่ได้ เพราะฉันมีสติอารมณ์บริบูรณ์กว่า มีคนรู้เท่าฉันอยู่คนเดียวแต่เคราน์ปรินซ์เท่านั้น…

การเสด็จพระราชดำเนินทางตอนเหนือของสวีเดนนอร์เวย์ (ปัจจุบันแยกเป็นประเทศปกครองอิสระ) เป็นการเสด็จหลังจากการเดินทางที่ยาวนาน ทรงพักผ่อนทอดพระเนตรธรรมชาติแถบทะเลเหนือบอลติก ความเป็นอยู่ของคนในแถบใกล้เส้นอาร์กติกเขตกำหนดพระอาทิตย์เที่ยงคืน เส้นทางที่เสด็จเป็นดินแดนที่สวยงามหายากแห่งหนึ่งของโลก พระเจ้าแผ่นดินสวีเดนนอร์เวย์จึงทรงแนะนำเส้นทางสายนี้ ให้กงสุลเยเนราลกรุงสยามประจำสวีเดนนอร์เวย์ นำเสด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จทางชลมารคไปในสถานที่ดังกล่าว ตลอดระยะเวลาร่วมหนึ่งสัปดาห์ ไม่มีการเจรจาความเมืองหรือพบปะผู้นำประเทศใดๆ หากพระพุทธเจ้าหลวงทรงคิดจะแสวงหาความสำราญ ในบรรยากาศที่คนทั่วโลกอยากจะไปสัมผัสและใช้ชีวิตอย่างสำราญ ณ สถานที่เช่นนั้น คงมิเป็นการยากแต่ประการใด จากปากคำบอกเล่าของคนท้องถิ่นและเอกสารต่างๆ เขียนและรายงานโดยคนพื้นที่นั้น ไม่ปรากฏเลยว่าพระพุทธเจ้าหลวงทรง ละเมิดคำปฏิญาณข้อที่ 2 และ 3

ตลอดเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ในภาคเหนือสวีเดนนอร์เวย์ ประชาชนจำนวนมากเดินทางมาเฝ้าคอยรับเสด็จพระพุทธเจ้าหลวง ตลอดสองฝั่งแม่น้ำ ในเขตเบอร์เก (Berge) ฝูงชนเฝ้ารับเสด็จมีจำนวนมาก จนทำให้ไม้รั้วที่ใช้กั้นบนฝั่งแม่น้ำ ไม่สามารถทนทานได้ มีคนหลายคนตกลงไปในแม่น้ำอินดัล แต่ไม่มีใครได้รับอันตรายครั้งนี้ คนที่ตกลงไปในน้ำต่างดีใจ เพราะอากาศวันนั้นร้อนมาก เรียกกันว่า “อากาศของพระราชาแห่งกรุงสยาม”…

………….

การเสด็จพระราชดำเนินสู่ยุโรปของพระพุทธเจ้าหลวงสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี สมดังพระราชประสงค์ในพระปฏิญาณ 3 ประการของพระองค์ท่านว่า…ข้าพเจ้าคิดจะไปประเทศยุโรปครั้งนี้ ด้วยข้าพเจ้ามุ่งต่อความดีแห่งพระราชอาณาจักร แลด้วยความหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ตัวข้าพเจ้าด้วย เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าตั้งใจจะรักษาตนให้สมควรแก่ที่เป็นเจ้าของประชาชนชาวสยามทั้งปวง จะรักษาเกียรติยศแห่งราชอาณาจักร อันเป็นเอกราชนครนี้จนสุดกำลังที่ข้าพเจ้าจะป้องกันได้…

 


อ้างอิง :

พระราชหัตถเลขา เมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป พ.ศ. 2440 เล่ม 1, 2.

จดหมายเหตุเสด็จประพาสยุโรป ร.ศ. 116.

King Chulalongkorn’s Northern Journey 1897 by Sören Nilssonง

The Island, Wednesday 5th October 1988 “Thai King helped Lanka’s freedom struggle” page 7 by Dayananda Gunawardane.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 สิงหาคม 2565