อ่องกิมก๋อง เพลงกล่อมเด็กอมตะของคนแต้จิ๋ว

เด็กชาวจีน ทศวรรษ 1900 หนังสือ The Spirit of missions
เด็กชาวจีน ภาพถ่ายราวทศวรรษ 1900 (ภาพจากหนังสือ The Spirit of missions, 1909)

“อ่องกิมก๋อง” เพลงกล่อมเด็ก ที่เป็นเพลงอมตะของ “คนแต้จิ๋ว” ที่มาเป็นอย่างไร เนื้อหาแปลว่าอะไร

วันนี้พ่อแม่ผู้ปกครองอาจไม่ต้องร้อง เพลงกล่อมเด็ก ให้นอนด้วยตนเอง เพราะมีตัวช่วยให้เลือกมากมาย แต่ถ้าย้อนกลับไปสัก 40-50 ปีก่อน การเลี้ยงทารกหรือเด็กเล็กหลายคนต้องร้องเพลงกล่อมเด็กเอง ส่วนจะเป็นเพลงไหน ก็เป็นไปตามวัฒนธรรม, ชาติพันธุ์ของแต่ละครอบครัว

แต่ถ้าคนจีนแต้จิ๋ว ส่วนใหญ่ถ้าจะร้อง “เพลงกล่อมเด็ก” แล้วก็ต้องเป็น “อ่องกิมก๋อง”

อ่องกิมก๋องเป็นเพลงกล่อมเด็กพื้นบ้าน คนแต้จิ๋ว มีอายุประมาณ 500 ปี ไม่ทราบชัดเจนว่าใครเป็นผู้แต่ง เนื้อร้องเวอร์ชันหนึ่งร้องว่า

อ่อง อ๋องเอ อ๋อง อ่องกิมก๋อง (เสียงเอื้อนขึ้นต้นเพลง)

กิมก๋องจอเหล่าเตีย-โตขึ้นให้เป็นนายคน

อาบุ๊งอาบูไหล่ตาเฮีย-มีบริวารคอยยกรองเท้าขุนนาง

ตาเฮียตาผู่พู้-ยกรองเท้าให้สูงหน่อย

ฉี่เจี๊ยะตือตั่วก๊วยงู้-เลี้ยงหมูให้ตัวโตกว่าวัว

ตั่วงู้แซแบ๊เกี้ย-วัวตัวโตตกลูกเป็นม้า

แบ๊เกี่ยแซกิมจู-ลูกม้าให้กำเนิดไข่มุก

กิมจูแซปอป่วย-ไข่มุกกลายเป็นของวิเศษ

ปอป่วยปอโห่วอาโน้วเจียะเก๊าเจ็กแปะห่วย-ของวิเศษคุ้มครองเด็กน้อยมีอายุถึง 100 ปี”

ฟังเพลินๆ เพลงอ่องกิมก๋อง ก็ร้องกล่อมเด็กให้หลับนอน แต่ถ้าดูเนื้อหาก็จะเห็นว่า ผู้แต่งเนื้อร้องต้องมีความรู้หรือปราชญ์ชาวบ้าน เพราะแม้จะใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายมาร้อง แต่ก็แฝงนัยยะของการอวยพรให้เด็กไปในตัว

เช่น ประโยคที่ว่า “อาบุ๊งอาบูไหล่ตาเฮีย-มีบริวารคอยยกรองเท้าขุนนาง” เป็นการให้พรเด็กเป็นใหญ่เป็นโต หรือท่อนที่ว่า “ฉี่เจี๊ยะตือตั่วก๊วยงู้ ตั่วงู้แซแบ๊เกี้ย แบ๊เกี้ยแซกิมจู กิมจูแซปอป่วย…” เท่ากับอวยพรให้เด็กได้สิ่งของมีค่าเพิ่มขึ้น จากหมูเป็นวัว เป็นม้า เป็นไข่มุก เป็นของวิเศษที่อำนวยพรให้เด็กมีอายุยืนยาวถึง 100 ปี ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อเรื่องสิริมงคลของจีน ในเรื่องของฮกลกซิ่ว ซึ่งซิ่ว-อายุยืนยาว เป็นเรื่องสำคัญ เพราะคนที่จะอายุยืนยาวได้โดยทั่วไปต้องมี ฮก-บุญ วาสนา, ลก-หน้าที่การงาน เงินทอง ประกอบกันไป

อย่างไรก็ตาม เนื้อร้องเพลงนี้แตกต่างกันไปตามท้องถิ่น แม้แต่คนในอำเภอเตี่ยอัง (อำเภอหนึ่งในแต้จิ๋ว) แค่บ้านหนึ่งอยู่นอกกำแพง อีกบ้านหนึ่งอยู่ในกำแพงเมือง เพลงอ่องกิมก๋องที่ร้องเนื้อหาก็มีส่วนที่ต่างกันแล้ว เพราะแต่ละถิ่นก็มีความคาดวังกับชีวิตและลูกหลานต่างกันไป

นอกจากนี้ “ยุคสมัย” ก็มีส่วนทำให้คำร้องเปลี่ยน ถ้าคุณเอาเนื้อร้องข้างต้นไปร้องให้คนแต้จิ๋วที่เมืองจีนฟัง เขาก็บอกคุณว่า “เชยยยยย” พรอยู่ไป 100 ปี เอามาทำไม เอาเป็นเงินดีกว่า เวอร์ชันใหม่ที่ร้องกัน จึงเปลี่ยนและเพิ่มคำร้อง (จากที่กล่าวไปข้างต้น ในส่วนที่ขีดเส้นใต้) ว่า

“กิมจูไหล่คื้อเต้า-เอาของวิเศษไปแลกเป็นเงิน

เต๋าจอนอแป๊ะเต้า-แลกเป็นเงินสัก 200 (หยวน)

เจ็กแปะปุงอาเฮีย-100 แบ่งให้พี่ชาย

เจ็กแปะปุงอาเซ่า (อาซ่อ)-100 แบ่งให้พี่สะใภ้

ชุ้งลีปุงอาหม่วยเกียเกว่า-ถ้าเหลืออีกก็แบ่งให้เด็กๆ ไป”

แต่ไม่ว่าเนื้อเพลงจะเปลี่ยนไปตามถิ่น หรือเปลี่ยนไปตามยุคคสมัย เมื่อฟังไปซ้ำๆ ก็สรุปได้ว่า อ่องกิมก๋อง เป็นเพลงที่ตั้งใจแต่งขึ้นสำหรับกล่อมเด็กผู้ชาย เพราะในอดีตไม่อนุญาตให้ผู้หญิงการเข้ารับราชการสอบ หรือเป็นราชการ

ส่วนเหตุที่แต่งให้เด็กผู้ชาย เพราะในสังคมจีน เด็กผู้ชายเป็นผู้สืบทอดวงศ์ตระกูล สร้างชื่อเสียงให้กับครอบครัว จึงเป็นความหวังของบ้าน หรือคิดบวกหน่อย เด็กผู้ชายซนนอนยาก ต้องหลอกล่อกันเยอะหน่อย เด็กผู้หญิงบอกให้นอนก็นอน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

เสี่ยวจิว. ตัวตน คน “แต้จิ๋ว”, สำนักพิมพ์มติชน, กันยายน 2554


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 ตุลาคม 2564