เรื่องของ “ส้น” และ “ด้าน” ทำไมจึงด่าว่า “หน้าส้นตีน” ด่ากันมานานอย่างน้อยเมื่อใด?

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน 2543 มีคนมาทำบุญที่วัดใกล้บ้าน วันนั้น (เดือน 7 แรม 8 ค่ำ) เป็นวันคล้ายวันถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า เรื่องที่คุยกันจึงเกี่ยวกับพุทธประวัติ แล้วมาจบลงที่เรื่องการถวายพระเพลิง ทำให้ผมระลึกถึงภาพในอดีตสมัยที่เรียนชั้นประถม เรียนที่ศาลาหลังใหญ่ของวัดประดู่ทรงธรรม

นึกได้ว่ามีงานใหญ่ประจำปี มีการตกแต่งศาลา เข้าใจว่าจะทำในวันถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้านี่เอง ที่จำได้ติดตาก็คือบน โต๊ะบูชาขนาดใหญ่ที่วางซ้อนกันสูงเลยศีรษะนั้น มีหีบปิดทองยาวประมาณ 2 ฟุต ประดิษฐานอยู่ ปลายหีบด้านหนึ่งทำเป็นรูปเท้าคนโผล่ออกมา หลวงพี่ที่จัดโต๊ะบูชาบอกว่าเป็นฝ่าพระบาทของพระพุทธเจ้า

ผมมารู้ความละเอียดเมื่อเรียนพุทธประวัติว่า เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานนั้น พระมหากัสสปเถระมาทราบเรื่องเมื่อจะถวายพระเพลิงอยู่แล้ว (บรรดากษัตริย์จุดเพลิงแล้วแต่ไม่ติด พระอนุรุทธจึงบอกว่า เทพดาให้รอพระมหากัสสป) ครั้นพระมหากัสสปมาถึงก็เข้าถวายอภิวาทน์ทางด้านพระบาท กราบทูลขอให้พระบาททั้งคู่ยื่นออกมาจากพระหีบทองเพื่อรับการถวายอภิวาทน์ พระบาทของพระพุทธเจ้าจึงได้ยื่นออกมาดังกล่าวข้างต้น

ฝ่าพระบาทของพระพุทธเจ้านั้นราบเสมอกัน ไม่มีพระปราษณี [ส้นเท้า – กองบก.ออนไลน์] ขอให้ดูพระพุทธรูปปางไสยาสน์ และรอยพระพุทธบาททุกแห่งจะไม่มีส้นพระบาท

แต่คนธรรมดาทั่วไปฝ่าเท้าจะมี “ส้น”

หลายคนที่เห็นหน้าปกหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันอังคารที่ 29 มิถุนายน 2542 แล้วสงสัย คือหน้าปกเป็นรูปพลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นั่งรถเข็นยกเท้าขวา ที่อดีตนายกรัฐมนตรียกเท้าขวาขึ้นมานั้น ได้ความว่าเป็นเพราะโมโหที่นักข่าวไปถ่ายรูป เมื่อห้ามไม่ฟังจึงยกเท้าให้

อาการอย่างนี้ชาวบ้านเรียกกันว่า “ให้ส้นตีน”

แต่ในภาพท่านสวมรองเท้าจึงอนุโลมว่า “ให้ส้นรองเท้า” ก็แล้วกัน

การยกฝ่าเท้าให้คนอื่นถือเป็นการดูถูกดูหมิ่น หรือจะเรียกว่าเป็นการด่าด้วยอวัยวะก็น่าจะได้ บางท่านว่าเท้าเป็นของต่ำ การยกเท้าให้จึงถือว่าเป็นการเหยียดหยาม แม้ในการนั่งพับเพียบแบบไทยก็ยังถูกสั่งสอนให้เก็บฝ่าเท้า ส้นเท้าให้มิดชิด ไม่ให้เบี่ยงเบนไปทางผู้อื่น

ที่น่าสงสัยก็คือ เมื่อผู้หญิงยกเท้าให้ มักจะพูดว่า “ส้นตีนแน่ะ” หรือบางทีก็ใช้ด่ากันว่า “ไอ้หน้าส้นตีน” แสดงว่าความสำคัญอยู่ที่ “ส้น” ไม่ใช่ฝ่าเท้า

หนังสือ “ศาลาโกหก” เล่ม 1 วันที่ 20 เดือนยี่ ปีงู (ภาพจากศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2542) – สงวนลิขสิทธิ์ภาพ

ทำไมจึงเน้นเฉพาะที่ส้นเท้า

คนโบราณถือเรื่องเกี่ยวกับ “ส้น” มาก ใครเดินบนเรือนลงส้นเท้าเสียงดังก็จะถูกตำหนิ อย่างนางเอกเรื่อง “ขุนเดช” ที่ออกโทรทัศน์เป็นตอนแรกเดินขึ้นเรือนเสียงดังออกมานอกจอ ถ้าเป็นสมัยก่อนอาจถูกเรียกมาเอาไม้เคาะตาตุ่มเป็นการลงโทษ หรืออย่างกรุณาก็เพียงแต่เตือนว่า เดินอย่างนี้เงินทองหนีหมด หรือผีปู่ย่าตายายนอนไม่หลับ หากเป็นสาวภูไทก็ถือว่าผิดผี คือเขามีประเพณีว่า ถ้าลูกสะใภ้หรือหลานสะใภ้เดินบนเรือนกระทืบส้นแรง ถือว่าผิดผีปู่ย่าตายาย ต้องมีพิธีเซ่นผี ไม่เช่นนั้นอาจมีคนต้องเจ็บป่วยเกิดขึ้น

ทำไมไปตำหนิเฉพาะผู้หญิง

ต้นเหตุก็คงจะเป็นเพราะพวกผู้หญิงชอบลงส้นเท้ามากกว่าผู้ชาย บางทีโกรธจัดทำอะไรใครไม่ได้ก็ซอยเท้าถี่อยู่กับที่ประเดี๋ยวหนึ่ง แล้วก็กระทืบเท้าลงส้นเดินโครม ๆ ออกไป อาการเช่นนี้คงเป็นเหมือนกันโดยมาก แต่สะใภ้ภูไทโดนหนักกว่าเพื่อน

สมัยก่อนคนที่ยกเท้าให้คนอื่น มักจะเป็นผู้หญิงชาวบ้าน หรือผู้หญิงที่ก๋ากั่นไม่กลัวผู้ชาย ถ้าผู้ชายมายั่วยุทำให้ไม่พอใจก็จะถูกหญิงนั้นยกเท้าให้ การยกเท้าก็สะดวก เพราะนุ่งผ้าโจงกระเบน ภายหลังเปลี่ยนมานุ่งผ้าถุง นุ่งกระโปรง การยกเท้าก็ดูจะหายไป เพราะออกจะหมิ่นเหม่ หรือต้องคอยระวังรวบชายผ้าถุง ชายกระโปรงไว้

คำด่าสมัยก่อนบางทีก็เพียงแต่ปรามว่า “หน้าด้าน” ถ้าโกรธมากก็เติมอ้ายหรืออีเข้าไปข้างหน้าเป็น “ไอ้หน้าด้าน” หรือ “อีหน้าด้าน” ถ้ารอบรู้ภูมิศาสตร์ก็มีเรื่องมากหน่อยเป็น “หน้าด้านสะพานถ่าน” หรือ “หน้าด้านสะพานเหล็ก” ที่มีชื่อสถานที่ประกอบก็ไม่ได้หมายความว่าหน้าด้านเหมือนสะพาน แต่เป็นเพราะสถานที่ดังกล่าวมีพวกผู้หญิงหากินมาก เป็นการเปรียบคนที่ถูกด่าว่าหน้าด้านเหมือนผู้หญิงหากินแถวนั้น

ที่ด่าว่า “หน้าด้านเหมือนส้นตีน” ก็มีอยู่มาก

บางทีการให้ส้นตีนจะหมายว่า “หน้าด้าน” กระมัง เมื่อไม่ต้องการพูดให้ยาวก็เหลือเพียง “ส้นตีน” เพราะเป็นส่วนที่หนาที่สุดของฝ่าเท้าเรียกว่า “ด้าน” ไม่มีความรู้สึก

ภายหลังคนที่มีอารมณ์ขันเห็นว่ายังไม่สะใจ จึงเขียนรูปหน้าคนให้มีลักษณะคล้ายฝ่าเท้า ใครเห็นก็ทราบได้ทันทีว่าหมายถึง “หน้าส้นตีน” รูปอย่างที่กล่าวถึงนี้ได้เห็นครั้งแรกในหนังสือ “ศาลาโกหก” เล่ม 1 วันที่ 20 เดือนยี่ ปีงู พ.ศ. อะไรก็ไม่ทราบ แต่เดาว่าน่าจะเป็น พ.ศ. 2472 ได้สำเนารูปและคำอธิบายมาให้ดูด้วยแล้ว

เรื่องนี้ต้องขออภัยที่ใช้ภาษาไม่สุภาพ

หนังสือ “ศาลาโกหก” เล่ม 1 วันที่ 20 เดือนยี่ ปีงู (ภาพจากศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2542) – สงวนลิขสิทธิ์ภาพ

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ เรื่องของ “ส้น” เขียนโดย ส.พลายน้อย ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2542

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 ตุลาคม 2564