ความตึงเครียดระหว่างราชสำนักและรัฐบาล กับความขัดแย้งช่วงงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ

ความโกลาหลและขัดแย้งช่วงงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ

งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เริ่มตั้งแต่วันที่ 12-18 พฤษภาคม 2500 [1] เกิดขึ้นท่ามกลางข่าวความขัดแย้งทางการเมืองรายวัน ทั้งระหว่างพรรคการเมืองเอง ชนชั้นนำเอง กระทั่งความขัดแย้งระหว่างรัฐกับกลุ่มต่าง ๆ เช่น สื่อมวลชน นักคิดฝ่ายซ้าย ฝ่ายอนุรักษนิยม ฯลฯ

กรณีที่กลายเป็นกระแสข้ามปีนั่นคือ กระแสความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับในหลวง ผ่านพระราชดำรัสในปี 2499 ที่พบว่า เป็นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันกองทัพบก วันที่ 25 มกราคม 2499 ที่มีใจความอยู่ที่ว่า ทหารไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อคณะรัฐบาลรัฐประหาร

สิ่งสำคัญก็คือเป็นพระราชดำรัสที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการสนองพระราชโองการ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ หยุด แสงอุทัย ได้ทักท้วงว่า พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย “ไม่พึงตรัสสิ่งใดอันเป็นปัญหา หรือเรื่องราวเกี่ยวกับเศรษฐกิจการเมือง หรือทางสังคมของประเทศ โดยไม่มีรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ”

และแน่นอนว่า ทัศนะเช่นนี้ก็ทำให้เกิดการโต้แย้งจากฝ่ายตรงข้าม จนถึงขั้นกล่าวหาว่า หยุดกระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ [2]

ความขัดแย้งของรัฐบาลกับราชสำนักยังเกิดขึ้นอีกในปลายปี ในวโรกาสทรงพระผนวชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2499 ตามประเพณีแล้วจะมีการลดหย่อนโทษและปล่อยนักโทษ ในครั้งนี้แม้จะยังมีอยู่ แต่รัฐบาลได้งดพระราชอำนาจในการนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง เพราะว่ารัฐบาลจะโยกให้ไปเป็นนิรโทษกรรมเนื่องในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษแทน ซึ่งนั่นหมายความว่า รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเพณีของพระมหากษัตริย์เทียบเท่างานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ [3]

ก่อนจัดงานประมาณ 3 เดือน รัฐบาลได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้น เป็นการเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่ถูกว่างเว้นมาอย่างยาวนาน หลังจากคณะรัฐประหารได้ขึ้นมาครองอำนาจเกือบทศวรรษ นั่นคือ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 ผลการเลือกตั้งก็คือ พรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับเลือกมากที่สุดนั่นคือ 86 ที่นั่ง

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ได้มา 30 ที่นั่ง จาก 160 ที่นั่ง แต่การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นที่โจษจันกันว่า มีการทุจริตอย่างมโหฬารจนถูกเรียกว่า “การเลือกตั้งสกปรก” ด้วยการหย่อนบัตรเลือกตั้งปลอมที่เรียกกันว่า “ไพ่ไฟ” และเวียนให้คนหน้าเดิมมาลงคะแนนที่เรียกว่า “พลร่ม” [4]

และนำมาซึ่งการประท้วงอย่างใหญ่โตโดยนิสิต นักศึกษา ประชาชน ในวันที่ 2 มีนาคม 2500 ได้ทำให้คะแนนความนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตกต่ำลงอย่างมาก สวนทางกับคะแนนนิยมของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้ที่แสดงตนบทตีสองหน้าที่ด้านหนึ่งก็เห็นอกเห็นใจผู้ประท้วง ในอีกด้านก็แสดงความภักดีต่อนายกรัฐมนตรี [5] ยังไม่นับว่าก่อนการเลือกตั้งก็เต็มไปด้วยเหตุการณ์วุ่นวายและความรุนแรง

จอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ จอมพล ผิณ ชุณหวัน
จอมพล ป. พิบูลสงคราม, จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพล ผิณ ชุณหวัน เมื่อปี 2496 (ภาพจาก Thailand Illustrate ฉบับตุลาคม ปี 1953)

กว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็ลุมาถึงวันที่ 31 มีนาคม 2500 ภายในคณะรัฐบาลที่เคยเรืองอำนาจมาจากคณะรัฐประหารเดิมเริ่มแตกขั้วเป็น 2 ฝ่าย รัฐบาลได้ยกฟอร์มทีมขึ้นมาใหม่และดำเนินการใช้อำนาจที่สวนทางกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่พวกเขาเคยใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมทางการเมือง นั่นคือได้ยกเลิกเสรีภาพสื่อมวลชนที่เคยให้ อย่างเช่น เพรสคอนเฟอเรนซ์ รวมไปจนถึงกรณีลิดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อจากการจับกุม ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เป็นข่าวครึกโครมเมื่อเดือนเมษายน 2500 [6] นอกจากนั้นก่อนงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เพียงไม่กี่สัปดาห์ ฝ่ายสังคมนิยมยังจัดชุมนุมครั้งใหญ่ที่ท้องสนามหลวง เพื่อวิจารณ์นโยบายของรัฐบาลที่ตามก้นสหรัฐอเมริกา ทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดการติดต่อกับจีนคอมมิวนิสต์ [7]…

อำนาจการเมืองของเจ้าของจารีตเดิมกับผู้นำรัฐบาล

การกระทำของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้พยายามสร้างความหมายใหม่ เพื่อเสริมสร้างอำนาจของตนในยามที่สถานภาพทางการเมืองคลอนแคลน โดยใช้กิจกรรมต่าง ๆ ในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ที่น่าสนใจก็คือการกล่าวอ้างว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นอนุสรณ์ที่รัฐบาลตั้งใจจะเชิดชูเกียรติในภายใต้นิยาม “ประเทศชาติ พระพุทธศาสนา และรัฐบาลชั่วกาลนาน” [8] เห็นได้ชัดว่าในวลีนี้ไม่มีคำว่าพระมหากษัตริย์

รัฐบาลได้ริเริ่มโครงการดังกล่าวโดยหลายกิจกรรมมีข้อกังขาอย่างยิ่งว่าจะเป็นการแข่งบุญแข่งวาสนากับสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกภาคภาษาไทยที่ครบสมบูรณ์อย่างที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน ทั้งยังมีการแทนที่พื้นที่แห่งพระราชพิธีด้วยรัฐพิธี การจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษเกิดขึ้นหลังจากงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เมื่อ พ.ศ. 2499 เพียงปีเดียว [9] สนามหลวงก็ถูกปรับใช้เป็นพื้นที่รัฐพิธี มีการสร้างโรงพิธีมณฑลและจำลองรูปพุทธมณฑลสำหรับงานใหญ่นี้

การใช้พื้นที่สนามหลวงที่เคยเป็นพื้นที่ของจารีตในนามของรัฐบาลพลเรือนเคยถูกใช้เมื่อครั้งงานฌาปนกิจเหล่าทหารฝ่ายคณะราษฎรที่เสียชีวิตจากกบฏบวรเดช 2476 ครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่มีการใช้สนามหลวงเพื่อรัฐพิธีอันใหญ่โต แต่อย่างไรก็ตามการใช้พุทธศาสนาที่เป็นสัญลักษณ์เดิมของฝ่ายชนชั้นนำ ก็ยังถือว่าเป็นที่ยอมรับได้

ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการนำเรือพระที่นั่งซึ่งเป็นสัญลักษณ์เชิงอุดมคติของโลกทรรศน์แบบจารีตของกษัตริย์มาใช้ใน “ขบวนแห่พุทธพยุหยาตราและพุทธประทีปบูชา” มีการเลือกใช้เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ โดยให้ทหารแต่งกายทหารเรือโบราณอัญเชิญพระพุทธรูปปางลีลา อัญเชิญพระไตรปิฎกลงเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และพระสงฆ์ลงเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ทั้งยังประกอบด้วยเรือ 39 ลำ ฝีพายแต่ละคนแต่งกายแบบนักรบโบราณ ขัดกระบี่พร้อมทุกคน

เมื่อเคลื่อนขบวนก็มีการเห่บนเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ซึ่งเดิมกระบวนพิธีขบวนแห่พยุหยาตราชลมารค ถือเป็นพระราชพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ของพระมหากษัตริย์ แต่ได้รับการประยุกต์ใช้ให้ความหมายใหม่กับรัฐพิธีที่มีผู้นำเป็นเพียงสามัญชน [10]

งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม
งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ (ภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก ห้องวิจัยประวัติศาสตร์)

สำหรับบทบาทของพระมหากษัตริย์นั้นเล่า นอกจากกำหนดการที่วางตำแหน่งให้ในหลวงเสด็จฯ มาทรงเปิดงานแล้ว ก็ไม่ได้มีพระราชกรณียกิจสำคัญใดต่องานนี้อีก แม้พิธีมอบพระพุทธรูปประจำจังหวัดก็เป็นงานของจอมพล ป. พิบูลสงคราม [11] ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2500 รัฐบาลก็ให้มีการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำผิดฐานกบฏจลาจล และผู้ที่ได้กระทำความผิดอันเกี่ยวเนื่องจากการกระทำการป้องกันหรือปราบปรามการกบฏหรือการจลาจล, พระราชบัญญัติล้างมลทินให้แก่ผู้ที่ต้องคำพิพากษาให้ลงโทษ กรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้พ้นโทษไปแล้ว, พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษประเภทอื่นนอกจากที่กล่าวไว้ในพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ [12] การล้างโทษนักการเมืองอย่างมหาศาลเหล่านี้ ยิ่งเป็นการตอกย้ำความขัดแย้งในวโรกาสทรงพระผนวชของในหลวงในปี 2499

ความตึงเครียดระหว่างราชสำนักและรัฐบาล

นอกจากกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของ หยุด แสงอุทัย และกรณีนิรโทษกรรมในวโรกาสทรงพระผนวช ในปี 2499 แล้ว เรายังพบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้เสด็จฯ มาทรงเป็นประธานในพิธี แต่โปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ประธานองคมนตรี เสด็จแทนพระองค์ เนื่องจากว่าพระองค์ทรงพระประชวร ไม่สามารถจะเสด็จฯ มาทรงร่วมงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษได้ ดังจดหมายนี้ [13] (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)

ขอประทานเสนอ

เนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพระราชกรณียกิจในงานฉลองยี่สิบห้าพุทธศตวรรษ และพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขะบูชา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เสด็จไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ซึ่งได้แจ้งให้สำนักพระราชวังทางกรุงเทพฯ ดำเนินไปแล้ว

ทั้งนี้เป็นเพราะทรงพระประชวร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงประชวรพระโรคหวัด มาตั้งแต่การพระราชพิธีฉัตรมงคลแล้ว แต่ที่มิได้มีพระราชกระแสงดเสด็จพระราชดำเนินเสียแต่แรก ก็เพราะทรงคาดว่าเมื่อใกล้เวลาพิธี พระอาการอาจจะเป็นปรกติ เสด็จพระราชดำเนินได้ แต่เมื่อถึงวันที่จะเสด็จฯ มาพระนคร นายแพทย์ประจำพระองค์ได้ถวายตรวจแล้ว ถวายคำแนะนําไม่ให้เสด็จพระราชดำเนินเข้าพระนคร ปรากฎรายละเอียดในสำเนารายงานของนายแพทย์ประจำพระองค์ที่ได้แนบมาพร้อมนี้ จึงขอประทานเสนอเพื่อทราบ

[ลายเซ็น]

12 พ.ศ. 2500

พระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2500 ขณะที่ประทับอยู่ในกรุงเทพฯ ทรงมีพระอาการปวดเมื่อยที่พระอังสะซ้าย ตลอดจนถึงพระกร มีมูลพระนาสิกไหลและแสบพระศอ ไม่มีไข้ ได้ถวายพระโอสถตลอดเวลาที่ประทับอยู่ในกรุงเทพฯ พระอาการทุเลาขึ้นบ้าง แต่จะมีพระอาการทางพระศออยู่

วันที่ 6 พฤษภาคม เสด็จพระราชดำเนินกลับหัวหิน ในขณะเสด็จพระราชดำเนินนั้น อากาศร้อนอบอ้าวผิดปรกติ พระอาการจึงเพิ่มขึ้นอีก ได้กราบบังคมทูลถวายคำแนะนำไม่ให้เสด็จฯ ลงสรงน้ำหรือตากแดด หรือประทับในที่อบอ้าว แต่ประทับในที่โปร่งได้ พระอาการหวัดยังคงมีอยู่ตลอดมา จนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม พระอาการพระศอซึ่งก่อนหน้านั้นทุเลาขึ้นเล็กน้อย กลับมีพระอาการแสบขึ้นอีก พร้อมกับมีพระเสมหะติดอยู่มาก ทั้งมีพระอาการมึนพระเศียรด้วย

ในวันที่ 11 พฤษภาคม เวลา 10.00 น. ได้ถวายตรวจพระอาการ ปรากฏว่า มีพระอาการมากขึ้นและความดันพระโลหิตได้ขึ้นสูงกว่าปรกติมาก จึงได้กราบบังคมทูลถวายคำแนะนำว่า ยังไม่สมควรจะเสด็จพระราชดำเนินเข้ากรุงเทพฯ เพราะขณะนี้โรคไข้หวัดใหญ่กำลังระบาดในประเทศใกล้เคียง และมีทีท่าที่จะแผ่กระจายเข้ามาในประเทศไทย เมื่อพระอาการไม่ดีอยู่เช่นนี้ ประกอบกับการเสด็จพระราชดำเนินเข้ากรุงเทพฯ โดยรถยนตร์ในอากาศอบอ้าว ทั้งเมื่อเสด็จพระราชดำเนินเข้าไปประกอบพระราชกรณียกิจในหมู่ที่มีชุมนุมชนมากเช่นนั้น เป็นการเสี่ยงต่อพระราชอนามัยอย่างมาก

(ลงชื่อ) เกษตร สนิทวงศ์

นายแพทย์ประจำพระองค์

11 พฤษภาคม 2500 เวลา 13.30 น.

งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม
งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ (ภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก ห้องวิจัยประวัติศาสตร์)

หนังสือพิมพ์ไทม์ลงข่าวว่า เกิดความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์กับรัฐบาล [14] ขณะที่รัฐบาลต้องออกมาแถลงข่าวปฏิเสธความขัดแย้งนี้ นอกจากนั้นรายงานฉบับเต็มของนายเบิร์กเลย์ เกจ (Berkeley Cage) ทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ที่ส่งไปยังกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ กรุงลอนดอน วันที่ 28 พฤษภาคม 2500 อันถือเป็นหลักฐานร่วมสมัย ยังชี้ให้เห็นความขัดแย้งของในหลวงกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยเฉพาะในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษนี้

รายงานชี้ให้เห็นว่า ตามหมายกำหนดการเดิมของพระองค์จะเสด็จฯ 4 วัน แน่นอนว่า เหตุผลจากราชสำนักอย่างเป็นทางการคือทรงพระประชวร แต่ในสายตาของทูตอังกฤษแล้วกลับมองว่า เหตุผลที่แท้จริงก็คือทรงไม่พอพระทัย เกี่ยวกับการจัดงานนี้เนื่องจากไม่ได้ให้ความสำคัญกับพระองค์เท่าที่ควรจึงทรงงดเสด็จฯ [15]

ในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษนี้ พรรคประชาธิปัตย์ยังแสดงตนเป็นปรปักษ์กับรัฐบาลและงานนี้ โดยการไม่เข้าร่วมงาน [16] หลังจากงานฉลองฯ ไม่นานพบว่า ระหว่างการแต่งตั้ง ส.ส. ประเภทที่ 2 ก็พบว่า มีการยับยั้งกระบวนการดังกล่าวโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึง 2 ครั้ง นั่นคือ วันที่ 18 และ 22 มิถุนายน 2500 [17]

สอดคล้องกับที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นักหนังสือพิมพ์ฝ่ายอนุรักษนิยม ยื่นฟ้องให้ศาลตีความว่า การแต่งตั้งเช่นนั้นไม่น่าจะถูกต้อง [18] ยังไม่นับกรณีที่มีการกระทำที่เสี่ยงต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และการอ้างเรื่องดังกล่าวของฝ่ายค้านในฐานะที่เป็นเครื่องมือโจมตีทางการเมืองผ่านการไฮด์ปาร์กที่สนามหลวง ในรัฐสภา กระทั่งบนหน้าหนังสือพิมพ์อย่างครึกโครม [19] เรื่องดังกล่าวนับว่าอุกอาจอย่างมากเมื่อเทียบกับบริบทในปัจจุบัน หากรัฐบาลปล่อยให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้ขึ้น

งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม
งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ (ภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก ห้องวิจัยประวัติศาสตร์)

เชิงอรรถ :

[1] การพระศานาภาค 5, 6, 3 (พฤษภาคม-มิถุนายน 2500), น. 3-12.

[2] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทย : ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2491-2500), น. 376-378.

[3] เรื่องเดียวกัน, น. 378-379.

[4] เรื่องเดียวกัน, น. 364-366.

[5] เรื่องเดียวกัน, น. 366-369.

[6] เรื่องเดียวกัน, น. 386.

[7] เรื่องเดียวกัน, น. 387.

[8] หจช. สร. 0201.10.3 / 19 “เรื่องพระไตรปิฎกฉบับครบรอบ 2,500 ปี” (พ.ศ. 2495) อ้างใน ถนอมจิต มีชื่น. จอมพล ป. พิบูลสงครามกับงานฉลองพุทธศตวรรษ. น. 89

[9] วิกิพีเดีย สารานุกรม. “สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า”. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี_พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (22 กุมภาพันธ์ 2552)

[10] ถนอมจิต มีชื่น. จอมพล ป. พิบูลสงครามกับงานฉลองพุทธศตวรรษ. น. 110-111.

[11] เรื่องเดียวกัน, น. 110.

[12] การพระศานาภาค 5, 6, 3 (พฤษภาคม-มิถุนายน 2500), น. 16.

[13] “เอกสาร (ก) บันทึกข้อความจากเลขาธิการสำนักพระราชวัง ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พร้อมบันทึกของนายแพทย์ประจำพระองค์” อ้างใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. “The King and I : รายงานการเข้าเฝ้าของทูตอังกฤษ ปี 2500 ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสถึงการเมืองไทย”. http://somsakwork.blogspot.com/2006/07/king-and-i-2500-berkeley-cage-28-2500.html (5 กรกฎาคม 2549)

[14] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทย : ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2491-2500), น. 379. และทักษ์ เฉลิมเตียรณ, พรรณี ฉัตรพลรักษ์ และคณะ, แปล. การเมืองระบบพ่อขุนอุปถมภ์แบบเผด็จการ. พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์). น. 119-120

[15] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. “The King and I : รายงานการเข้าเฝ้าของทูตอังกฤษ ปี 2500 ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสถึงการเมืองไทย”. http://somsakwork.blogspot.com/2006/07/king-and-i-2500-berkeley-cage-28-2500.html (5 กรกฎาคม 2549)

[16] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทย : ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2491-2500), น. 379.

[17] เรื่องเดียวกัน, น. 382-383.

[18] เรื่องเดียวกัน, น. 374, 382.

[19] เรื่องเดียวกัน, น. 383-384.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “ประเทศชาติ พระพุทธศาสนา และรัฐบาล การนิยามความเป็นไทยในการฉลอง 25 พุทธศตวรรษ” เขียนโดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มิถุนายน 2564