ชม “ละครชาตรี” ละครชาวบ้านความเป็นมาลึกซึ้ง-ครื้นเครง ต่างจากในรั้ววัง (ชมคลิป)

สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “ดูละครชาตรี รับปีใหม่” โดย “ครูหมู” จารุวรรณ สุขสาคร อาจารย์สุเทพ อ่อนสอาด และ เอนก นาวิกมูล ผู้ดำเนินรายการ พร้อมทั้งการแสดงจากศิลปินชาวคณะ จงกล โปร่งน้ำใจ เรื่อง “นางขันทอง” ในวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ณ ห้องประชุมหนังสือพิมพ์ข่าวสด

ครูหมู จารุวรรณ สุขสาร อธิบายเกี่ยวกับ “ละครชาตรี” ว่า “ละครนอกกับละครชาตรีเป็นละครพื้นบ้าน ละครของชาวบ้าน ต่างจากละครในที่เล่นในรั้วในวัง” สมัยก่อนการแสดงละครชาตรีจะใช้ผู้ชายแสดงเพียง 3 คนเท่านั้น เพราะกฎหมายห้ามไม่ให้ผู้หญิงแสดงละครนอกและละครชาตรี ผู้หญิงจะใช้แสดงเฉพาะละครในเท่านั้น จนกระทั่งในปลายสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีการอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถแสดงละครนอกและละครชาตรีได้

การเกิดขึ้นของละครชาตรี เอนก นาควิมูล กล่าวว่า จากที่ได้ศึกษา ละครชาตรีรับเอามาจากโนราห์ชาตรีของภาคใต้ แต่ผู้ร่วมเสวนาได้อธิบายถึงที่มาของละครชาตรีว่า ละครชาตรีเกิดขึ้นในสมัยอยุธยา ต่อมาราชสำนักอยุธยานำลงไปสอนละครชาตรีที่ภาคใต้จนทำใด้เกิดโนราห์ชาตรีขึ้นมา เมื่อถึงสมัยรัตนโกสินทร์มีการลงไปปราบกบฏหัวเมืองทางใต้ ทำให้โนราห์ชาตรีตามกองทัพกรุงเทพฯ กลับขึ้นมา

สมัยรัชกาลที่ 3 พระองค์พระราชทานที่ดินบริเวณ “สนามควาย” (ย่านหลานหลวง) แก่กลุ่มโนราห์ชาตรีที่ติดตามมาด้วย โนราห์ชาตรีจึงทำมาหากินย่านนี้และกลายเป็น “ไพร่หลวงเกณฑ์บุญ” อธิบายได้ว่า เมื่อมีงานหลวงให้เข้าไปช่วยงาน เมื่อไม่มีงานก็ร้องรำทำเพลงหาเลี้ยงชีพกันต่อไป

ในย่าพระนครคงมีละครชาตรีอยู่มาแต่ดั้งเดิมแล้ว เมื่อได้พบกับโนราห์ชาตรีที่มาจากภาคใต้จึงได้เกิดการผสมผสานกันจนกลายเป็น “ละครชาตรีเครื่องใหญ่” ทั้งนี้ละครชาตรี ผู้แสดงจะร้องรำเอง และต้องสามารถร้องเพลงพื้นบ้านต่าง ๆ ได้ ต่างจากละครนอกที่มีคนคอยร้องให้ และโขนที่มีคนคอยพากย์ให้

ในส่วนของเครื่องดนตรีประกอบการแสดงละครชาตรี หากเป็นสมัยโบรารจะมีเพียง กลองตุ๊ก โทน ปี่ ฆ้องคู่ กลับไม้ไผ่ ฉิ่ง ซึ่งเป็เครื่องดนตรีประกอบจังหวะทำให้การร้องเป็นเพลงทำนองชาตรีและทำนองกำพลัดเท่านั้น จะไม่มีร้องทำนองอัตราสองชั้นหรืออัตราชั้นเดียว แต่เมื่อละครชาตรีมารวมกับละครนอกมีการร้องเพลงอัตราสองชั้นและอัตราชั้นเดียว และเครื่องดนตรีประกอบจะเพิ่มระนาดเข้ามา

เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของละครชาตรีที่ละครแบบอื่น ๆ ไม่มีคือการ “รำซัดไหว้ครู” ซึ่งมีเฉพาะในละครชาตรี จะทำก่อนที่เริ่มการแสดงเข้าเรื่อง ส่วนละครนอกจะเป็นการรำถวายมือ

ชมย้อนหลังการพูดคุยเสวนา การแสดง “รำซัดไหว้ครู” และละครชาตรีเรื่อง “นางขันทอง”

ช่วงที่ 1 (เสวนาและการรำซัดไหว้ครู) 

ดูละครชาตรี รับปีใหม่-ฟังเสวนา โดย “ครูหมู” จารุวรรณ สุขสาคร คณะละครชาตรี จงกล โปร่งน้ำใจ, อาจารย์สุเทพ อ่อนสะอาด ศิลปินละครชาตรีและ เอนก นาวิกมูล ดำเนินการเสวนาพร้อมชมการแสดงจากศิลปินชาวคณะ จงกล โปร่งน้ำใจ เรื่องนางขันทอง (ตอน สาปนางขันทอง ถึง ถอนคำสาปยักษ์กระตุกอืด)

โพสต์โดย Matichon Online – มติชนออนไลน์ เมื่อ วันพุธที่ 18 ธันวาคม 2019

ช่วงที่ 2 (ละครชาตรีเรื่องนางขันทอง)

ดูละครชาตรี รับปีใหม่ (2) ชมการแสดงจากศิลปินชาวคณะ จงกล โปร่งน้ำใจ เรื่องนางขันทอง (ตอน สาปนางขันทอง ถึง ถอนคำสาปยักษ์กระตุกอืด) เสวนาโดย “ครูหมู” จารุวรรณ สุขสาคร คณะละครชาตรี จงกล โปร่งน้ำใจ, อาจารย์สุเทพ อ่อนสะอาด ศิลปินละครชาตรี และ เอนก นาวิกมูล ดำเนินการเสวนา

โพสต์โดย Matichon Online – มติชนออนไลน์ เมื่อ วันพุธที่ 18 ธันวาคม 2019