เผยพระราชานุกิจพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส จากบันทึกการรับทูตสยาม

(ภาพจากปฏิทินฝรั่งเศสปี 1687)

ในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ ฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตมาอย่างยาวนาน ความสัมพันธ์ 300 กว่าปีของสองประเทศมีการเผยแพร่และถ่ายทอดผ่านหลากหลายช่องทาง ตั้งแต่แบบเรียน, บทความต่างๆ, ละครโทรทัศน์ ฯลฯ

แม้ก่อนหน้านั้นสยามจะติดต่อค้าขายกับจีนและอินเดีย หรือมีการทำสนธิสัญญากับโปรตุเกสเป็นชาติแรก แต่เมื่อแต่ก็ยังไม่ถึงขั้นการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต

บรรดาคณะทูตยุคบุกเบิกของสยาม ก็มีคณะทูตที่พระวิสุทสุนทร (โกษาปาน) เป็นหัวหน้าในการเดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2228

ภาพลายเส้นรูปออกพระวิสุทสุนทร (ปาน) ราชทูตสยามและคณะเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ณ พระราชวังแวร์ซายส์ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2229 (ภาพจากปฏิทินฝรั่งเศสปี 1687)

การเดินทางครั้งนั้น พระวิสุทสุนทร ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะได้เขียนบันทึกถึงการเดินทาง การเฝ้าฯ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 พระมหากษัตริย์ของฝรั่งเศส ไว้อย่างละเอียด

หากวันนี้เราจะดูบันทึกเหตุการณ์ 333 ปีก่อนในบันทึกของฝรั่งเศสบ้าง ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกันยายน 2562 บทความที่ชื่อว่า “พระราชานุกิจพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสในการรับทูตสยาม : หลักฐานใหม่จากปารีส ในโอกาส 333 ปี ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส” โดย รศ. ดร. ปรีดี พิศภูมิวิถี และ อาจารย์กุลชาติ  ชัยมงคล ได้เขียนร่วมกัน ลำดับเหตุการณ์การเดินทางในครั้งนั้นของคณะทูตไทยดังนี้

วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2228 คณะทูตออกเดินทางจากกรุงศรีอยุธยา โดยเรือโดยสารของฝรั่งเศสใช้เวลาประมาณ 6 เดือน

วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2229 ไปถึงท่าเรือที่เมืองแบรสต์ (Brest) ประเทศฝรั่งเศส เดินทางต่อด้วยกระบวนรถม้าเข้ากรุงปารีส

วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2229 เข้าเฝ้าฯ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เพื่อถวายพระราชสาส์น ณ พระราชวังแวร์ซายส์ หลังจากนั้นคณะทูตก็เดินทางท่องเที่ยวในกรุงปารีสและในประเทศฝรั่งเศส

ภาพออกพระวิสุทสุนทร (ปาน) ราชทูตสยามคนสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย

วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2229 เข้าเฝ้าฯ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 อีกครั้งเพื่อกราบบังคมทูลลา ก่อนเดินทางกลับและออกเดินทางกลับ (นับตามปฏิทินแบบไทยที่จะเปลี่ยนปีในเดือนเมษายน)

ส่วนไฮไลต์สำคัญคือ “การเข้าเฝ้าฯ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14” รศ. ดร. ปรีดี พิศภูมิวิถี และ อาจารย์กุลชาติ  ชัยมงคล ร่วมกันเขียนนั้น ได้ข้อมูลสำคัญจากหนังสือชื่อ “Cérémonies du règne de Louis XIV, recueil formé, au moins en partie, d’après le Journal de Mr DE SAINCTOT. (1666-1671)” ซึ่งเป็นบันทึกของฝ่ายราชสำนักถึงพระราชานุกิจที่ทรงปฏิบัติในรอบปี แต่เลือกบันทึกเฉพาะเหตุการณ์สำคัญ โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับการเดินทางของคณะทูตไทยครั้งนั้นด้วย

ทั้งนี้พบว่า นอกจากคณะทูตจากสยามแล้ว หนังสือดังกล่าวไม่ได้บันทึกเรื่องทูตชาติอื่นใดอีก

ซึ่งขอคัดบางส่วนจากที่ผู้เขียน (ดร. ปรีดี และอาจารย์กุลชาติ แปลและเขียนไว้) มานำเสนอดังนี้

“…คณะราชทูตเดินทางไปถึงปารีสในวันที่ 12 สิงหาคม 1686  มีพิธีต้อนรับอย่างสมเกียรติ  หลังจากนั้น 2-3 วัน ก่อนเข้าเฝ้าฯ พวกเขาได้รับการปฏิบัติดูแลตามธรรมเนียมจากผู้ว่าราชการเมือง แต่เนื่องจากในขณะนั้น พระเจ้าแผ่นดินทรงพระประชวร ทำให้ต้องเลื่อนการเข้าเฝ้าฯ ออกไปเป็นวันที่ 1 กันยายน

ในวันดังกล่าว ท่านดุ๊ค เดอ ลา เฟยยาร์ด (Duque de la Feuillade) ผู้บัญชาการกองกำลังทหาร พร้อมด้วยซิเยอร์ เดอ บอนเนยย์ (Sieur de Bonneuille) ผู้นำคณะราชทูต และซิเยอร์สตอร์ฟ ได้พาคณะราชทูต ขึ้นรถม้าที่นั่ง หลังจากที่ได้ทักทายปราศรัยตามธรรมเนียมแล้ว ท่านราชทูตขึ้นรถม้าที่นั่งคันแรกด้านในสุด ด้านขวามีนายพลดุ๊ค เดอ ลา เฟยยาร์ด ส่วนซิเยอร์ เดอ บอนเนยย์ และซิเยอร์สตอร์ฟนั้น นั่งฝั่งตรงข้ามประจันหน้ากัน

หน้าแรกของต้นฉบับพระราชานุกิจของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในการรับคณะทูตสยาม ปี ค.ศ. 1686

ท่านอุปทูตและตรีทูตขึ้นนั่งในรถม้าอีกคันหนึ่ง พร้อมด้วยมาดาม ลา โดฟีน (Madame la Dauphine) และซิเยอร์ฌิโร (Sieur Jireau) นายทหารผู้ช่วยนำคณะราชทูต และบาทหลวงเดอ ลิยอนน์ (L’abbé de Lionne) ผู้เป็นล่าม

ราว 10 นาฬิกา คณะราชทูตเดินทางถึงพระราชวังแวร์ซายส์ มีทหารฝรั่งเศสตั้งแถวรับตั้งแต่หน้าพระราชวังแวร์ซายส์ เป็นแถวทหารติดอาวุธ และกองทหารดุริยางค์ พวกเขาเตรียมความพร้อมอยู่ที่ห้องชั้นล่าง ซึ่งคณะราชทูตพักคอยเวลาเข้าเฝ้าฯ

ราชสำนักได้ตระเตรียมพื้นที่บริเวณปลายสุดของห้องท้องพระโรงกระจกที่เสด็จออก ซึ่งอยู่ติดกับส่วนที่ประทับของมาดาม เดอ ลา โดฟีน ที่ปลายสุดนั้นตั้งพระแท่นลด มีพระโธรนสูงราว 6 ขั้น ด้านหลังแขวนพรมผืนใหญ่จากเปอร์เซีย พื้นลายทอง แทรกด้วยลายดอกไม้ดิ้นเงิน และพรมทอจากผ้าไหม

บนพื้นระดับเดียวกับพระโธรนตั้งคบไฟขนาดใหญ่และโต๊ะกลมทำด้วยเงิน เบื้องล่างของพระโธรนด้านขวาซ้าย  เยื้องมาด้านหน้า ได้ตั้งพานเงินไว้เป็นระยะ ห่างพองาม มีโต๊ะหลายตัวทำจากหินมีค่า และโต๊ะทำด้วยเงินอีกหลายตัว วางแจกันเงินเป็นระยะห่างทุกๆ 4 ถึง 5 ต๊วส (toise – 1.9 เมตร)  เพื่อจะได้มีพื้นที่ว่างให้กับขุนนางในสำรับคณะราชทูตได้ยืนในช่วงที่พระราชทานพระราชานุญาตให้เข้าเฝ้าฯ…”

พระราชานุกิจฯ ดังกล่าวนี้ ผู้เขียน (ดร. ปรีดี และอาจารย์กุลชาติ) สันนิษฐานว่า Donneau de Visé นำมาขยายความลงในวารสาร Mercure Galant  เรื่อง Voyage des Ambassadeurs de Siam และเจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ แห่งโรงเรียนอัสสัมชัญแปลสรุปไว้ในชื่อพระยาโกศาปานไปฝรั่งเศส เป็นเรื่องตอนที่ออกพระวิสุทสุนทรและคณะเข้าเฝ้าฯ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งมีรายละเอียดเพิ่มเติมมากขึ้น

ส่วนรายละเอียดที่เหลือจากนี้ ขอท่านผู้อ่านได้โปรดติดตามจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกันยายน 2562 มาดูกันว่าพิธีรับทูตของฝรั่งเศส มีกระบวนการลำดับขั้นตอนเป็นอย่างไร และเราจะได้เห็นอะไรในเอกสารของทางการฝรั่งเศสบ้าง

ปกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกันยายน 2562