พ.ศ. 2480 ตื่น “ถั่วเหลือง” เสมือนเป็นไข่ทองคำจากใต้ดิน? ผู้นำทั่วโลกสั่งวิจัยเร่งด่วน

ในปัจจุบัน “ถั่วเหลือง” รวมถึงผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองหลายชนิด เป็นของใช้ในชีวิตประจำวันที่คุ้นเคยกันโดยทั่วไป แต่เมื่อ พ.ศ. 2480 ปีที่โลกกำลังเผชิญกับสงครามโลกครั้งที่ 2 “ถั่วเหลือง” เป็นพืชเศรษฐกิจน้องใหม่ ที่มีการเปรียบเป็น “ไข่ทองคำจากใต้ดิน”

ปุ๋ย โรจนะบุรานนท์ นักวิชาการจากแผนกค้นคว้าทั่วไป กองอุตสาหกรรม กรมวิทยาศาสตร์ กระทรวงเศรษฐการ ซึ่งเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์ ซึ่งออกเป็นรายเดือนของกระทรวงเศรษฐการ คือผู้หนึ่งที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับถั่วเหลืองในเวลานั้น ไว้ใน ตื่นถั่วเหลือง! ว่า ในเวลานั้นมีผู้แสดงตัวเป็นผู้รู้เรื่องถั่วเหลืองมากมายผ่านสื่อต่าง ๆ ดังนี้

หนังสือพิมพ์สยามนิกร ฉบับวันที่ 30 พฤศจิกายน และวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2480 ผู้ใช้นามปากกาว่า “กสิกรหัวใน” เขียนบทความชื่อ “เรื่องอลเวงในวงการกสิกรรม” ว่า

“อันว่าถั่วเหลืองที่ถูกเกริ่นว่า กำลังจะเป็นพืชวิเศษ ราวกับยุโรปตื่นยาสูบ มันเทศ ที่ได้มาจากอเมริกาสมัย 400 ปีมานั้น ข้าพเจ้ารู้จักถั่วเหลืองดีเท่ากับรู้จักตัวของข้าพเจ้าเอง ได้เคยปลูกทำกับมือเอง…ถั่วเหลืองนั่นนั้นมิใช่อื่นไกลที่ไหนเลย คือถั่วแระที่มีต้นขายตามตลาด เด็ก ๆ ชอบซื้อกิน และรู้จักกินมาแต่สมัยบิดาข้าพเจ้า…”

หนังสือพิมพ์วารศัพท์ ฉบับวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2480 ผู้ใช้นามปากกาว่า “ครูแก้ว” กล่าวถึง “ถั่วเหลือง” ในบทความของเขาที่ชื่อว่า “ชมงานฉลองรัฐธรรมนูญ” ดังนี้

“ชาวเรียงรายรับประทานถั่วเหลืองกันมาแต่อ้อนแต่ออกทั้งนั้น” คำกล่าวของกาบจันทร์ ข่ายทอง จากจังหวัดเชียงราย นางงามประจำภาคที่ 4 ในการประกวดความงาม งานฉลองรัฐธรรมนูญ 2480 (ภาพจาก นสพ.วิทยาศาสตร์ ปี่ที่ 2 ฉบับที่ 3 มกราคม 2480)

“ตั้งแต่เริ่มโฆษณาเผยแผ่คุณภาพของถั่วเหลือง ข้าพเจ้าก็เริ่มสนใจเป็นลำดับมาได้เมล็ดมาก็เคยเห็นเป็นถั่วพื้นบ้านเมืองของเรา ส่วนที่เรียกชื่อถั่วเหลืองไม่คุ้นหูมาแต่ก่อนเลย ข้าพเชื่ออยู่เสมอว่าเรารู้จักกันอยู่ว่าถั่วแม่ตาย  เมื่อเร็ว ๆ นี้ท่านผู้รู้คน 1 เขียนลงในประมวญวันยืนยันว่า ถั่วแระ ถั่วแระข้าพเจ้าก็รู้จักและจำได้ มันก็เป็นถั่วแระของมันต่างหาก  แต่ก็พอให้ข้าพเจ้าฉงนขึ้นได้อีกมาก  ครั้นข้าพเจ้าเลี่ยงไปถึงถั่วเหลืองได้ ความเชื่อก็เป็นจริงทันที ถั่วเหลืองนี่แหละเรารู้จักกินเรียกชื่อถั่วแม่ตาย ถิ่นพายัพเรียกว่าถั่วเน่า ทางการคงรู้สึกไม่สบายใจกับชื่อถั่วแม่ตายและถั่วเน่า ไม่เป็นมงคลนาม จึงได้ตั้งชื่อให้ใหม่เรียกถั่วเหลือง”

หนังสือพิมพ์ประมวญวัน ฉบับวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2479 ลงข้อความเรื่อง “ถั่วเหลือง, ถั่ววิเศษของโลก” ไว้ดังนี้

“…ประเทศใหม่ทุกประเทศได้ให้เงินทุนในการค้นคว้าเพื่อจะทราบความจริงง่าย ๆ ว่า ถั่วเหลืองจะนำไปปลูกในประเทศเขาจะได้หรือไม่ เพราะเมล็ดพืชนี้ปรากฎว่ามีคุณอนันต์ เมื่อญี่ปุ่นเข้ายึดแมนจูก๊ก ก็รู้ดีทีเดียวว่าสถานนี้คือที่เกิดของถั่วเหลืองที่เป็นสินค้าไปทั่วโลกปีละไม่น้อยกว่า 4 ล้านตัน! ความมั่งคั่งอันญี่ปุ่นได้รับจากที่นั่น ทำให้โลกพากันเพ่งตามองถั่วเหลือง

…มีข่าวลือกันว่า แฮร์ฮิตเลอร์ ได้มีคำสั่งให้นักวิทยาศาสตร์เยอรมันของเขาเอาใจใส่ในถั่ววิเศษชะนิดนี้ เพราะในเวลาที่เขากำลังเป็นทุกข์เรื่องอัตคัตอาหาร อาจเอาถั่วนี้เป็นห่านไข่ทองได้อย่างดี  สยามก็มีถั่วเหลืองปลูกอยู่ในหลายบจังหวัด มีเชียงใหม่ สวรรคโลก ราชบุรี สมุทรสาคร เป็นต้น…”

ขณะที่ต่างประเทศนั้น หนังสือพิมพ์ The Japan Times ฉบับวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2480 Mona Gardner Tait เขียนบทความชื่อ Soy Beans Used in Making Great Variety of Things From Ice Cream To Soups” ที่บอกให้เห็นว่า ความสำคัญของถั่วเหลืองในด้านต่าง เช่น ในด้านของอาหาร นมผงที่ญี่ปุ่นเคยนำเข้าเป็นจำนวนมากจากสหรัฐอเมริกาและเดนมาร์ก เวลาได้เปลี่ยนเป็นทำจากถั่วเหลือง นอกจากนี้ยังสมารถทำเป็นอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน รวมถึงใช้ทำซอสและเครื่องปรุงรสต่าง ๆ, ใช้เป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมเสริมความงาม, ใช้ในอุตสาหกรรมสีสำหรับรถยต์ ฯลฯ

ส่วนในสหรัฐอเมริกา เฮนรี่ ฟอร์ด มหาเศรษฐีชื่อดัง กล่าวถึง การใช้ถั่วเหลืองในอุตสาหกรรมรถยนต์ว่า ฟอร์ดกำลังทดลองเปลี่ยนสภาพถั่วเหลืองให้เป็นสิ้นส่วนประกอบของรถยนต์ของเขา ในโรงงานฟอร์ด สามารถทำถั่วเหลืองให้เป็นวัตถุแข็ง ซึ่งสามารถต้านทานความกดดันได้ถึง 9,000 ปอนด์ โดยไม่แตกหัก

ฟอร์ดยังกล่าวอย่างมันใจว่า “ข้าพเจ้ามองเห็นไปถึงสมัยที่อุตสาหกรรมจะไม่ต้องพึ่งป่าและเหมืองแร่ ซึ่งกว่าจะได้มาก็เป็นเวลาอันนาน แต่จะได้ใช่วัตถุดิบอันเป็นพืชล้มลุกจากท้องทุ่ง พืชผลที่ชาวไร่ ชาวนาทำขึ้นมาได้ มีปริมาณมากเกินกว่าที่จะใช้เป็นอาหารแต่อย่างเดียว จำจะต้องหาทางใช้ให้มากขึ้นอีก ก็ผลของการกสิกรรมนั้นจะได้ตลาดจำหน่ายที่ไหน ถ้าหากอุตสาหกรรมไม่รับช่วงเอาไปใช้”

บทสรุปของกระแสตื่นถั่วเหลืองขออ้างอิง จากคำบรรยายเรื่อง “ถั่วเหลืองและอาหารของชาติ” ที่ปุ๋ย โรจนะบุรานนท์ ที่ สมาคม Y.M.C.A เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 ตอนหนึ่งว่า

“ในบรรดาถั่วและพืชทั้งหลายนั้น ถั่วเหลืองมีโปรตีนส์มากที่สุดและดีที่สุด ข้าพเจ้าจะไม่ยกเอารายการผลการวิเคราะห์…ให้ท่านฟัง เพราะจะกลายเป็นยาหม้อใหญ่ของท่านไป…โปรตีนส์ของถั่วเหลืองนั้นมีคล้ายคลึงกับโปรตีนส์ที่ได้จากสัตว์ และจะใช้แทนกันได้เป็นอย่างดี…

ในทางวิทยาศาสตร์แสดงว่าร่างกายของมนุษย์สามารถเก็บโปรตีนส์จากถั่วเหลือง ได้มากกว่าโปรตีนส์ที่ได้จากสัตว์เสียอีก คนยากจนที่ต้องการโปรตีนส์บำรุงร่างกายย่อมจะใช้ถั่วเหลืองรับประทานได้ผลดี โลกรับรองว่าถั่วเหลือง คือ เนื้อสัตว์ของคนจน ‘Poor Man’s beef’”

ซึ่งนั่นคงเป็นสาเหตุสำคัญที่เกิดกระแสตื่นถั่วเหลือง ด้วยสถานการณ์ของประเทศต่าง ๆ ในเวลาอัตคัตเรื่องอาหาร, พลังงาน ฯลฯ เพราะอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 “ถั่วเหลือง” พืชอายุเพาะปลูกสั้น มีคุณสมบัติที่ดี จึงตอบโจทย์


ข้อมูลจาก

ปุ๋ย โรจนะบุรานนท์. “ตื่นถั่วเหลือง!”, หนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์ ปีที่ 2, ฉบับที่ 3 มกราคม 2480

ศิริ สุวรรณปัทม. “อุตสาหกรรมจากถั่วเหลืองในทัศนีย์ของมหาเศรษฐีเฮนรี ฟอร์ด”, หนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์ ปีที่ 2, ฉบับที่ 2 พฤศจิกายน 2480

ปุ๋ย โรจนะบุรานนท์. “ถั่วเหลืองและอาหารของชาติ”, หนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์ ปีที่ 3, ฉบับที่ 1 เมษายน 2480


เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ : 28 มิถุนายน 2562