ผลวิจัยฟอสซิลฟันชี้ มนุษย์ยุคใหม่เดินทางออกจากทวีปแอฟริกาเร็วกว่าที่เคยวิจัยไว้กว่าแสนปี

ฟอสซิลฟันมนุษย์ที่พบในอิสราเอล (ISRAEL HERSHKOVITZ, TEL AVIV UNI)

วันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา เอพีรายงานว่าคณะนักมานุษยวิทยานานาชาติ นำโดยนายอิสราเอล เฮอร์ชโควิตซ์ แห่งมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ ตีพิมพ์ผลการศึกษาวิจัยจากซากฟอสซิลมนุษย์พบในอิสราเอล ซึ่งเป็นส่วนฟันที่ขากรรไกรล่าง แสดงให้เห็นว่ามนุษย์เริ่มเดินทางออกจากทวีปแอฟริกาเร็วกว่าที่เคยคิดไว้กว่าแสนปี

การค้นพบนี้อาจเปลี่ยนแปลงทฤษฎีเดิมและคิดกันใหม่ว่า วิวัฒนาการมนุษย์ และความเกี่ยวข้องกับสายพันธุ์ใกล้เคียงอย่างนีอันเดอธาลว่ามีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร

มีการเผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารวิทยาศาสตร์ไซเอินซ์ ถึงขากรรไกรล่างและเครื่องมือทำด้วยหิน อาจบ่งบอกได้ว่า โฮโมเซเปียนหรือมนุษย์ยุคใหม่นั้นเดินทางออกจากแอฟริกาไปยังพื้นที่อื่นเร็วกกว่าที่เคยมีหลักฐาน เพราะขากรรไกรดังกล่าวน่าจะมีอายุราว 177,000 และ 194,000 ปี

ก่อนหน้านี้ มีการพบฟอสซิลมนุษย์ยุคใหม่นอกทวีปแอฟริกา รวมถึงที่อิสราเอล มีอายุสูงที่สุดคือราว 90,000 – 120,000 ปี แต่ขากรรไกรล่างที่พบนี้มีอายุแก่เก่ากว่าที่เคยพบ 50,000 – 100,000 ปี

ขากรรไกรดังกล่าวพบในปี 2545 ในถ้ำมิสลียาที่ถล่มลงมาบริเวณที่ลาดชันของเทือกเขาคาร์เมล ประเทศอิสราเอล พร้อมฟอสซิลส่วนอื่นๆ ที่เป็นมนุษย์วัยรุ่น แต่ยังไม่รู้เพศ

ถ้ำที่พบฟอสซิล (ISRAEL HERSHKOVITZ, TEL AVIV UNI)

มีนา ไวน์สไตน์เอฟรอน ผู้ร่วมเขียนงานวิจัย กล่าวถึงผลการศึกษานี้คาดว่า มนุษย์น่าจะเดินทางออกจากแอฟริกามานานกว่า  220,000  ปีก่อน หรือเร็วกว่านั้น ในถ้ำดังกล่าวยังปรากฏเครื่องมือส่วนใหญ่เป็นของมีคมเหมือนใบมีดสำหรับหั่นเนื้อและแล่หนัง บางชิ้นมีอายุถึง 250,000 ปี ลักษณะของเครื่องมือและหลักฐานอื่นๆ บ่งบอกถึงการผลิตในลักษณะอุตสาหกรรม ตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของมนุษย์ อาจเป็นเครื่องมือของโฮโมเซเปียน

เอริก เดลสัน นักมานุษยวิทยา จากวิทยาลัยเลห์แมน และพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติสหรัฐ กล่าวว่า พื้นที่มิสลิยาอาจเป็นชุมชนของกลุ่มที่อพยพออกจากแอฟริกา และฟอสซิลที่พบนี้อาจเป็นมนุษย์ยุคใหม่ของกลุ่มผู้อพยพชุดแรกๆ