ถอดรหัสพระปรางค์วัดอรุณ: ทำไมยักษ์แบกและเทวดาแบกฐานปรางค์ประธานจึงสวม “เกราะ”?

พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม อันประกอบไปด้วย ปรางค์ประธานห้ายอด ล้อมรอบด้วยปรางค์บริวารทั้ง ๔ มุม และมณฑปทั้ง ๔ ทิศ ที่ฐานของปูชนียสถานเหล่านี้ล้วนละลานตาไปด้วย ”พลแบกได้แก่ ปรางค์ประธานประกอบด้วยฐาน ยักษ์แบกฐาน กระบี่แบกและฐาน เทวดาแบกซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปถึง ๓ ชั้น ปรางค์มุมบริวารมีรูปยักษ์แบกและกระบี่แบกสลับกันที่ฐาน และ มณฑปทิศมีรูปเทวดาแบกหรือยักษ์แบกสลับกันในแต่ละหลัง

พลแบกเหล่านี้เมื่อดูผิวเผินก็อาจดูไม่มีความสำคัญอะไร มากไปกว่าเครื่องประดับเชิงชั้นของสถาปัตยกรรมไทยประเพณีที่เป็นสื่อสัญลักษณ์ตามคติจักรวาล แต่ถ้าลองพินิจดูให้ดีแล้วจะเห็นความแตกต่างของ เครื่องแต่งกายอันได้แก่ ศิราภรณ์และ เกราะ ระหว่างพลแบกที่ปรางค์ประธานกับพลแบกที่ปรางค์บริวารและมณฑปอย่างชัดเจน ดังนี้

พลแบกฐานปรางค์มุมบริวารและมณฑป ยกเว้นรูปเทวดาแบกซึ่งต้องสวมศิราภรณ์มียอดอยู่แล้ว รูปยักษ์แบกและกระบี่แบก ล้วนเป็น ยักษ์โล้นและ ลิงโล้นแบบหัวโขนกุมภกรรณและหนุมาน ทั้งยักษ์แบก กระบี่แบก และเทวดาแบก ล้วนไม่สวมเกราะ มีเพียงสังวาลโค้ง สังวาลไขว้ และทับทรวงประดับไว้

พลแบกฐานปรางค์ประธาน อันประกอบด้วย ยักษ์แบก กระบี่แบก และเทวดาแบก ล้วนสวมศิราภรณ์มียอด เป็น ยักษ์ยอดและ ลิงยอดแบบหัวโขนทศกัณฐ์และหัวโขนพาลีหรือสุครีพ โดยรูปยักษ์แบกสวมเกราะเป็นสายคาดที่หน้าอก รัดเกราะเป็นแผ่นโค้งแนบลำตัว ส่วนรูปเทวดาแบกสวมเกราะที่ดูเหมือนเสื้อเสนากุฎ มีรูปหน้าขบคาบสายรัดเกราะที่หน้าอกและแขนรูปเหรา ขณะที่กระบี่แบกจะสวมสังวาลและทับทรวงไม่สวมเกราะ

ความแตกต่างข้างต้นอาจมองได้ว่าเป็นเรื่อง ลำดับศักดิ์ของสถาปัตยกรรมที่ต่างกัน หากใช้ประเด็นเรื่องศิราภรณ์เป็นตัวจำแนกก็พอมีเหตุผลไม่น้อยที่ยักษ์ยอดและลิงยอดที่มีศักดิ์สูง ควรแบกฐานปรางค์ประธานมากกว่ายักษ์โล้นและลิงโล้นที่มีศักดิ์ต่ำกว่า นับว่าเหมาะสมอยู่แล้วที่ควรแบกฐานปรางค์มุมบริวารและมณฑปทิศ

หากแต่ประเด็นเรื่องลำดับศักดิ์ดูจะอธิบายไม่ได้เลยกับกรณีที่ยักษ์แบกและเทวดาแบกฐานปรางค์ประธานต่างพร้อมใจกันสวมเกราะ อันเป็นเรื่องของ การรบมากกว่า ในที่นี้เห็นว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการที่ยักษ์แบกและเทวดาแบกเหล่านี้ กำลังทำหน้าที่เป็น กองรักษาสวรรค์ตามคติจักรวาลที่ปรากฏในคัมภีร์โลกศาสตร์อย่างไตรภูมิโลกวินิจฉยกถาที่ชำระในรัชกาลที่ ๑ ทั้ง ๒ สำนวน

 เกี่ยวกับเรื่องนี้ชาตรี ประกิตนนทการ (๒๕๕๖, ๑๖๖ – ๑๖๘) ให้ความเห็นว่าฐานยักษ์แบก กระบี่แบก และเทวดาแบก ไม่น่าจะหมายความถึงนรกภูมิ มนุษยโลก และสวรรคโลก ตามลำดับดังที่เคยมีผู้เสนอไว้ เพราะขัดแย้งกับการแทนค่าสัญลักษณ์ในงานศิลปกรรมไทย

แต่น่าจะหมายถึงลักษณะทางกายภาพของเขาพระสุเมรุที่ประกอบด้วยชาน ๕ ชั้น แต่ละชั้นมีกองรักษาสวรรค์ อันได้แก่ นาค ครุฑ กุมภัณฑ์ อสูร และเทวดา คนธรรพ์ ในชั้นจาตุมหาราชิกา เพื่อป้องกันการรุกรานของอสูรตามที่ปรากฏใน คัมภีร์ไตรโลกวินิจฉยกถา สำนวนที่ ๑ (เมธาธิบดีและคณะ ๒๕๕๕, ๓๒๔) และสำนวนที่ ๒ (ธรรมปรีชา ๒๕๒๐, เล่ม ๓: ๑๘๐ ๑๘๖) ดังนี้

สมเด็จพระอมรินทราธิราชนั้น..ทรงพระปรารภที่จะรักษาพระนครไว้ให้มั่น จึงจัดแจงกองทัพให้ตั้งรับอสูรบริษัทสกัดกั้นไว้ในชั้นพระเมรุทั้ง ๕…ฝูงนาคมีกำลังในน้ำ สนัดข้างทางน้ำ สมเด็จพระอมรินทราธิราชก็ให้ตั้งสกัดกั้นในชั้นพระเมรุเป็นประถม…ชั้นพระเมรุเป็นคำรบ ๒ นั้น ตั้งหมู่สุบรรณอันบริบูรณ์ด้วยกำลังกายแลกำลังฤทธิ์ ให้จัดแจงกันเป็นหมวดเป็นกอง คอยรับรองป้องกันหมู่ปัจจามิตรอสูรสงคราม…ในชั้นพระเมรุเป็นคำรบ ๓ นั้น ตั้งกองกุมภัณฑ์ผู้มีมหิทธิฤทธิ์ เชี่ยวแรงแข็งขัน ให้คอยรับจับประจัญต่อตี…ในชั้นพระเมรุเป็นคำรบ ๔ นั้น จัดฝูงยักษ์อันตัวกล้าตัวหาญ ยั่งยืนในการศึกสงครามนั้นให้
ตั้งกองสกัดกั้น เอาใจใส่อภิบาลรักษา…ในชั้นพระเมรุเป็นคำรบ ๕ นั้น ให้ท้าวจตุมหาราชทั้ง ๔ พระองค์ คือ ท้าวธตรัฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักษ์ ท้าวเวสสุวัณ (ธรรมปรีชา ๒๕๒๐, เล่ม ๓: ๑๘๑)

ดังนั้น รูปยักษ์แบกสวมเกราะจึงแทนกุมภัณฑ์และยักษ์ซึ่งอยู่บนชานชั้นที่ ๓ และ ๔ ของเขาพระสุเมรุ และ รูปเทวดาแบกสวมเกราะจึงแทนเทพยดาและคนธรรพ์บริวารของท้าวจตุมหาราชทั้ง ๔ องค์ บนชานชั้นที่ ๕ ของเขาพระสุเมรุ อันเป็นชั้นสุดท้ายก่อนจะขึ้นไปถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่ตั้งของสุทัสนมหานครของพระอินทร์ อย่างไรก็ดี มีปัญหาอยู่บ้างตรงที่รูปกระบี่แบก ซึ่งไม่พบว่าเป็นหนึ่งในกองกำลังรักษาสวรรค์ในไตรโลกวินิจฉยกถา ทั้ง ๒ กรณีนี้ ชาตรีสันนิษฐานว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับอิทธิพลจากรามเกียรติ์ที่แทรกสอดเข้าไปในงานศิลปกรรมไทย (ชาตรี ๒๕๕๖, ๑๖๘)

ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยกับข้อสันนิษฐานดังกล่าว โดยเพิ่มเติมว่าอาจเกี่ยวข้องกับสุครีพ พญาวานรน้องชายของพาลี ผู้ออกอุบายจี้สะดือพญานาคซึ่งพันรอบเขาพระสุเมรุที่ทรุดอยู่ต่างเชือกรั้งไว้ จนพญานาคนั้นสะดุ้งอย่างแรงเป็นจังหวะรั้งเขาพระสุเมรุตั้งตรงได้ หลังจากทรุดเอียงเพราะถูกรามสูรจับอรชุนฟาดกับเหลี่ยมเขาพระสุเมรุจนขาดใจตาย ดังปรากฏมาในรามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑

รูปยักษ์แบกและเทวดาแบกสวมเกราะที่ฐานปรางค์ประธาน จึงเป็นรูปธรรมช่วยย้ำข้อสันนิษฐานของบรรดานักวิชาการว่าชุดฐานของปรางค์วัดอรุณราชวราราม เป็นระบบสัญลักษณ์แทนสัตตบริภัณฑ์และเขาพระสุเมรุ ดังพรรณนาไว้ในไตรโลกวินิจฉยกถา สำนวนที่ ๑ ว่า สัตตภัณฑคีรี…ทั้ง ๗ นี้ตั้งเสมอรอบๆ กัน แต่เขาพระสุเมรุเป็นลำดับกันออกมา บุคคลทัศนาการเห็นเหมือนดังบันได ย่อมเป็นนิวาสถานที่อยู่แห่งหมู่เทวดา แลคนธรรพ์ ยักษ์ กุมภัณฑ์ สุบรรณ ครุธาราชปักษี อันมีฤทธานุภาพ (เมธาธิบดีและคณะ ๒๕๕๕, ๑๗๑)

ขณะเดียวกันก็ช่วยสนับสนุนข้อสันนิษฐานของผู้เขียนว่าเรือนธาตุของปรางค์ประธาน ๕ ยอดอันตั้งรับด้วยชุดฐานแบกเหล่านี้ ควรได้แก่ วิมานไพชยนต์ของพระอินทร์ซึ่งปรากฏพระองค์บนหลังช้างเอราวัณพร้อมวชิราวุธในรูปของจักรประจำซุ้มจระนำเรือนธาตุทั้ง ๔ ทิศ โดยมีพระมหามงกุฎที่ยอดนภศูลเป็นสัญลักษณ์แทน ยอดวิมานพระอินทร์ตามอินทรคติที่กล่าวถึงในคัมภีร์ปัญจราชาภิเษก (ดูรายละเอียดใน พิชญา ๒๕๕๗, ๑๓๑ – ๑๓๓)


บรรณานุกรม

๑. ธรรมปรีชา, พระยา. ๒๕๒๐. ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถาฉบับที่ ๒ (ไตรภูมิฉบับหลวง). ๓ เล่ม. กรุงเทพฯ: กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.

๒. พิชญา สุ่มจินดา. ๒๕๕๗. ถอดรหัสพระจอมเกล้า. กรุงเทพฯ: มติชน.

๓. เมธาธิบดี, พระยา และคณะ. ๒๕๕๕. ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา สำนวนที่ ๑. ปริวรรตโดย นิยะดา เหล่าสุนทร. กรุงเทพฯ: ลายคำ.


© 2017 by Pitchaya Soomjinda, https://www.facebook.com/ArtHistoryClassroom

ทุกท่านสามารถแชร์บทความพร้อมภาพประกอบได้โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาต ยกเว้นการเรียบเรียงใหม่ ตัดทอนเนื้อหา เชิงอรรถ บรรณานุกรม หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความ ต้องได้รับอนุญาตจากผู้เขียนเสมอ และขอสงวนสิทธิ์ตามกฎหมายในการนำบทความทั้งหมดหรือบางส่วนไปใช้ในนามของท่านไม่ว่ากรณีใด