1 กุมภาพันธ์ 1908 คนร้ายลอบปลงพระชนม์กษัตริย์โปรตุเกสพร้อมรัชทายาท

ภาพเขียนแสดงเหตุการณ์ลอบสังหารกษัตริย์คาร์ลอสกลางกรุงลิสบอน (ภาพจาก Le Petit Journal, via Wikimedia Commons)

กษัตริย์คาร์ลอสที่หนึ่งแห่งโปรตุเกส (King Carlos I of Portugal) ขึ้นครองราชย์หลังการสวรรคตของพระราชบิดาในปี 1889 ในช่วงเวลาที่ยากลำบากของประเทศซึ่งขณะนั้นปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เนื่องจากประเทศต้องประสบกับปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง โดยเฉพาะการค่อยๆ สูญเสียดินแดนอาณานิคมในแอฟริกา

สภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจนำไปสู่การจลาจลในปี 1906 ทำให้กษัตริย์คาร์ลอสทรงตัดสินใจรับมือด้วยการหนุนหลังพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมของเจา ฟรังโก (Jao Franco) เพื่อจัดตั้งรัฐบาลผด็จการ ซึ่งพระองค์อ้างว่าเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อยุติปัญหาการทุจริตและการขาดประสิทธิภาพในการบริหารงานของระบอบรัฐสภา แต่ประชาชนส่วนใหญ่กลับมองว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการทรยศ และราชสำนักเองคือต้นตอของการทุจริต 

รัฐบาลฟรังโกใช้อำนาจเผด็จการในการปฏิรูประบบการคลังการการบริหารราชการอย่างเด็ดขาด แต่กลับถูกกล่าวหาแอบโอนเงินให้กับราชสำนักโดยมิชอบ ตามมาด้วยข้อหาที่อื้อฉาวอื่นๆ จนในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1908 กษัตริย์คาร์ลอส (หรือชาลส์ -Charles- ในภาษาอังกฤษ) พร้อมด้วยหลุยซ์ เฟลิเป (Luis Felipe) องค์รัชทายาทได้ถูกลอบปลงพระชนม์กลางกรุงลิสบอนระหว่างการเสด็จด้วยรถพระที่นั่งเปิดประทุน ทำให้โอรสคนรองของกษัตริย์คาร์ลอสได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์มานูเอลที่สอง (King Manuel II) 

เบื้องหลังของการลอบสังหารเชื่อกันว่ามีการวางแผนมาเป็นอย่างดี โดยพวกคาโบนาเรีย (Carbonaria) [กลุ่มต่อต้านระบอบกษัตริย์ในโปรตุเกสซึ่งเป็นพันธมิตรกับกลุ่มคาร์โบนารี (Carbonari) ของอิตาลี] น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องในการลงมือของสองมือปืนในครั้งนี้ด้วย

กษัตริย์มานูเอลในวัย 18 พรรษา ขึ้นครองราชย์โดยขาดความช่วยเหลือในการรวบรวมผู้สนับสนุนระบอบกษัตริย์ให้เป็นปึกแผ่นอีกครั้ง ในการเลือกตั้งเดือนสิงหาคม 1910 ฝ่ายสาธารณรัฐได้ชัยชนะในเมืองใหญ่ทั้งลิสบอนและปอร์โต ต่อมาในวันที่ 3 ตุลาคม จิตแพทย์คนดังฝ่ายสาธารณรัฐได้ถูกคนไข้สังหาร และกลายเป็นเหตุในการลุกฮือของฝ่ายสาธารณรัฐนำโดยอันโตนิโอ มาชาโด ซานโตส (Antonio Machado Santos) จากกลุ่มคาร์โบนาเรีย

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้กษัตริย์มานูเอลทรงตัดสินใจเสด็จไปลี้ภัย ณ ประเทศอังกฤษ และทรงประทับอยู่ที่นั้นจนกระทั่งสวรรคต ขณะที่โปรตุเกสก็ได้กลายเป็นประเทศสาธารณรัฐนับแต่นั้นเป็นต้นมา


อ้างอิง:

1. “Portuguese King and Heir Assasinated”. History. <http://www.history.com/this-day-in-history/portuguese-king-and-heir-assassinated>

2. “The Republic’s King”. The Huffington Post. <http://www.huffingtonpost.com/jaime-pozuelomonfort/the-republics-king_b_4347624.html>

3. “Portugal”. Encyclopedia Britannica. <https://global.britannica.com/place/Portugal/Constitutionalism>