30 ธันวาคม 2006 “ซัดดัม ฮุสเซน” ผู้นำเผด็จการอิรักถูกประหารโดยการแขวนคอ

ซัดดัม ฮุสเซน ประธานาธิบดี อิรัก อริ สหรัฐฯ
ภาพซัดดัม ฮุสเซน ปธน.อิรักในเวลานั้น จากคลิปให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ Channel Four จากบริเทน เมื่อปี 2003 (ภาพจาก CHANNEL FOUR NEWS / AFP)

ซัดดัม ฮุสเซน อดีตผู้นำเผด็จการแห่ง อิรัก กลายมาเป็นไม้เบื่อไม้เมากับ สหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 1990 ทั้งที่สหรัฐฯ เคยช่วยอิรักในการรุกรานรัฐอิสลามอิหร่านมาก่อน สาเหตุก็เป็นเพราะ ซัดดัม ยกทัพเข้ายึดครองเพื่อนบ้านอย่างคูเวต ด้วยหวังใช้แหล่งน้ำมันในคูเวตมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทรุดโทรมเนื่องจากการทำสงครามกับอิหร่านมานานนับสิบปี

การกระทำดังกล่าวถูกประณามจากนานาชาติ ตามมาด้วยการคว่ำบาตร ก่อนที่จะนำไปสู่การทำสงครามอ่าวเปอร์เซียในวันที่ 16 มกราคม 1991 เมื่อสหประชาชาติไฟเขียวให้ใช้กำลังบังคับอิรักให้ยุติการยึดครองคูเวต

สงครามจบลงใน 6 สัปดาห์ เมื่อกองกำลังร่วมสามารถขับไล่อิรักได้พ้นคูเวต ความพ่ายแพ้ทำให้กลุ่มชีอะฮ์ และชาวเคิร์ดพากันก่อจลาจล ซัดดัม จึงตอบโต้ด้วยการใช้กำลังอย่างรุนแรง

ภายใต้ข้อตกลงหยุดยิงกับสหประชาชาติ อิรักถูกสั่งห้ามผลิตและครอบครองอาวุธเคมี ชีวภาพ และนิวเคลียร์ แต่อิรักมักไม่ให้ความร่วมมือกับทีมตรวจสอบของสหประชาชาติ ทำให้สหรัฐฯ และอังกฤษ ใช้เป็นข้ออ้างในการโจมตีทางอากาศต่ออิรักเป็นเวลา 4 วันในปี 1998 พร้อมประกาศให้การหนุนหลังกลุ่มชาวอิรักที่ต้องการโค่นล้มซัดดัม

หลังเหตุการณ์ 11 กันยายน (2001) สหรัฐฯ พยายามกล่าวหาว่า ซัดดัม อยู่เบื้องหลังกลุ่มก่อการร้าย และพยายามขยายกระบวนการปลดอาวุธรัฐบาลซัดดัม ต่อไป ถึงเดือนพฤศจิกายน 2002 ซัดดัม ยอมให้ฝ่ายตรวจสอบจากยูเอ็นเข้าประเทศได้อีกครั้ง แต่การที่เขาไม่ได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ทำให้สหรัฐฯ และอังกฤษ ไม่พอใจ และประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิรัก

วันที่ 17 มีนาคม 2003 จอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น ข่มขู่ให้ ซัดดัม ลงจากตำแหน่งภายใน 48 ชั่วโมง ไม่เช่นนั้นสหรัฐฯ จะประกาศสงคราม แต่ก็ยังกล่าวเสริมด้วยว่า ต่อให้ ซัดดัม ยอมลงจากอำนาจ เขาก็อาจจะประกาศสงครามอยู่ดี เพื่อสร้างเสถียรภาพให้รัฐบาลใหม่ และเพื่อการค้นหาอาวุธ เมื่อ ซัดดัม ปฏิเสธ สหรัฐฯ และพันธมิตรจึงเปิดฉากโจมตีอิรักในวันที่ 20 มีนาคม

การโจมตีอย่างหนักหน่วงทำให้ ซัดดัม กับครอบครัวต้องหลบหนีไปพร้อมกับสมบัติของชาติ แต่ลูกชายของเขาสองคนคือ อูเดย์ และ คูเซย์ ก็จนมุมและถูกฆ่าตายในเมืองโมซุลเมื่อวันที่ 22 กรกฏาคม กระทั่งวันที่ 13 ธันวาคม ซัดดัม ก็ถูกจับตัวได้

ซัดดัม ถูกนำตัวขึ้นดำเนินคดีต่อศาลพิเศษที่ตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาคดีของผู้นำจากรัฐบาล ซัดดัม ในเดือนตุลาคม 2005 เขาและจำเลยร่วมอีกหลายคนถูกกล่าวหาว่าสังหารชาวชีอะฮ์จำนวน 148 คน ในเมืองอัล-ดูจัย์ล (Al-Dujayl)

ตลอดการพิจารณาคดี ซัดดัม พยายามขัดขวางการทำหน้าที่ของศาลด้วยความโกรธแค้น โดยอ้างว่าศาลไม่มีอำนาจ และมีกลุ่มผลประโยชน์ของสหรัฐฯ อยู่เบื้องหลัง

ศาลสิ้นสุดการพิจารณาในเดือนกรกฎาคม 2006 ก่อนมีคำพิพากษาในเดือนพฤศจิกายนระบุว่า ซัดดัม มีความผิดในการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ให้รับโทษประหารด้วยการแขวนคอ

ซัดดัม ฮุสเซน จึงจบชีวิตลงด้วยการรับโทษประหารเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2006

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

“Sadam Hussein”. Encyclopedia Britannica. <https://global.britannica.com/biography/Saddam-Hussein>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 ธันวาคม 2560