20 มิ.ย. 2476 พระยาพหลฯ “ยึดอำนาจ” หลังพระยามโนฯ สั่งปิดสภา ระงับใช้รธน.บางมาตรา

พระยาพหลฯ พระยาพหลพลพยุหเสนา
พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน), ภาพพื้นหลังเป็นภาพชาวพระนครออกมาฉลองรัฐธรรมนูญฉบับถาวรบนท้องถนน เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 (ภาพจาก มูลนิธิ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา และท่านผู้หญิงบุญหลง)

20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 พระยาพหลฯ ยึดอำนาจรัฐบาล หลังพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ระงับใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา

“ประกาศของผู้ยึดอำนาจการปกครองประเทศ

ด้วยคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดิน ณ บัดนี้ไม่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญโดยเริ่มต้นปิดสภาผู้แทนราษฎร แล้วงดใช้รัฐธรรมนูญ คณะทหารบก ทหารเรือ จึงได้ดำเนินการเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ขอประกาศให้ราษฎรประชาชนทั้งหลายอย่ามีความตระหนกตกใจจงช่วยกันรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

คณะนี้ได้จัดการไปแล้วคือ ได้โทรเลขกราบบังคมทูลพระกรุณาไปยังพระราชวังไกลกังวล หัวหิน ตามนัยที่กล่าวมาแล้ว กับได้ให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง และได้แจ้งให้กระทรวง ทบวงการ ดำเนินราชการไปเช่นเคย ทั้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลรักษาความสงบเรียบร้อยทั่วไปแล้ว

วังปารุสกวัน วันที่ 20 มิถุนายน พุทธศักราช 2476

นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
นายพันโท หลวงพิบูลสงคราม เลขานุการฝ่ายทหารบก
นายนาวาโท หลวงศุภชลาศัย เลขานุการฝ่ายทหารเรือ”

พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)

ต้นเหตุอันนำไปสู่การปิดสภาของพระยามนโนปกรณ์ฯ มาจากความขัดแย้งภายในสภา หลังหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เสนอ “เค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ” ที่ให้รัฐออกพันธบัตรซื้อที่ดินทำกินทั้งหมด ทำให้ชาวนาชาวไร่มีสภาพเป็นลูกจ้างของรัฐ ซึ่งถูกโจมตีอย่างหนักว่าเป็นการวางโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบเดียวกับคอมมิวนิสต์ ดังพระบรมราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ 7 ว่า

“โครงการนี้นั้นเป็นโครงการอันเดียวอย่างแน่นอนกับที่ประเทศรัสเซียใช้อยู่ ส่วนใครจะเอาอย่างใครนั้นข้าพเจ้าไม่ทราบ สตาลินจะเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ฯ หรือหลวงประดิษฐ์ฯจะเอาอย่างสตาลินก็ตอบไม่ได้ ตอบได้ข้อเดียวว่าโครงการทั้ง 2 นี้ เหมือนกันหมด”

และในระหว่างการประชุมสภาวันที่ 31 มีนาคม 2475 พระยามโนปกรณ์และพระยาทรงสุรเดชได้อ้างเหตุว่าในการประชุมก่อนหน้านั้นหนึ่งวันมีสมาชิกบางรายพกอาวุธเข้าที่ประชุม จึงนำกำลังทหารประมาณหนึ่งกองร้อยเข้ามาควบคุมการประชุมของสภา ทำให้มีการโจมตีการใช้อำนาจอย่าง “เผด็จการ” ของพระยามโนปกรณ์

วันรุ่งขึ้น (1 เมษายน 2476 ซึ่งขณะนั้นถือเป็นวันขึ้นปีใหม่) รัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ ได้ออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เข้าลักษณะเป็นการ “รัฐประหาร” ประการหนึ่ง ทำให้อำนาจบริหารและนิติบัญญัติมาขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี โดยอาศัยอำนาจของกษัตริย์ในรูปของพระราชกฤษฎีกา จนทำให้สื่อล้อเลียนว่าเป็นระบอบ “มโนเครซี่”

วันที่ 2 เมษายน รัฐบาลพระยามโนปกรณ์ได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ โดยไม่ผ่านการพิจารณาของสภา บีบให้หลวงประดิษฐ์ฯ ต้องเดินทางไปต่างประเทศในวันที่ 12 เมษายน

ในช่วงนี้มีหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจของพระยามโนปกรณ์ถูกสั่งปิดไปหลายสำนัก เช่น กรุงเทพฯวารศัพท์ ด้วยข้อหาเป็นเสี้ยนหนามต่อแผ่นดิน หลักเมือง ในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ ตามมาด้วย ประชาชาติ และไทยใหม่

ถึงวันที่ 18 มิถุนายน พระยาพหลฯ พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิอัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ์ ได้ขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี โดยอ้างปัญหาสุขภาพ ก่อนที่ในวันที่ 20 มิถุนายน พระยาพหลฯ จะนำกำลังเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ โดยอ้างว่ามีเหตุผลสำคัญเพื่อ “ให้เปิดสภาผู้แทนราษฎร” เท่านั้น (คำกราบบังคมทูล 20 มิถุนายน 2476 ลงนามโดย พระยาพหลฯ หลวงพิบูลย์สงคราม และหลวงศุภชลาศัย)

ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2566
ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2566

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517) โดย ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์

ประวัติการเมืองไทยสยาม พ.ศ. 2475-2500 โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มิถุนายน 2559