2 มี.ค. 2500 รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินฯ นักศึกษา-ประชาชนเดินขบวนประท้วงเลือกตั้งสกปรก

การชุมนุมประท้วงการเลือกตั้งสกปรกที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวัน 2 มีนาคม 2500

การเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วประเทศ ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนส่วนใหญ่ และถูกเรียกว่า “การเลือกตั้งสกปรก”

ในหน้าหนังสือพิมพ์มีการวิจารณ์การเลือกตั้งครั้งนี้ว่า “ไม่มีครั้งใดที่เสียงโจษจันของประชาชนและหนังสือพิมพ์จะสอดคล้องต้องกันเกือบเป็นเสียงเดียวเหมือนกันเช่นทัศนะที่มีต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ นับตั้งแต่ความระแวงที่ว่าการเลือกตั้งเป็นไปอย่างไม่บริสุทธิ์ และความท้อใจที่เห็นเหตุการณ์ ในวันเลือกตั้ง” (พิมพ์ไทย 1 มีนาคม 2500) หรือกล่าวว่า “เป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์” (สารเสรี 1 มีนาคม 2500)

การที่หนังสือพิมพ์ต่างๆ ได้ลงข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้งทุจริตอย่างครึกโครมนั้นได้นำมาซึ่งการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ เพียงวันเดียวหลังจากที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างสมบูรณ์ในวันที่ 1 มีนาคม 2500 แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามป้องกันสถานการณ์ โดยการออกประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่เช้าวันที่ 2 มีนาคม 2500 เพื่อ “ขอให้ประชาชนอยูในความสงบและปฏิบัติตามประกาศของทางราชการ” แต่เหตุการณ์กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม

เริ่มต้นการชุมนุมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สโมสรนิสิตจุฬาฯ นัดประชุมที่หอประชุมเพื่อแสดงการคัดค้านการเลือกตั้งสกปรก ในวันนั้นมีการลดธงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยประชาธิปไตย มีนักศึกษาจากสถาบันอื่นๆ และประชาชนได้มาร่วมประท้วงการเลือกตั้งสกปรกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย ต่อมาการประชุมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ขยายตัวกลายเป็นการเดินขบวนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปยังกระทรวงมหาดไทย

การชุมนุมประท้วงการเลือกตั้งสกปรกที่กระทรวงมหาดไทย เมื่อวัน 2 มีนาคม 2500

ฝ่ายนิสิตนักศึกษาได้ตั้งข้อเรียกร้อง ดังนี้ ให้เลิกภาวะฉุกเฉินโดยทันที, ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ, ให้มีการเลือกตั้งใหม่ใน 1 เดือน, ให้สืบสวนเอาผู้กระทำผิดในการทุจริตมาลงโทษ และให้ตอบข้อเรียกร้องนี้ใน 24 ชั่วโมง มิฉะนั้นก็เสนอให้ผู้ได้รับการเลือกตั้งลาออก

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ของนิสิตนักศึกษา ได้รับความสนับสนุนจากประชาชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากประชาชนเองก็ไม่พอใจการเลือกตั้งสกปรก 2500 ที่กระทำอย่างออกนอกหน้า มีการบันทึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า

“…บรรดาหนังสือพิมพ์ต่างๆ ลงบทความโจมตี ประชาชนจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ที่ท้องสนามหลวงมีการพูดไฮปาร์ค โจมตีรัฐบาลอย่างหนักหน่วง ประชาชนมาฟังกันล้นหลาม…2 มีนาคม 2500 นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หยุดเรียนและชุมนุมกันที่สนามหญ้าหน้าหอประชุม เพื่อประท้วงการเลือกตั้งและลดธงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยระบอบประชาธิปไตย…นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ และประชาชนทยอยมาสมทบ…ขบวนเคลื่อนสู่ทำเนียบ ประชาชนทยอยมาไม่ขาดสายเต็มถนนหน้าทำเนียบและถนนริมคลอง…”

ในเย็นของวันที่ 2 มีนาคม 2500 กลุ่มนิสิตนักศึกษาได้ย้ายการชุมนุม จากหน้ากระทรวงมหาดไทยริมคลองหลอด เดินขบวนไปตามถนนราชดำเนิน จนถึงทำเนียบรัฐบาล และกลายเป็นกระแสการเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลขนาดใหญ่ เนื่องจากประชาชนชาวพระนครหลายหมื่นคนที่ไม่พอใจการเลือกตั้งได้ร่วมเดินขบวนด้วย การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ครั้งนี้ มีนิสิตจุฬาฯ เป็นฝ่ายริเริ่มโดยฝ่ายนักศึกษาธรรมศาสตร์ไม่ทราบเรื่องมาก่อน สุวิทย์ เผดิมชิต ประธานกรรมการนักศึกษาธรรมศาสตร์กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

“ขณะนั้นผมกำลังนั่งเขียนข่าวอยู่ที่ น.ส.พ.สยามนิกร คุณสรวง ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม นายกสโมสรจุฬาลงกณ์มหาวิทยาลัย หรือหัวหน้านิสิตจุฬาฯ ได้โทรมาหาผม บอกว่าให้พานักศึกษาธรรมศาสตร์ไปช่วยกัน ทางจุฬาฯเคลื่อนออกมาแล้วขณะนั้นทางธรรมศาสตร์ปิดภาคเรียนเรียบร้อยแล้ว มีแต่นักศึกษาที่มาสอบหรือมาเที่ยวเล่นเท่านั้น ผมรีบโทรศัพท์มาที่โรงพิมพ์ธรรมศาสตร์ และขอพูดกับคุณอิสระ นิติทัณฑ์ประภาส บรรณกรสโมสรไปแจ้งข่าวเดินขบวนให้นักศึกษาที่อยู่มหาวิทยาลัยทราบโดยทั่วกัน และให้ไปรวมกันที่กระทรวงมหาดไทย”

การชุมนุมประท้วงการเลือกตั้งสกปรกที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวัน 2 มีนาคม 2500

เบื้องหลังตรงนี้ ค่อนข้างเกี่ยวข้องกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อยู่มาก เพราะตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง จอมพลสฤษดิ์มิได้ชักชวนให้ทหารในกองทัพบกเลือกพรรคเสรีมนังคศิลา โดยกล่าวว่า “เมื่อจะเป็นประชาธิปไตยกันจริงๆ แล้ว ขออย่าได้บังคับกะเกณฑ์ให้ไปลงคะแนนให้พรรครัฐบาลเลย บุคคลอื่นๆที่อยู่ในพรรคการเมืองฝ่ายค้านก็อาจจะเป็นคนดีได้” ซึ่งนี่ก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่พรรคเสรีมนังคศิลาในพระนครได้คะแนนเสียงไม่มาก

ต่อมาเมื่อรัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินฯ ได้มอบหมายให้จอมพลสฤษดิ์เป็นผู้รักษาตามประกาศ แต่จอมพลสฤษดิ์กลับเดินทางไปพบนิสิตจุฬาฯ ในเช้าวันที่ 2 มีนาคม 2500 นิสิตได้ขออนุญาตจอมพลสฤษดิ์เดินขบวนประท้วง ซึ่งจอมพลสฤษดิ์อนุญาตและได้ปราศรัยแก่นิสิตจุฬาฯ ทำนองว่า “ถ้ามีการเดินขบวนประท้วงรัฐบาล ก็จะหลีกทางให้”

ภาพเหตุการณ์ที่จอมพลสฤษดิ์นำคณะนิสิตนักศึกษาเข้าพบจอมพล ป. ที่ทำเนียบรัฐบาล ภาพหลังจากการเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งสกปรก พ.ศ. 2500

ดังนั้น เมื่อขบวนนิสิตนักศึกษาและประชาชนเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล จอมพลสษดิ์ ธนะรัชต์ ก็สั่งให้ทหารเปิดทางและเป็นผู้นำขบวนไปพบจอมพล ป. พิบูลสงครามด้วยตัวเองและเมื่อปล่อยให้ฝูงชนได้ “ซักฟอก” จอมพล ป. อยู่ระยะหนึ่งแล้ว จอมพลสฤษดิ์ก็เป็นคนพูดไกล่เกลี่ยจนฝ่ายเดินขบวนยอมสลายตัว