ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
โรคเรื้อน เป็นโรคที่พบมานานในประเทศไทย เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ ไม่ยอมรับ และไม่ได้รับการแก้ไขหรือได้รับการช่วยเหลืออย่างเท่าที่ควร จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงตระหนักถึงปัญหาโรคเรื้อนของประชาชนชาวไทยอย่างจริงจัง พระองค์ได้พระราชทานทุนอานันทมหิดลให้กับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจัดตั้ง “ราชประชาสมาสัย” ในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2501 เพื่อเป็นสถานศึกษา ค้นคว้า วิจัย ฝึกอบรม และให้ความรู้เรื่องโรคเรื้อน ดังนั้น จึงถือวันนี้ของทุกปีเป็น “วันราชประชาสมาสัย”
ในอดีตมีการรักษาโรคเรื้อนที่จังหวัดเชียงใหม่ ตามคำแนะนำของนายแพทย์ James W. Mckaen แพทย์มิชชันนารีชาวอเมริกันที่มารักษาโรคมาลาเรียที่เชียงใหม่และภาคเหนือ ในช่วง พ.ศ. 2430-2450 เข้าเฝ้าถวายคำแนะนำการรักษาโรคเรื้อนกับรัชกาลที่ 5 โดยเล่าวิธีการควบคุมโรคของประเทศแถบยุโรปว่า มีการสร้างสถานกักกันโรคแยกผู้ป่วยโรคเรื้อนจากคนทั่วไปเพื่อไม่ให้ระบาดสู่ชุมชน เพราะสมัยนั้นยังไม่มียารักษาโรคเรื้อน
ดังนั้น จึงได้พระราชทานที่ดินในเชียงใหม่จำนวน 400 ไร่เพื่อสร้างบ้านพักผู้ป่วย หลังจากนั้นมาจึงได้จัดตั้งสถานพยาบาลรักษาโรคเรื้อนตามลำดับ คือ สถาบันแมคเคน ที่เชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2451 โรงพยาบาลคริสต์เตียนมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท เมื่อ พ.ศ. 2464 และที่ป้อมปู่เจ้าสมิงพราย อำเภอพระประแดง ในพระราชินูปถัมภ์สมเด็จฯ พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ใช่ชื่อ สำนักคนป่วยโรคเรื้อนพระประแดง
จนถึง พ.ศ. 2484 กรมสาธารณสุขได้เปลี่ยนเป็นกระทรวงสาธารณสุข ได้สานต่อนโยบายรักษาโรคเรื้อนโดยออกพระราชบัญญัติโรคเรื้อนใน พ.ศ. 2486 เพื่อบังคับใช้กับผู้ป่วยโรคเรื้อนแยกผู้ป่วยไว้ในสถานการณ์พยาบาลตามแนวทางของยุโรป เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด เพราะตอนนั้นยังไม่มียารักษาโรคที่ทันสมัย แต่มีการใช้น้ำมันกระเบาฉีดเข้ากล้ามเนื้อรักษาทุกสัปดาห์ ซึ่งถือว่าเป็นยาที่ดีที่สุดในยุคนั้น
การปรับโครงสร้างเป็นกระทรวงสาธารณสุขส่งผลให้สำนักคนป่วยโรคเรื้อนพระประแดงถูกโอนจากสภากาชาดไทยไปอยู่ภายใต้กองควบคุมโรคเรื้อน กระทรวงสาธารณสุข และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลโรคเรื้อนพระประแดง ต่อมาถูกเปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันราชประชาสมาสัยในสมัยรัชกาลที่ 9
ใน พ.ศ. 2501 ถือเป็นยุคเร่งค้นหาผู้ป่วยและรักษาโรคเรื้อนที่บ้าน โดยเริ่มหลังจาก พ.ศ. 2500 เป็นปีที่ รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริถึงงานโรคเรื้อนกับนายแพทย์สวัสดิ์ แดงสว่าง อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น มีพระกระแสรับสั่งให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งจัดการกับปัญหาโรคเรื้อน โดยขอให้ใช้เวลารักษาเร็วขึ้นกว่าแผนที่นายแพทย์สวัสดิ์เสนอ
พระองค์จึงคิดวิธีแก้ปัญหาโดยการให้เร่งสร้างบุคลากร เพื่อออกไปค้นหาผู้ป่วยมารักษา โดยพระราชทานทรัพย์จากทุนอานันทมหิดลเป็นทุนเริ่มแรก จำนวน 175,064.75 บาท และเงินที่ได้รับบริจาคจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จำนวน 100,000 บาท รวมทั้งเงินที่พ่อค้าประชาชนโดยเสด็จพระราชกุศล รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 1,236,600 บาท เพื่อพระราชทานให้กรมอนามัย นำไปจัดสร้างอาคาร 4 หลัง ในบริเวณสถานพยาบาลโรคเรื้อนที่ป้อมปู่เจ้าสมิงพราย เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับค้นคว้าวิจัยโรคเรื้อน และฝึกอบรมแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศ โดยเฉพาะการเร่งรัดฝึกอบรมพนักงานบำบัดโรคเรื้อน (รับผู้จบ ม.6 เข้ารับการอบรมหลักสูตร 6 เดือน) ให้รวดเร็วเพียงพอต่อการขยายโครงการ
วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2501 รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารหลังแรก กระทั่งวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2503 เป็นวันเปิดศูนย์อบรมและวิจัยโรคเรื้อนในบริเวณโรงพยาบาลพระประแดง โดยพระองค์ทรงพระราชทานนามว่า “สถาบันราชประชาสมาสัย” และได้ทรงอธิบายความหมายว่า “พระราชาและประชาชนย่อมพึ่งพาอาศัยกัน” (Mutual support between the king and people)
โดยทรงเน้นว่า “เพื่อใช้ในการศึกษาค้นคว้าวิชาการเกี่ยวกับโรคเรื้อน และทำการฝึกอบรมพนักงานที่ออกไปทำการบำบัดให้ถูกต้องตามหลักวิชาตามแผนขยายงานควบคุมโรคเรื้อนต่อไป”
สถานที่นี้จึงเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ที่ใช้จัดการกับ โรคเรื้อน ทุกวันที่ 16 มกราคมของทุกปี กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิราชประชาสมาสัย พร้อมผู้ป่วยในโรงพยาบาลจึงได้ร่วมกันจัดงาน “วันราชประชาสมาสัย”
อ่านเพิ่มเติม :
- กำเนิด “โรงพยาบาลโรคติดต่อ” เพื่อรับมือการระบาด ในสมัยรัชกาลที่ 5
- การรับมือโรคระบาดสมัย ร.5 รัฐยุคใหม่เลิกไล่ผี-พิธีสวด เปลี่ยนมาใช้การแพทย์ตะวันตก
- “อาพาธพินาศ” พระราชพิธีโบราณ สมัย ร.2 ใช้บรรเทาทุกข์ประชาชนยามเกิดโรคระบาด
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
วารสารควบคุมโรค ปีที่ 35 ฉบับที่ 3 ก.ค.- ก.ย.2552. สถาบันวิจัย จัดการความรู้และมาตรฐานการควบคุมโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
http://www.rajprachafoundation.org/16600605/ประวัติมูลนิธิฯ
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มกราคม 2563