21 ธ.ค. 2480 “สโนว์ไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด” ฉบับดิสนีย์ฉายครั้งแรก แต่ต้นฉบับคือเวอร์ชั่นโหด?

(ซ้าย) ภาพวาดสโนว์ไวท์ โดย Heinrich Leutemann หรือ Carl Offterdinger ปลายศตวรรษที่ 19 [ภาพจาก Mein erstes Märchenbuch, Verlag Wilh. Effenberger, Stuttgart, Public Domain ถ่ายโดย Harke] (ขวา) นักแสดงแต่งเป็นตัวละครสโนว์ไวท์ที่ Shanghai Disney Resort ปี 2016 [ภาพจาก JOHANNES EISELE / AFP]

“กระจกวิเศษ จงตอบข้าเถิด ใครงามเลิศในปฐพี…” นี่คือ ประโยคคำถามเด็ดของราชินีแม่เลี้ยงใจร้าย ที่รู้จักกันอย่าแพร่หลายจากการ์ตูน “สโนว์ไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด”

สโนว์ไวท์และคนแคระทั้งเจ็ดเป็นภาพยนตร์การ์ตูนที่ผลิตโดยวอลท์ ดิสนีย์ มีโครงเรื่องจากนวนิยายเรื่อง สโนว์ไวท์ ผลงานการประพันธ์ของพี่น้องตระกูลกริมม์ สโนว์ไวต์กับคนแคระทั้งเจ็ด ออกฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2480 ที่สหรัฐอเมริกา

เนื้อเรื่องของสโนว์ไวท์ที่คนส่วนใหญ่รู้จักสโนว์ไวท์ คือ องค์หญิงแสนดีผู้งดงาม คนที่รู้จักเธอล้วนรักเธอ เว้นแต่ราชินีแม่เลี้ยงใจร้ายที่อิจฉาในความงามของเธอ จึงให้นายพรานมาฆ่าสโนไวท์ แต่นายพรานปล่อยเธอไป และได้อาศัยอยู่กับคนแคระ

ขณะที่ราชินีแม่เลี้ยงเข้าใจว่าสโนว์ไวท์ตายไปแล้ว จึงถามกระจกวิเศษว่า “กระจกวิเศษ จงตอบข้าเถิด ใครงามเลิศในปฐพี…” และคำตอบที่ได้คือ “สโนว์ไวท์” เธอจึงรู้ว่าสโนว์ไวท์ยังไม่ตาย

ราชินีแม่เลี้ยงใจร้ายออกตามหาสโนว์ไวท์จนพบ แล้วได้ปลอมตัวเพื่อหลอกให้สโนว์ไวท์กินแอปเปิ้ลที่มีพิษ เมื่อเธอกินเข้าไปก็ตาย แต่ก็ฟื้นคืนขึ้นมาได้เพราะจุมพิตของเจ้าชาย จากนั้นก็ต่อสู้กับราชินีจนทำให้ราชินีตาย ก่อนจะจบลงด้วยทุกคนอยู่อย่างเป็นสุข

แต่นั่นคือการ์ตูน ความจริงสโนว์ไวท์ในเวอร์ชันแรกไม่ได้เป็นอย่างนี้

คำ ผกา และอรรถ บุนนาค เขียนถึง “สโนว์ไวท์” ไว้ใน “คิดเล่นเห็นต่าง” (สำนักพิมพ์มติชน 2555) อธิบายว่าชิเรียว มิซาโอะ นักวรรณกรรมชาวญี่ปุ่น เขียนตีแผ่เทพนิยายอีกแง่มุมหนึ่งในหนังสือของเขาชื่อ “สิ่งที่น่ากลัวจริงๆ ในเทพนิยายของกริมม์” ดังนี้

“…สโนว์ไวท์ ฉบับที่เขียนไว้ในเวอร์ชันแรกว่าเป็นอย่างไร โดยเอามาจากฉบับที่คุณชินเรียว มิซาโอะ ทำสรุปความจริงไว้ว่า “แม่เลี้ยงใจร้าย” นั้นไม่ใช่แม่เลี้ยง ได้เป็นแม่ที่แท้จริงซึ่งจับได้ว่า พระราชาคือสามีของตนเองนั้นแอบมีอะไรกับลูกสาวแท้ๆ (สโนว์ไวท์) ของตัวเอง เพราะว่าสโนว์ไวท์ยังสาวอยู่ แม่ก็เกิดความอิจฉาริษยาเลยให้นายพรานล่อลวงไปฆ่า แต่ตอนหลังกระจกวิเศษก็บอกว่าสโนไวท์ยังมีชีวิตอยู่

สโนว์ไวท์รอดจากการตามฆ่าของแม่ถึง 3 ครั้ง ก่อนที่จะฆ่าสำเร็จในครั้งสุดท้าย คือ กินผลแอปเปิ้ลแล้วสลบไป ตายไป ทีนี้เจ้าชายต้นฉบับจริงไม่เคยปรากฏมาก่อน จู่ๆ พอมาเจอแล้วหลงรักสโนไวท์

ชิเรียว มิซาโอะ ตีความว่า จริงๆ แล้วเจ้าชายเป็นพวกที่ชอบมีอะไรกับศพ แบกสโนไวท์ขึ้นหลังมาเพราะตั้งใจจะเอาศพไปข่มขืน แล้วปรากฏว่าพอขึ้นหลังม้าขโหยกๆ ไป แอปเปิ้ลที่ติดหลอดลมติดคออยู่ก็หลุดออกมา สโนไวท์เลยฟื้นขึ้นมา เขาบอกว่าจริงๆ สโนว์ไวท์ตายไปแล้ว 3 หน แล้วฟื้นขึ้นมาเป็นซอมบี้ เป็นผีดิบขึ้นมา…นี่คือสโนไวท์ฉบับที่เป็นเวอร์ชั่นแรกของกริมม์ ก่อนที่จะกลายเป็นสโนว์ไวท์ในแบบฉบับของดิสนีย์ที่เราคุยกันทุกวันนี้

เป็นอันว่า 80 กว่าปีที่ผ่านมา การ์ตูนเทพนิยายอย่างสโนว์ไวท์ เสมือนยาหอมที่ทำให้ชุ่มชื่นใจ ให้ผู้ชมฝันกลางวัน รอคอยเจ้าชายและตอนจบแสนสุข…”

ที่ผ่านมา มีคนพยายามตีความนิยายของกริมม์ ไว้หลายทฤษฎี หลายทิศทาง ไม่ว่าใครจะคิดเห็นอย่างไรต่อเนื้อเรื่อง คงต้องยอมรับว่า ฉบับที่ดิสนีย์นำไปดัดแปลงเป็นฉบับที่ทำให้เนื้อเรื่องแพร่หลายจนเป็นที่จดจำของคนทั่วโลกจนถึงทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2562