ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
10 กันยายน วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เจ้านาย 6 แผ่นดิน
สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2405 และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2498 ทรงมีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา พระองค์ทรงเป็นพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ใน พ.ศ. 2423 มีพระราชโอรสธิดา รวม 8 พระองค์ ดังนี้
สมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ (พ.ศ. 2421- 37)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ (พ.ศ. 2422)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา (พ.ศ. 2424)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธารงฤทธิ์ (พ.ศ. 2425-42)
สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร (พ.ศ. 2427-81)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ (พ.ศ. 2431-41)
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (พ.ศ. 2435-72)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิง (พ.ศ. 2436)
นอกจากนี้ยังมีพระเจ้าลูกเธอ, พระเจ้าลูกยาเธอ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี เป็นผู้อภิบาล ด้วยกำพร้าพระมารดาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ 4 พระองค์ คือ 1. พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าเยาวภาพงษ์สนิท 2. พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ 3. พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าประภาพรรณพิไล 4. พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าวาปีบุษบากร
หรือก่อนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสวรรคตนั้น ได้มีพระราชดำรัสทรงฝากฝังพระราชธิดา (สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี) ที่พระประสูติกาลก่อนสมเด็จพระราชบิดาเสด็จสวรรคตเพียงหนึ่งวัน ไว้กับ “สมเด็จป้า” สมเด็จพระพันวัสสาเคยตรัสเรื่องนี้ว่า
“เจ้าฟ้านี่ฉันตายก็นอนตาไม่หลับ พระมกุฎฯ ทรงฝากฝังเอาไว้”
สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงดำรงพระชนม์ชีพยืนยาวถึง 6 แผ่นดิน (รัชกาลที่ 4-รัชกาลที่ 9) และบางครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนแผ่นดิน ก็มีการเฉลิมพระนามาภิไธยใหม่ เช่น เมื่อครั้งที่พระองค์เจ้าอานันทมหิดลจะขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ลำดับที่ 8 ในพระราชวงศ์ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีก็ทรงเปลี่ยนฐานะจาก “สมเด็จพระมาตุฉาเจ้า” เป็น “สมเด็จพระอัยยิกาเจ้า” เคยทรงปรารภด้วยความเสร้าพระราชหฤทัยว่า
“ดูใครๆ ก็ตายกันไปหมด ได้มีชีวิตยืนอยู่ก็ไม่เห็นมีอะไรจะดี เปลี่ยนชื่อไป เปลี่ยนชื่อมา จนจะจำชื่อตัวเองไม่ได้”
เมื่อเรียงพระนามของพระองค์แต่แรกประสูติ แล้วจะพบว่าทรงมีการเฉลิมพระนามาภิไธยถึง 7 ครั้ง ด้วยกันคือ
ในรัชกาลที่ 4 มีพระนามว่า
1. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา
ในรัชกาลที่ 5 มีพระนามโดยลําดับว่า
2. พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา
3. สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระราชเทวี
4. สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี
ในรัชกาลที่ 6 มีพระนามว่า
5. สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี
ในรัชกาลที่ 7 มีพระนามว่า
6. สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า
ในรัชกาลที่ 8 และรัชกาลปัจจุบัน มีพระนามว่า
7. สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
ข้างต้นนั้นเป็นพระนามที่เป็นทางราชการ ยังมีพระนามที่ไม่เป็นทางราชการอีก 4 พระนาม คือ 1. พระองค์หญิงกลาง 2. สมเด็จพระตําหนัก 3. สมเด็จสวนหงส์ 4. สมเด็จวังสระปทุม
ตลอดเวลา 93 ปี ในพระชนม์ชีพ ทรงพบเห็นเหตุการณ์สำคัญใหญ่น้อยขึ้นในบ้านเมืองมากมาย ได้ทรงเรียนรู้ด้วยพระสติปัญญา และกำลังพระทัยที่เข้มแข็ง ทำให้มีสายพระเนตรกว้างไกล จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ และทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อสาธารณะประโยชน์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการศึกษาและสาธารณสุข เช่น ทรงสนับสนุนกิจการตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเรื่อยมาของโรงศิริราชพยาบาล, โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ฯลฯ
ด้านการศึกษาพระองค์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อบำรุงโรงเรียนต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อาทิเช่น โรงเรียนราชินี กรุงเทพฯ, โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา, โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่, โรงเรียนเจ้าฟ้าสร้าง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น
ส่วนพระราชกรณียกิจสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือ การรับดอกไม้ธูปเทียนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถถวายในวันราชาภิเษกสมรส ที่ทรงจัดในวังสระปทุม วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ถวายน้ำพระมหาสังข์ และทรงเจิมทั้งสองพระองค์ เมื่อทรงเจิมสมเด็จพระบรมราชินีนาถเรียบร้อยแล้วตรัสว่า “เอ้า หันออกไปยิ้มกับผู้คนที่เขามางานซิ เขาอุตส่าห์มากันเต็มๆ ออกไปให้เขาเห็นหน่อย”
อ่านเพิ่มเติม :
- พระภรรยาเจ้ากับตำแหน่ง “พระอัครมเหสี” ในราชสำนักรัชกาลที่ 5 ใครคือ “เบอร์ 1” ?
- สมเด็จพระพันวัสสา ทรงมีพระนามมาก ถึงกับรับสั่งว่า “จนจะจำชื่อตัวเองไม่ได้”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า http://queensavang.org/
สมภพ จันทรประภา. สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ , สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทาน เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมราชวงศ์หญิง จีริก กิติยากร ณ เมรุ วัดเพทศิรินทราวาส 29 ตุลาคม 2528
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กันยายน 2562