ผู้เขียน | อนุชิต อุ่นจิต |
---|---|
เผยแพร่ |
หากจะกล่าวถึงหอคอยที่มีชื่อเสียงและเป็นที่น่าจดจำมากที่สุดในโลก ผู้คนมากมายมักจะนึกถึงหอไอเฟล (Eiffel Tower) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำแซน กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นอันดับแรก ๆ อย่างแน่นอนซึ่งเดิมทีเป็นหอคอยที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นซุ้มทางเข้างานแสดงสินค้าโลก ในปี ค.ศ. 1889 เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 100 ปี ปฏิวัติฝรั่งเศส[1] และในที่สุดได้ถูกเปลี่ยนเป็นสิ่งก่อสร้างเชิงสัญลักษณ์ของประเทศฝรั่งเศส
และเมื่อถามถึงประเทศฝรั่งเศสสิ่งแรกที่คนส่วนใหญ่มักนึกถึงก็คือหอคอยแห่งนี้ และหอคอยแห่งนี้ถูกออกแบบโดยวิศวกรและสถาปนิกชาวฝรั่งเศส ซึ่งจัดได้ว่าเป็นปรมาจารย์ในด้านการก่อสร้างด้วยเหล็กอย่าง อาเลกซ็องดร์ กุสตาฟ ไอเฟล (Alexandre Gustave Eiffel)
อาเลกซ็องดร์ กุสตาฟ ไอเฟล (Alexandre Gustave Eiffel) หรือ กุสตาฟ ไอเฟล (Gustave Eiffel) บิดาผู้ให้กำเนิดหอคอยที่แสดงเชิงสัญลักษณ์ของประเทศฝรั่งเศสอย่างหอไอเฟลบริเวณแม่น้ำแซน กรุงปารีส กุสตาฟ ไอเฟล เกิดเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 1832 ณ เมืองดิฌง ประเทศฝรั่งเศส ได้รับการศึกษาในโรงเรียนของท้องถิ่นจนถึงช่วงที่เขาต้องศึกษาต่อเขาได้ตัดสินใจไปศึกษาต่อที่กรุงปารีส
ไอเฟลศึกษาอยู่ที่สถาบัน Ecole Centrale de Paris ในปี ค.ศ. 1862 หลังจากจบการศึกษาไอเฟลได้ทำงานเป็นเลขาของ ชาร์ลส์ เนอป์เวอ จึงรู้จักและเข้าสู่วงการก่อสร้างโดยการใช้โครงเหล็กจากการชักนำของชาร์ลส์ เนอป์เวอ เนื่องจากช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมฝรั่งเศสได้มีการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพื่อนำพลังงานใหม่ ๆ มาใช้กับวงการอุตสาหกรรม เพื่อที่จะนำมาทดแทนการใช้ถ่านหิน เมื่อเซอร์เฮนรี เบสซิเมอร์ ค้นพบวิธีแยกแร่อื่น ๆ ออกจากเหล็กโดยทำให้เหล็กมีคุณสมบัติดีขึ้น[2] จากนั้นมาเหล็กได้เข้ามามีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมและการคมนาคมทุกประเภท
ในปี ค.ศ. 1887 เขากับเพื่อนอีก 2 คนคือ เวอร์ริส คลอกลินและ เอมิล เลจิเย ได้รับงานสร้างหอคอยสูงร่วมกันเพื่อใช้เป็นที่จัดแสดงสินค้าซึ่งจะเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1889 ซึ่งหอคอยสูงที่ไอเฟลสร้างขึ้นนั้นก็คือหอไอเฟลที่เราเห็นอยู่ในประเทศฝรั่งเศสทุกวันนี้
นอกจากหอไอเฟลแล้วไอเฟลยังได้สร้างผลงานอีกหลายอย่างเช่น โครงสร้างเหล็กอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพที่ประเทศสหรัฐอเมริกา, สะพานข้ามแม่น้ำดูโร (Douro) ที่ประเทศโปรตุเกส ซึ่งเป็นสะพานที่กว้างที่สุดในสมัยนั้น, Three-Hinged Arch สิ่งนี้เป็นประโยชน์ให้กับคนรุ่นหลังในด้านวิศวกรรมโยธา
ไอเฟลในวัย 73 ปี ได้สร้างห้องทดลองเกี่ยวกับการค้นคว้าอากาศพลศาสตร์ขึ้น เขาเริ่มทดลองแรงต้านทางของลมเป็นครั้งแรก และสิ่งแรกที่เขาสร้างคือ อุโมงค์ลม เป็นจุดกำเนิดของการศึกษาด้านการบิน ของประเทศฝรั่งเศส[3] ซึ่งเขาก็ได้อุทิศตนให้กับงานวิทยาศาสตร์อย่างเต็มตัว จนกระทั้งในวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1923 กุสตาฟ ไอเฟล ได้เสียชีวิตลงด้วยวัย 91 ปี ปิดตำนานปรมาจารย์สถาปัตย์จากโครงเหล็ก
อ้างอิง
[1] หอไอเฟล งานสถาปัตย์จากโครงเหล็ก กลางกรุงปารีส. 13 Dec 2018 .<www.iurban.in.th/travel/eiffel-tower>
[2]การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution). 13 Dec 2018 .< www.bootcampdemy.com/content/106-การปฏิวัติอุตสาหกรรม-industrial-revolution>
[3] กุสตาฟ ไอเฟล (Gustave Eiffel). 13 Dec 2018. <http://worldcivil14.blogspot.com/อารยธรรมโลก>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 ธันวาคม 2561