9 ธันวาคม 2522 WHO ประกาศ “ไข้ทรพิษ” หมดไปจากโลก

การ์ตูน ล้อเลียน การฉีกยา วัคซีน ไข้ทรพิษ
ภาพการ์ตูนล้อเลียนการฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ (https://zh.wikipedia.org)

ไข้ทรพิษ โรคระบาดที่หมดไปจากโลก แต่ก่อนหน้า จอร์จ วอชิงตัน, พระนเรศวร, พระยาพหลฯ เคยเจ็บป่วยด้วยโรคนี้มาทั้งนั้น ในไทยเองเคยระบาดจนมีผู้ป่วยกว่า 3 หมื่นคน และเมื่อ 9 ธันวาคม 2522 คณะกรรมการนักวิทยาศาสตร์องค์การอนามัยโลกรับรองการหมดไปทั่วโลกของโรคฝีดาษ นับเป็นโรคติดต่อในมนุษย์ชนิดเดียวจนปัจจุบันที่ถูกกำจัดไปจากธรรมชาติอย่างสมบูรณ์

ไข้ทรพิษ หรือ ฝีดาษ เกิดขึ้นในสมัยศตวรรษที่ 16 เมื่อคนผิวขาวจากตะวันตกเดินทางไปยังโลกใหม่ในอเมริกา ได้นำโรคฝีดาษไปแพร่ระบาดแก่คนพื้นเมืองชาวอินเดียแดงที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคเลยต้องตายเป็นจำนวนมาก ก่อนที่โรคจะบาดไปยังพื้นที่อื่นๆ ในเวลาต่อมา

ประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ได้บันทึกว่า จอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ ในวัยหนุ่มเคยเป็นโรคฝีดาษ เขาจึงต้องต่อสู้กับโรคร้ายและทหารอังกฤษไปพร้อมกัน และเมื่อรู้ตัวว่าเป็นโรคเขาก็สั่งให้ทหารทุกคนในกองทัพเข้ารับการปลูกฝีทันที ซึ่งมีผลทำให้กองทัพของเขารบชนะข้าศึกในที่สุด

การป้องกันไข้ทรพิษเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2339 เอดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) ได้คิดค้นวิธีการสร้างภูมิต้านทาน (vaccination) และใช้ป้องกันการติดเชื้อโรคฝีดาษ ทำให้ทั่วโลกต่อสู้กับโรคร้ายนี้ได้ หลังจากที่ เจนเนอร์ พบวัคซีนฝีดาษแล้ว สถิติการระบาดและการเสียชีวิตของผู้คนด้วยโรคฝีดาษก็ลดลงเรื่อยๆ  เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2521 มีรายงานว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคฝีดาษเป็นคนสุดท้ายในโซมาเลียและก็ได้รับการรักษาจนหาย

สำหรับประเทศไทย มีบุคคลสำคัญ ป่วยเป็นไข้ทรพิษหลายท่าน เช่น สมเด็จพระบรมราชาที่ 4  พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาทรงประชวรด้วยไข้ทรพิษสวรรคต, สมเด็จพระนเรศวรเองก็เคยทรงประชวรด้วยไข้ทรพิษ โดยเมื่อครั้งที่สมเด็จสมเด็จพระมหาธรรมราชา พร้อมด้วยพระนเรศวร ยกกองทัพไปช่วยพระเจ้าหงษาวดีตีลานช้าง เมื่อ พ.ศ. 2117 พระนเรศวรประชวรด้วยไข้ทรพิษ พระเจ้าหงษาวดีจึงอนุญาตให้พระองค์ยกทัพกลับ,พระยาพหลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของไทยเมื่ออายุ 2 ปี  ฯลฯ

มีการระบาดรุนแรงหลายครั้ง เช่น ช่วงสงครามเอเชียมหาบูรพา ใน พ.ศ. 2488 มีผู้ป่วยถึง 36,394 คน เสียชีวิต 8,606 คน เนื่องจากเชลยพม่าที่กองทัพญี่ปุ่นเกณฑ์มาใช้แรงงานที่กาญจนบุรีเริ่มป่วยเป็นไข้ทรพิษ ก่อนจะแพร่กระจายไปสู่กรรมกรไทยที่มารับจ้างทำงานและนำเชื้อโรคกลับไปแพร่กระจายในชุมชนตัวเองอีก

ส่วนการป้องกันนั้น  ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2446 กระทรวงธรรมการได้ส่งพระบำบัดสรรพโรค หรือ หมอแฮนซ์ อดัมเซ็น (Hans Adamsen) แพทย์ใหญ่ผู้ตรวจการในกรมพยาบาลและหลวงวิฆเนศน์ประสิทธิวิทย์ (อัทย์ หสิตะเวช) แพทย์ผู้ช่วยออกไปศึกษาวิธีผลิตวัคซีนป้องกันโรคระบาดสัตว์พาหนะที่ประเทศฟิลิปปินส์ บังเอิญนายแพทย์ทั้งสองได้ไปเห็นวิธีการผลิต “พันธุ์บุพโพไข้ทรพิษ” จึงได้ศึกษาวิธีการผลิตมาด้วย

เมื่อกลับมาถึงประเทศไทย ก็ทำรายงานขึ้นเสนอต่อพระยาวุฒิการบดี (เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร) เสนาบดีกระทรวงธรรมการแนะนำให้รัฐบาลจัดตั้ง “กอเวอนเมนต์ซีร่ำแลโบแร็ตโตรี” สำหรับผลิตพันธุ์หนองฝีขึ้นใช้ปลูกป้องกันไข้ทรพิษภายในประเทศ ในที่สุดรัฐบาลก็ตั้งสถานผลิตพันธ์หนองฝีขึ้นในบริเวณร้านขายยาของพระบำบัดสรรพโรคสี่กั๊กพระยาศรี เมื่อ พ.ศ. 2448

ต่อมาใน พ.ศ. 2449 จึงได้ย้ายสถานผลิตพันธุ์หนองฝีไปตั้งที่ ตำบลห้วยจรเข้ จังหวัดนครปฐม (ภายหลังเมื่อ พ.ศ. 2456 ได้ย้ายกลับมารวมอยู่ในปัสตุรสภา ถนนบำรุงเมือง จังหวัดพระนคร) ใน พ.ศ. 2465 เมื่อได้ตั้งสถานเสาวภาขึ้นในสภากาชาดไทยก็ได้ย้ายไปผลิตที่นี่แทน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

นายแพทย์ประเมิน จันทวิมล “ประวัติการควบคุมโรคติดต่ออันตรายในประเทศไทย” อนุสรณ์กระทรวงสาธารสุข 20 ปี พ.ศ. 2485-2505

หนังสือประวัติครู (16 มกราคม 2505) จัดพิมพ์โดยคุรุสภา


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 ธันวาคม 2561