เผยแพร่ |
---|
วันที่ 21 มีนาคมของทุกปีถูกเลือกให้เป็นวันป่าไม้โลกเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้ ตามมติของที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2012
ปัจจุบันพื้นดินของโลกมีพื้นที่ป่าปกคลุมราว 31 เปอร์เซนต์ โดยมีผู้คนราว 1.6 ล้านคนที่ต้องพึ่งพาป่าไม้ในการเป็นแหล่งอาหาร เชื้อเพลิง และยารักษาโรค และยังมีประชากรกว่า 300 ล้านคนที่ยังตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ป่า
ประเทศไทยเคยมีพื้นที่ป่าไม้ราว 138.57 ล้านไร่ ในปี 1973 คิดเป็น 43.21 เปอร์เซนต์ ก่อนลดลงเหลือเพียง 82.18 ล้านไร่ ในปี 1998 หรือราว 25.28 เปอร์เซนต์ และได้เพิ่มขึ้นเป็น 107.24 ล้านไร่ (33.44%) ในปี 2008 ก่อนลดลงเหลือ 102.28 ล้านไร่ (31.62%) ในปี 2014 และได้เพิ่มขึ้นเป็น 102.48 ล้านไร่ (31.68%) ในปี 2018 (ตัวเลขจากกรมป่าไม้)
ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า ยังคงรักษาพื้นที่ป่าไว้ได้เป็นสัดส่วนที่สูงกว่า 69 เปอร์เซนต์ (ตัวเลขในปี 2010) คิดเป็นเนื้อที่ราว 24.98 ล้านเฮกตาร์ (ราว 156.13 ล้านไร่) โดยเป็นป่าที่ปลูกขึ้นใหม่ราว 41 เปอร์เซนต์
การปลูกป่าของญี่ปุ่นเป็นนโยบายสำคัญเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่าสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมทั้งการก่อสร้างและเชื้อเพลิง หลังพื้นที่ป่าจำนวนมากเสียหายไประหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม้ส่วนใหญ่จึงมิใช่ต้นไม้ท้องถิ่นแต่เป็นไม้ซีดาร์ที่เหมาะสำหรับการใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ
ส่วนประเทศไทยมีตัวเลขป่าที่ปลูกขึ้นใหม่อยู่ที่ราว 21 เปอร์เซนต์ (ตัวเลขจากปี 2010) ขณะที่ความต้องการใช้ไม้เศรษฐกิจภายในประเทศมีสูงถึง 41.4 ล้านตัน โดยกรมป่าไม้ได้ส่งเสริมให้เอกชนปลูกไม้เศรษฐกิจไปแล้ว 0.83 ล้านไร่ ยังคงขาดพื้นที่ป่าไม้เศรษฐกิจเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในการบริโภคอีกว่า 16.28 ล้านไร่ (ตัวเลขในปี 2014)
จากตัวเลขข้างต้นกล่าวได้ว่าไทยยังคงต้องทำงานอีกมากในการจัดการพื้นที่ป่าเพื่อให้ทรัพยากรป่าไม้คงอยู่อย่างยั่งยืน ในภาวะที่ปัญหาโลกร้อนเริ่มเห็นผลได้ชัดมากขึ้นทุกวัน
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 21 มีนาคม พ.ศ.2559