5 มกราคม 2452 วันพิราลัย เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ฯ เจ้าหลวงเชียงใหม่

เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ (ภาพจากหนังสือ "สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่มที่ 15")

เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ฯ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 8 นามเดิมว่าเจ้าน้อยสุริยเมฆะ ประสูติเมื่อวันศุกร์ เดือน 6 ขึ้น 5 ค่ำ ปีมะแม จุลศักราช 1221 (พ.ศ. 2402) เป็นบุตรของเจ้าอินทวิชยานนท์ฯ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7 กับแม่เจ้ารินฅำพระธิดาของเจ้าไชยลังกาพิศาลคุณ

เมื่อถึง พ.ศ. 2432 ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเป็น “เจ้าราชบุตร” และได้ช่วยราชการพระเจ้าเชียงใหม่ซึ่งเป็นพระบิดา ในช่วงเวลาที่รับราชการอยู่ได้ทำหน้าที่ด้านการบ้านการเมือง

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2444 ได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรแต่งตั้งเป็น “เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ ดำรงนพีสีนคร สุนทรทศลักษ์เกษตร วรฤทธิเดชดำรง จำนงยุติธรรมสุจริต วิศิษฐ์สัตยธาดา มหาโยนางคราชวงศาธิบดี” เจ้านครเชียงใหม่

สมัยเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ฯ เป็นยุคของเจ้าผู้ครองนคร ไม่ได้มีสภาพเป็นเจ้าประเทศราชของกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากส่วนกลางได้ส่งข้าหลวงเทศาภิบาลดำเนินการจัดการปกครองแบบใหม่ตามแบบแผนเทศาภิบาล

โดยมีมณฑลพายัพ หรือ มณฑลลาวเฉียง และมณฑลมหาราษฎร์ เป็นมณฑลในอาณาจักรล้านนา โดยราชสำนักกรุงเทพฯ ส่งข้าหลวงขึ้นมาช่วยให้คำแนะนำเจ้านายฝ่ายเหนือในการบริหารราชการ และได้มีการแต่งตั้งตำแหน่งเสนากรมขึ้นมาใหม่ 6 ตำแหน่ง โดยให้คงตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครอยู่ แต่ลดอำนาจลงล้านนาได้ถูกปฏิรูปการปกครองเป็นแบบ มณฑลเทศาภิบาล เป็นการยกเลิกฐานะหัวเมืองประเทศราช และผนวกดินแดนล้านนาที่อยู่ใต้การปกครองของเชียงใหม่มาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม

ในบั้นปลายชีวิตของเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ฯ ทรงพระกรรสะ แพทย์หลวงตรวจดูอาการพบว่า พระปัปผาสะเสีย มีอาการประชวรเรื่อยมา จนถึงแก่พิราลัยในวันที่ 5 มกราคม 2452

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่มที่ 15“. จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2542

เว็บไซต์ wikipedia. “เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์”


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 มกราคม 2562