126 ปี ศิลป์ พีระศรี

(ภาพจากหนังสือ 100 ปี นิทรรศการเชิดชูเกียรติ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี)

ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ประติมากรจากเมืองฟลอเรนซ์ที่เข้ามารับราชการในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เดิมชื่อ คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) เป็นชาวอิตาลีสัญชาติไทย เกิดเมื่อวันที่ เกิดวันที่ 15 กันยายน 2435 ในเขตซานโจวันนี (San Giovanni) เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เป็นบุตรของนายอาตูโด เฟโรชีและนางซานตินา เฟโรชี ซึ่งประกอบธุรกิจการค้า และมีความสนใจในวิชาศิลปะมาตั้งแต่วัยเด็กทั้งยังสนใจและชื่นชอบในผลงานประติมากรรมของมิเกลันเจโลและโลเรนโซ กีแบร์ตีในมหาวิหารฟลอเรนซ์เป็นอย่างมาก จึงได้สมัครเป็นลูกมือช่วยงานศิลปินที่มีชื่อเสียงตามสตูดิโอต่างๆของเมืองฟลอเรนซ์

เมื่อเติบโตได้เข้าศึกษาในสถาบันศิลปแห่งนครฟลอเรนซ์ (Accademia di Belle Arti di Firenze) หลักสูตร 7 ปี ในปีพ.ศ. 2451 และจบการศึกษาในปีพ.ศ. 2458 ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง และได้รับประกาศนียบัตรช่างปั้นช่างเขียน ต่อมาได้สอบคัดเลือกและได้รับตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ประจำราชวิทยาลัย ศาสตราจารย์คอร์ราโดมีความรอบรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ มีความสามารถทางด้านศิลปะแขนงประติมากรรมและจิตรกรรมเป็นอย่างสูง ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะมากมายและได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดออกแบบอนุสาวรีย์จากรัฐบาลหลายครั้ง อาทิเช่น ผลงานอนุสาวรีย์ผู้กล้าในสงครามโลกครั้งที่ 1 บนเกาะเอลบา เป็นต้น

Advertisement

การเข้ารับราชการในไทย

ปี พ.ศ. 2466 ศาสตราจารย์คอร์ราโด ได้ชนะการประกวดการออกแบบเหรียญเงินตราสยามที่จัดขึ้นในยุโรป พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระประสงค์ต้องการบุคลากรที่เชี่ยวชาญในด้านศิลปะตะวันตกเพื่อฝึกสอนช่างไทยให้มีความสามารถในการสร้างงานประติมากรรมแบบตะวันตก ทางรัฐบาลอิตาลีจึงได้ยื่นข้อเสนอโดยการส่งคุณวุฒิและผลงานของ ศาสตราจารย์คอร์ราโดให้สยามพิจารณา โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นบุคคลสำคัญในการคัดเลือกศาตราจารย์คอร์ราโดให้มาปฏิบัติงานในไทย ด้วยเหตุนี้จึงได้เดินทางเข้าสู่สยามพร้อมกับภรรยาและบุตรสาว เพื่อเข้ามารับราชการเป็นช่างปั้นประจำกรมศิลปากร กระทรวงวัง เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2466 และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนวิชาช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภา ในปี พ.ศ. 2469

แรกเริ่มได้วางหลักสูตรอบรมให้แก่ผู้ที่สนใจในวิชาประติมากรรมซึ่งส่วนมาจบการศึกษามาจากโรงเรียนเพาะช่างโดยไม่เก็บค่าธรรมเนียมใดๆ ซึ่งต่อมาบุคคลที่ผ่านการอบรมก็ได้เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของกิจการงานปั้นหล่อของกรมศิลปากร ทำให้ทางราชการได้ขอให้ศาสตราจารย์คอร์ราโดวางหลักสูตรการศึกษารูปแบบเดียวกันกับสถาบันศิลปยุโรป

ได้วางหลักสูตรวิชาจิตรกรรมและประติมากรรมขึ้นพร้อมกับก่อตั้ง โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ขึ้น สังกัดกรมศิลปากร ภายหลังได้รวมโรงเรียนเข้ากับโรงเรียนนาฏยดุริยางคศาสตร์และเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง” มีการพัฒนาการเรียนการสอนเรื่อยมา จนในปี พ.ศ. 2485 กรมศิลปากรได้แยกจากกระทรวงศึกษาธิการไปขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งตรงกับรัฐบาลในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม มองเห็นความสำคัญของศิลปะที่เป็นวัฒนธรรมสำคัญสาขาหนึ่งของชาติจึงได้มีคำสั่งให้ อธิบดีกรมศิลปากร ในขณะนั้นคือ พระยาอนุมานราชธน ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตร และตราพระราชบัญญัติ ยกฐานะ “โรงเรียนศิลปากร” ขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยศิลปากร” เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2486 โดยจัดตั้งคณะจิตรกรรมและประติมากรรม ขึ้นเป็นคณะวิชาแรก ซึ่งศาสตราจารย์คอร์ราโดก็ได้ดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยควบคู่ไปกับตำแหน่งอาจารย์ผู้สอนอีกด้วย

ศาสตราจารย์ศิลป์ทุ่มเทเวลาและอุทิศชีวิตให้กับวงการศิลปะไทยเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2505 และได้ล้มป่วยลงจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ก่อนที่จะถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 ที่โรงพยาบาลศิริราช ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวภายหลังการเข้ารับการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมสิริอายุได้ 69 ปี 7เดือน 29 วัน

อ้างอิง (https://th.wikipedia.org/wiki/)