ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ราชสำนักไทยได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ของการสถาปนา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินครั้งแรกเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ ภายหลังธรรมเนียมการสืบสันตติวงศ์แบบคลุมเครือดำเนินมาเนิ่นนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ที่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ในฐานะองค์มกุฎราชกุมาร เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ นับเป็นประเพณีใหม่ที่เกิดขึ้นเมื่อ ๑๐๐ กว่าปีมานี้เอง
เหตุผลเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกเลิกการแต่งตั้งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลลงโดยสิ้นเชิงใน พ.ศ. ๒๔๒๙ แล้วทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชโอรสองค์ใหญ่ขึ้นเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร” ตามแบบของการสืบสันตติวงศ์อย่างสากลแทน
หากสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สวรรคตด้วยพระโรคไข้รากสาดน้อย เมื่อวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๗ รัชกาลที่ ๕ จึงทรงทรงสถาปนาพระราชโอรสองค์โตในสมเด็จพระนางเธอเสาวภาผ่องศรี ผู้มีพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธฯ กรมขุนเทพทวาราวดี ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร องค์ที่ ๒ สืบต่อไป
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์มีพระราชดำรัสให้ทำการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เฉลิมพระราชมนเฑียร ใน พ.ศ. ๒๔๕๓ เนื่องจากยังอยู่ในช่วงไว้ทุกข์งานพระบรมศพสมเด็จพระบรมชนกนาถ จึงโปรดให้งดการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครและการรื่นเริง
ต่อมาทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชให้สมบูรณ์ใน พ.ศ. ๒๔๕๔ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง และให้นานาประเทศที่มีสัมพันธ์ทางพระราชไมตรีมาร่วมในพระราชพิธี โดยยึดแบบอย่างเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่โปรดให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๒ ครั้ง
ภายหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ใน พ.ศ. ๒๔๕๔ แล้ว ราชอาณาจักรสยามก็ว่างเว้นพระราชประเพณีนี้เรื่อยมาเป็นเวลานาน เนื่องจากมิได้มีการสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร อีกเลยในรัชกาลที่ ๗ และรัชกาลที่ ๘
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อฟื้นประเพณีนี้อีกครั้งใน พ.ศ. ๒๕๑๕ ด้วยการสถาปนาพระราชโอรสพระองค์เดียวของพระองค์ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ในฐานะองค์รัชทายาทตามขัตติยราชประเพณีโบราณ
และเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ก็มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นเป็นสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
อ้างอิงจาก
ไกรฤกษ์ นานา. “พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ในประวัติศาสตร์ไทย” ในศิลปวัฒนธรรม ธันวาคม 2559.
หนังสือประมวลความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, กระทรวงวัฒนธรรมจัดพิมพ์ เนื่องในมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562