“พระราชลัญจกร” ในกรุงรัตนโกสินทร์ ตราแสดงพระราชอำนาจปกครองราชการแผ่นดิน

พระราชลัญจกร
พระราชลัญจกรสําหรับแผ่นดินและประจําพระองค์รัชกาลที่ ๑

พระราชลัญจกร คือตราสำหรับพระมหากษัตริย์ใช้ประทับในเอกสารสําคัญ อันแสดงถึงพระราชอํานาจในการปกครองบริหารราชการแผ่นดิน หรือเป็นสัญลักษณ์ที่ทรงเป็นพระประมุขของประเทศชาติ 

พระราชลัญจกรแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ๑. พระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดิน ๒. พระราชลัญจกรประจำพระองค์

Advertisement

พระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดิน หมายถึงพระตราที่ใช้ประทับกำกับเอกสารสำคัญ ที่ออกในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ โดยมิได้สำหรับประทับกำกับพระปรมาภิไธยในรัชกาลใดเป็นการเฉพาะ ประกอบด้วย พระราชลัญจกรมหาโองการ พระราชลัญจกรหงสพิมาน และพระราชลัญจกรไอยราพต

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ หมายถึงพระตราที่มีพระบรมราชสัญลักษณ์แต่ละรัชกาล ใช้ประทับกำกับเอกสารส่วนพระองค์ที่ไม่เกี่ยวข้องด้วยราชการแผ่นดิน

ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระราชลัญจกรองค์เดียวกัน ทั้งสำหรับเอกสารราชการแผ่นดิน และเอกสารส่วนพระองค์

ต่อมารัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระราชลัญจกรแยกกัน ระหว่างเอกสารราชการแผ่นดิน และเอกสารส่วนพระองค์

ตัวอย่าง ความหมายของพระราชลัญจกร และการใช้พระราชลัญจกร ของรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๕ มีดังนี้

พระราชลัญจกรสําหรับแผ่นดินและประจําพระองค์รัชกาลที่ ๑ 

เป็นตรางา ลักษณะกลม รูปปทุมอุณาโลม มีอักขระ อุ อยู่กลาง อุ มีลักษณะเป็นม้วนกลม คล้ายลักษณะความหมายของพระปรมาภิไธยว่า ด้วง จึงใช้อักขระ อุ เป็นมงคลแก่พระปรมาภิไธย และเพื่อความงดงามจึงล้อมรอบด้วยกลีบบัว เพราะดอกบัวเป็นพฤกษชาติที่เป็นสิริมงคลของพระพุทธศาสนา

พระราชลัญจกรนี้ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใช้ประทับในต้นเอกสารสําคัญทั้งทางราชการและส่วนพระองค์ และปรากฏมีใช้ประทับในเงินพดด้วงสําหรับซื้อขาย ชําระหนี้ 

ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จสวรรคตแล้ว ต่อมาเมื่อมีการเชิญพระบรมอัฐิธาตุไปบรรจุที่ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จึงได้สลักรูปปั้นนูนพระราชลัญจกรปทุมอุณาโลมประดิษฐานที่ผ้าทิพย์ด้วย

พระราชลัญจกรประจําพระองค์รัชกาลที่ ๕

เป็นตรางา ลักษณะกลมรี รูปพระเกี้ยวยอดมีรัศมี ประดิษฐานบนพานทองสองชั้น เป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า จุฬาลงกรณ์ ซึ่งแปลความหมายว่า เป็นศิราภรณ์ชนิดหนึ่งอย่างมงกุฎ เคียงด้วยฉัตรบริวาร ๒ ข้าง ที่ริมขอบทั้ง ๒ ข้างมีพานทองสองชั้นวางพระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรข้างหนึ่ง วางสมุดตําราข้างหนึ่ง พระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรและสมุดไทยนั้นเป็นการเจริญรอยจําลองจากพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นพระบรมชนกนาถ

พระราชลัญจกรนี้ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสําหรับใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสําคัญส่วนพระองค์ ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน

เช่น ใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในประกาศนียบัตรเหรียญรัตนาภรณ์ของพระองค์ ใช้ประทับในเงินพดด้วงและเหรียญกษาปณ์ซึ่งใช้ซื้อขาย ชําระหนี้ ใช้เป็นตราหน้า หมวกทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

นอกจากนี้ ยังใช้เชิญประดิษฐานที่หน้าบันพระอุโบสถพระอารามหลวงที่ได้ทรงสร้างและทรงปฏิสังขรณ์ เช่น วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม หน้าบันพระที่นั่งทรงผนวช วัดเบญจมบพิตร เป็นต้น


อ้างอิง

เพลินพิศ กำราญ. “พระราชลัญจกร” ใน, ศิลปวัฒนธรรม เมษายน ๒๕๒๕.

ดร. นนทพร อยู่มั่งมี, ผศ. ดร. พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์. เสวยราชสมบัติกษัตรา, สำนักพิมพ์มติชน ๒๕๖๒.