ธรรมเนียมการตั้ง “พระปรมาภิไธย” ของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ที่ขึ้นครองราชย์ 

วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระปรมาภิไธย

“พระปรมาภิไธย” แปลว่า “ชื่อ” เป็นคำที่ใช้เฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น ส่วนพระบรมวงศ์อื่น เช่น สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯลฯ ใช้ว่า พระนามาภิไธย 

ธรรมเนียมการตั้งพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ที่ขึ้นครองราชย์ เพื่อจารึกลงในพระสุพรรณบัฏ แต่เดิมมานั้นเป็นพระปรมาภิไธยที่มีความยาวหลายบรรทัด ใช้คำศัพท์ภาษาบาลีและสันสกฤตที่ผูกขึ้นอย่างประณีต

Advertisement

หลักการสำคัญของการตั้ง “พระปรมาภิไธย” คือ เพื่อให้ได้เสียงที่ไพเราะ เพื่อสื่อความถึงพระคุณวิเศษของพระมหากษัตริย์พระองค์นั้น และเพื่อสื่อถึงสายราชสกุลของพระมหากษัตริย์พระองค์นั้น

ดังนั้น พระปรมาภิไธยในพระสุพรรณบัฏของรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้เป็นอย่างเดียวกัน คือ ขึ้นต้นว่า “พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี” และลงท้ายด้วย “บรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว” 

เช่น พระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อพระองค์ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีแล้ว พระองค์มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

“พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร ตรีภูวเนตรวรนารถนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศรัย สมุทัยดโรมนต์ สกลจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทรธาดาธิบดี ศรีสุวิบุลยคุณอขนิษฐ์ ฤทธิราเมศวรมหันต์ บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชไชย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศร์ โลกเชฏฐวิสุทธิ์ รัตนมกุฎประเทศคตามหาพุทธางกูร บรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว”

ต่อมา ตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เปลี่ยนเป็นขึ้นต้นด้วย “พระบาทสมเด็จพระปรมินทร” หรือ “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทร” 

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระปรมาภิไธยที่จารึกในพระสุพรรณบัฏปรากฏดังนี้

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร”

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดให้มีการเฉลิม “พระปรมาภิไธย” ตามพระสุพรรณบัฏว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณมหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”


อ้างอิง

เว็บไซต์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒. http://phralan.in.th