ความหมายและนัย “พิธีสรงน้ำพระมุรธาภิเษก” ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

มุรธาภิเษก

“มุรธาภิเษก” แปลว่า การรดน้ำที่พระเศียร น้ำที่รดเรียกว่า “น้ำมุรธาภิเษก” ที่ผ่านการทำพิธีกรรมมาแล้ว ดังนั้นการสรงพระมุรธาภิเษกจึงเป็นการชำระล้างให้สะอาดและศักดิ์สิทธิ์ ในแง่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงหมายถึง การยกให้หรือการแต่งตั้งโดยการทำพิธีรดน้ำ ซึ่งตามคติความเชื่อของพราหมณ์ ถือว่าการยกให้ผู้ใดเป็นใหญ่ทรงสิทธิ์อำนาจนั้นจะต้องทำด้วยพิธีรดน้ำศักดิ์สิทธิ์

เนื่องจากสภาพภูมิอากาศในไทยเป็นเมืองร้อน การอาบน้ำเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการอาบน้ำเพื่อชำระร่างกายให้สะอาดก่อนเข้าพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป แต่การมุรธาภิเษก มีความสำคัญอย่างหนึ่งคือมีนัยถึงการเปลี่ยน ได้รับอำนาจ หรือเปลี่ยนสถานะเป็นผู้มีอำนาจอย่างสมบูรณ์สุดในอาณาจักร

Advertisement

ธรรมเนียมการมุรธาภิเษกเพื่อสถาปนาอำนาจ หรือยกให้บุคคลที่ได้รับการมุรธาภิเษกเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ของทางศาสนาพราหมณ์ที่มีอายุเก่ากว่าพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น แนวคิดเรื่องมุรธาภิเษกเกิดมาอย่างน้อย ๓,๐๐๐ ปีเป็นขั้นต่ำ

การมุรธาภิเษกเป็นการรดน้ำ เพื่อให้เทวดารดน้ำพระอินทร์ มีนัยคือให้พระอินทร์เป็นเทวดาที่ยิ่งใหญ่บนสวรรค์ พิธีกรรมนี้จึงถูกจำลองในพิภพมนุษย์ กล่าวคือเปลี่ยนจากพระอินทร์เป็นพระราชา และขุนนางอำมาตย์แทน

พุทธศาสนาได้ยอมรับแนวคิดนี้ของศาสนาพราหมณ์ มีหลักฐานปรากฏว่า คำว่าอภิเษกในวรรณกรรมฝ่ายบาลี หมายถึง The Coronation คือสถาปนาหรือบรมราชาภิเษกเช่นเดียวกัน มีฉากจิตรกรรมปรากฏที่ถ้ำอชันตา อินเดีย ตอนสรงมุรธาภิเษกพระมหาชนก ซึ่งคือเรื่องหนึ่งในชาดกที่รู้จักกันดี

แนวคิดเรื่องมุรธาภิเษกที่ปรากฏในไทย พบในศิลาจารึกปากน้ำมูล และจารึกถ้ำภูหมาไน ซึ่งเป็นของพระเจ้ามเหนทรวรมัน ได้กล่าวถึงคำว่าอภิเษก อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการทำอภิเษกครั้งนั้นมีลักษณะอย่างไรยังไม่สามารถระบุได้ เพราะไม่มีรายละเอียดจารึกไว้

ในจารึกสุโขทัยก็มีพูดถึงการอภิเษกเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดมากนัก หลักฐานถัดมาคือปรากฏอยู่ในกฏมณเฑียรบาล ในที่นี้คือกฎหมายว่าด้วยขนบธรรมเนียม ข้อปฏิบัติของข้าราชการสมัยกรุงศรีอยุธยา ตราขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในสมัยอยุธยามีการอภิเษกหลายครั้ง แต่ละครั้งมีความหมายไม่เหมือนกัน

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มณฑปพระกระยาสนาน เป็นสถานที่สำหรับพระมหากษัตริย์สรงสนาน โดยจะประดิษฐานบริเวณชาลารอยต่อพระที่นั่งไพศาลทักษิณ กับพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง 

มณฑปพระกระยาสนานมีลักษณะเป็นมณฑปหุ้มผ้าขาวแต่งด้วยเครื่องทองคำ เพดานดาดผ้าขาว มีสหัสธารา สำหรับไขน้ำพระมุรธาภิเษกจากบนเพดานให้โปรยลงยังที่สรง ผูกพระวิสูตรขาวทั้ง ๔ ด้าน ภายในมณฑปตั้งตั่งอุทุมพรหรือไม้มะเดื่อบนถาดทองรองน้ำสรง

เมื่อใกล้พระฤกษ์สรงพระมุรธาภิเษก พระมหากษัตริย์ทรงพระภูษาเศวตพัสตร์ ทรงสะพักขาวขลิบทองคำ แล้วเสด็จขึ้นบนพระมณฑปพระกระยาสนานประทับเหนือตั่งไม้

ตั่งไม้มะเดื่อหรือตั่งอุทุมพรเป็นตั่งรูปกลมสี่ขา หุ้มผ้าขาว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระบรมราชาธิบายในพระราชพิธีสิบสองเดือนไว้ว่า ใช้สำหรับผู้ได้รับอภิเษกเฉพาะพระมหากษัตริย์ พระอัครมเหสี พระราชเทวี สมเด็จพระสังฆราช และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า เมื่อลงสรงโสกันต์รับพระสุพรรณบัฏเท่านั้น

วันสรงพระมุรธาภิเษกเบื้องพระพักตร์ทอดเครื่องพระครอบพระมุรธาภิเษกสนานบนถาดสรงพระพักตร์ ส่วนบริเวณพื้นอ่างที่รองรับพระบาท จะทอดใบไม้นามกาลกิณีให้ทรงเหยียบในเวลาสรง

เช่น ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงเหยียบใบกระถิน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงเหยียบใบตะขบ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ทรงเหยียบใบอ้อ เป็นต้น

ระหว่างพิธีพระมหากษัตริย์จะต้องประทับหันหลังให้กับทิศที่เป็นกาลกิณีของวันประกอบพิธี ส่วนเบื้องพระพักตร์จะหันสู่ทิศที่เป็นมงคล เช่น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงแปรพระพักตร์ไปยังทิศตะวันออกเฉียงเหนือ, รัชกาลที่ ๖ ทรงแปรพระพักตร์ยังทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น

เมื่อขึ้นประทับในมณฑปแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงวักน้ำจากพระครอบพระมุรธาภิเษกสรงพระเจ้าหรือเส้นผมเป็นปฐม เมื่อถึงมหาอุดมมงคลฤกษ์ โหรลั่นฆ้องชัย เจ้าพนักงานภูษามาลาไขสหัสธาราโปรยน้ำพระมุรธาภิเษกจากเพดานมณฑป การถวายพระมุรธาภิเษกด้วยสหัสธารานั้น รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระบรมราชาธิบายว่า ถือเป็นเกียรติยศใหญ่สำหรับพระมหากษัตริย์เท่านั้น

เมื่อเสร็จขั้นตอนนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเปลี่ยนฉลองพระองค์ แล้วเสด็จเข้ายังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เพื่อประทับบนพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ มีลักษณะเป็นพระที่นั่งทรงแปดเหลี่ยม ที่พระองค์จะทรงรับน้ำอภิเษกจากพราหมณ์ พระราชบัณฑิต รวมทั้งผู้แทนจากราษฎร ทรงรับน้ำอภิเษกให้ครบทั้งแปดทิศ

การทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายน้ำอภิเษกให้ครบทั้งแปดทิศ เปรียบเสมือนราษฎรจากทั่วทุกสารทิศร่วมกันทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระราชอำนาจ รวมถึงความจงรักภักดีแด่พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่


อ้างอิง

“Podcast EP2 ‘พระราชพิธีบรมราชาภิเษก’ น้ำสรงพระมุรธาภิเษก โดย รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล”. ใน ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. https://www.silpa-mag.com/on-view/article_30521

“พิธีเสกน้ำอภิเษก 108 แหล่งศักดิ์สิทธิ์ ณ วัดสุทัศนฯ วัดกลางเมือง ที่เปรียบ ‘เขาพระสุเมรุ’”. มติชนออนไลน์. https://www.matichon.co.th/court-news/news_1456201