ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ตั้งอยู่ภายในพระบรมมหาราชวัง แรกเริ่มนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้สร้างขึ้นเป็นพลับพลาโถงจัตุรมุข หลังคาไม่มียอด สร้างด้วยเครื่องไม้ เรียกกันว่า “พระที่นั่งพลับพลาสูง” สำหรับประทับทอดพระเนตรกระบวนแห่ในพระราชพิธีสรงสนานใหญ่ และการฝึกช้าง ลักษณะเป็นพลับพลาโถง ทำด้วยเครื่องไม้ มีอัฒจันทร์ขึ้นลงทางทิศเหนือและทิศใต้
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้รื้อพระที่นั่งพลับพลาสูง สร้างใหม่เป็นพระที่นั่งก่ออิฐถือปูน พระราชทานนามว่า “พระที่นั่งสุทธาสวรรย์”
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ก่อผนังอิฐฉาบปูนต่อเติมหลังคาเป็นยอดปราสาท พ.ศ. ๒๓๙๒ มีการต่อเติมสร้างเฉลียงไม้ด้านตะวันออกเป็น “สีหบัญชร” หรือหน้าต่างของพระที่นั่ง ใน พ.ศ. ๒๓๙๖ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เปลี่ยนนามเป็น “พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท”
ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เป็นพลับพลาพระราชพิธี เช่น สวดมนต์เลี้ยงพระ จุดโคมชัยบูชาพระบรมสารีริกธาตุในพระราชพิธีจองเปรียง จัดเป็นที่สำหรับพระสงฆ์รามัญสวดมนต์ฉลองไตรในการพระราชกุศลฉลองไตรปี เป็นต้น
ต่อมา สีหบัญชร ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ที่รัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างนั้น ยังเป็นที่พระมหากษัตริย์เสด็จออกให้ข้าราชการและประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในโอกาสสำคัญ
รัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อให้ประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
รัชกาลพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท เช่นเดียวกัน
อ้างอิง
ประมวลความรู้ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, กระทรวงวัฒนธรรม จัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๖๒.
เว็บไซต์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒. http://phralan.in.th