ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
หอศาสตราคม เป็นสถานที่อัญเชิญแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ภายในพระบรมมหาราชวัง เป็นหอขนาดเล็ก หลังคาทรงไทย มุงกระเบื้องเคลือบสี อยู่ริมกำแพงแก้วพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยด้านตะวันออก
เดิมเป็นพระที่นั่งโถง ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระที่นั่ง แล้วสร้าง “หอศาสตราคม” ขึ้น สำหรับให้พระสงฆ์ฝ่ายรามัญนิกายมาสวดพระปริตรทำน้ำพระพุทธมนต์ เพื่อถวายพระมหากษัตริย์สรงพระพักตร์ และสรงเป็นประจำวัน ตลอดจนประพรมรอบพระมหามณเฑียร คือ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย
ในรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๗ มีการสวดพระปริตรทำน้ำพระพุทธมนต์ และประพรมน้ำพระพุทธมนต์รอบพระมหามณเฑียรทุกวัน เวลา ๑๔.๐๐ นาฬิกา
ต่อมาในรัชกาลที่ ๙ และรัชกาลปัจจุบัน นิมนต์พระสงฆ์ฝ่ายรามัญ ๕ รูป มาสวดพระปริตรทำน้ำพระพุทธมนต์ และประพรมน้ำมนต์รอบพระมหามณเฑียรทุกวันธรรมสวนะ เวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา เสร็จแล้วนิมนต์พระสงฆ์ ๑ รูป ประพรมน้ำพระพุทธมนต์รอบพระมหามณเฑียรครั้งหนึ่ง
และนิมนต์พระพิธีธรรมจาก ๑๐ วัด คือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดสุทัศนเทพวราราม วัดสระเกศ วัดจักรวรรดิราชาวาส วัดบวรนิเวศวิหาร วัดระฆังโฆสิตาราม วัดประยุรวงศาวาส วัดอนงคาราม และวัดราชสิทธาราม จำนวนวัดละ ๕ รูป ผลัดเปลี่ยนกันมาสวดทำน้ำพระพุทธมนต์อีกครั้งในเวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา
น้ำพระพุทธมนต์ทั้งสองเวลานี้รวมเก็บไว้ในหม้อน้ำมนต์ หอศาสตราคม เพื่อจัดไปถวายสรงทุกวันตามราชประเพณีที่ได้เคยปฏิบัติสืบมา
น้ำพระพุทธมนต์ดังกล่าว กรุงเทพมหานครกราบบังคมทูลขอพระราชทานนำไปเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ของกรุงเทพมหานคร เพื่อรวมกับน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ สำหรับถวายสรงในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา รัชกาลที่ ๙ วาระครบรอบนักษัตร คือ ๖ รอบ ๗ รอบ
ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๒ กรุงเทพมหานครกราบบังคมทูลขอพระราชทานน้ำพระพุทธมนต์จากหอศาสตราคม นำไปรวมกับน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร
เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๗๒ พรรษา ในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ น้ำพระพุทธมนต์จาก “หอศาสตราคม” ยังคงเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ของกรุงเทพฯ สำหรับถวายในพระราชพิธีเช่นที่เคยมีมา
อ้างอิง
ประมวลความรู้ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, กระทรวงวัฒนธรรม จัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๖๒.