ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“พระชฎา ๕ ยอด” หรือ “พระชฎามหากฐิน” คือเครื่องราชศิราภรณ์ประเภทชฎา มีศักดิ์สูงรองจาก “พระมหาพิชัยมงกุฎ” สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สําหรับพระมหากษัตริย์ทรงแทนพระมหาพิชัยมงกุฎในบางโอกาส
เนื่องจากพระชฎา ๕ ยอด มีน้ำหนักเพียง ๓ กิโลกรัม เบากว่าพระมหาพิชัยมงกุฎที่มีน้ำหนักถึง ๗.๓ กิโลกรัม
ในการเสด็จพระราชดําเนินโดยกระบวนพยุหยาตราไปถวายผ้าพระกฐิน จึงทรงพระชฎา ๕ ยอด แทน เป็นเหตุให้เรียกพระชฎาองค์นี้ว่า “พระชฎามหากฐิน”
ส่วนที่เรียกพระชฎาว่า “พระชฎา ๕ ยอด” เนื่องจากมีพระยี่ก่า (เครื่องประดับที่มีลักษณะคล้ายขนนก ในที่นี้ทําด้วยทองคําประดับเพชร) สําหรับประดับราชศิราภรณ์ประกอบอยู่ที่เกี้ยว ชั้นบนสุดเบื้องซ้ายปลายแยกเป็น ๕ ช่อ
พระชฎา ๕ ยอดมีด้วยกัน ๔ องค์ ได้แก่
๑. พระชฎา ๕ ยอด ทําด้วยทองคําลงยาประดับเพชร สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
๒. พระชฎา ๕ ยอด ทําด้วยทองคําลงยาสีชมพูทั้งองค์ เรียกว่า “พระมหาชมพู” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ สมหุพระราชพิธี ทรงสร้างขึ้นตามสีวันอังคาร ซึ่งเป็นวันพระบรมราชสมภพ
๓. พระชฎา ๕ ยอดในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
๔. พระชฎา ๕ ยอดในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
อนึ่ง คำว่า ชฎา มาจากภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตว่า “ชฏา” (ชะ-ตา) ซึ่งแปลว่า ผมที่ขมวดเกล้าสูงขึ้น พระชฎาเป็นเครื่องราชศิราภรณ์อย่างหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายเกี่ยวกับชฎาว่า ชฎา เกิดแต่ผ้าโพก ส่วนพระชฎามหากฐิน หมายถึง พระชฎาที่มักทรงเมื่อเสด็จไปถวายผ้าพระกฐิน
อ้างอิง
เว็บไซต์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒. http://phralan.in.th
ดร. นนทพร อยู่มั่งมี, ผศ. ดร. พัสวีสิริ เปมกุลนันท์. เสวยราชสมบัติกษัตรา, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม ๒๕๖๒.