“เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช” เรือพระราชพิธีรูปพญานาคเจ็ดเศียร

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ลำปัจจุบันสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ สำเร็จเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๔๕๗ แทนลำเดิมที่ได้สร้างมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แต่เริ่มใช้ในกระบวนพยุหยาตราชลมารคในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔

ชื่อเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช มาจากคำภาษาสันสกฤตว่า อนนฺตนาคราชะ มาจากคำ ๓ คำ คือ อนนฺตะ (แปลว่า ไม่สิ้นสุด นิรันดร) นาคะ (แปลว่า นาค หรือ งู) ราชะ (แปลว่า เจ้านาย หรือพระราชา) ดังนั้นคำนี้จึงแปลได้ว่า อนันตะ ราชาแห่งนาคหรืองู ทั้งหลาย

ในฮินดูปกรณัมปรัมปรา อนันตะ หมายถึง งูเทพ หรือ งูทิพย์ ผู้มีพลังยิ่งใหญ่ รู้จักกันในชื่อ เศษะ หรือ อาทิเศษะ เป็นผู้ที่มีเศียรหนึ่งพัน และ (ประดับด้วย) อัญมณีหนึ่งพันที่ส่องประกายสว่างจ้าไปทุกหนแห่ง คัมภีร์ปุราณะของอินเดียกล่าวว่า อนันตะอาศัยอยู่ลึกลงไปกว่าโลกบาดาลทั้ง ๗ ชั้น และแบกโลกทั้งหมดไว้บนเศียร คราใดที่อนันตะหาว โลกก็สั่นไหว

บางคัมภีร์อธิบายว่า อนันตะมีชื่ออีกอย่างว่า วาสุกิ (ไทยเรียกวาสุกรี) ซึ่งมีเจ็ดเศียรและอยู่ในโลกบาดาลชั้นที่ ๗ อนันตะปกครองนาคทั้งหลาย

เรื่องราวจากคัมภีร์ข้างต้นให้อิทธิพลต่อความเชื่อของคนไทยที่เล่าสืบต่อกันมาว่า ใต้โลกของเรามีปลาอานนท์ ซึ่งแบกโลกไว้ คราใดปลาอานนท์ขยับตัว โลกจะสั่นคลอนเกิดแผ่นดินไหว และยังมีความเชื่ออีกว่า พญานาคเจ็ดเศียรบันดาลให้เกิดฝน

ความเชื่อที่ว่าพระเจ้าแผ่นดินของไทยเป็นอวตารของพระวิษณุลงมาเกิดบนโลกมนุษย์ ดังนั้นพระองค์จึงควรมีเรือพระที่นั่งเป็นพญาอนันตนาคราช ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องราวที่ว่า พระวิษณุประทับบรรทมบนพญาอนันตนาคราชในช่วงกาลดับสลาย และเริ่มต้นการสร้างโลกและจักรวาลขึ้นใหม่

หัวเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชลำนี้จำหลักรูปพญานาคเจ็ดเศียร ลงรักปิดทองประดับกระจก ท้องเรือภายในทาสีแดง ภายนอกทาสีเขียว กลางลำเรือเป็นบุษบกประดิษฐานพระพุทธรูปหรือผ้าพระกฐิน

ประวัติย่อการบูรณะซ่อมแซมเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชในคราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี มีบันทึกไว้ดังนี้

พ.ศ. ๒๕๑๐ ซ่อมแซมเพื่อใช้ชั่วคราวให้ทันใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยมีบริษัท สหายสันต์ จำกัด เป็นผู้รับเหมาการซ่อมทำชั่วคราวให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๑๐

พ.ศ. ๒๕๑๒ ซ่อมใหญ่ โดยซ่อมทำตัวเรือใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๑๒ จนถึงวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๑๓ ต่อจากนั้นได้ทำการซ่อมทำลวดลายเรือและเครื่องตกแต่งประกอบเรือตั้งแต่วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๑๓ จนถึงวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๑๕

พ.ศ. ๒๕๒๔ ซ่อมใหญ่ เปลี่ยนไม้ตัวเรือที่ผุชำรุดบางส่วน ตกแต่งลวดลาย ลงรักปิดทอง ทาสีตัวเรือใหม่ และอื่นๆ เพื่อให้ทันใช้ในงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ในวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๒๕ เริ่มซ่อมทำตั้งแต่วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๒๔ จนถึงวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๒๕ โดยมีบริษัท สหายสันต์ จำกัด เป็นผู้รับเหมาซ่อมทำ

อ้างอิงจาก

ณัฏฐภัทร จันทวิช. เรือพระราชพิธี จัดพิมพ์โดย กรมศิลปากร, ๒๕๓๙.

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช http://phralan.in.th/Coronation/finalceremoniesdetail.php?id=935