ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเลียบพระนครของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือเป็นการจัด “ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเลียบพระนคร” เป็นครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์
ดังปรากฏความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ว่า
“แล้วทรงพระราชดำริว่า พระมหากษัตริย์แต่ก่อนเลียบพระนคร ก็แต่ทางสถลมารควันเดียวเท่านั้น ครั้งนี้เห็นว่าราษฎรนิยมชมชื่นทั่วกัน เรือพระที่นั่งและเรือต่างๆ มีอยู่เป็นอันมาก ไม่มีการสิ่งไรเก็บไว้ ก็ไม่มีผู้ใดเห็น ครั้งนี้จะแห่พยุหยาตราเรือให้ราษฎรเชยชมพระบรม โพธิสมภารทั่วกันอีกคราวหนึ่ง จะได้เป็นเกียรติยศปรากฏไปภายหน้า จึงสั่งเจ้าพนักงานให้เตรียมพยุหยาตราเรือไว้
รุ่งขึ้น ณ วันพุธ เดือนหก แรมหกค่ำ เสด็จออกเลียบพระนคร ทางชลมารค พวกข้าทูลละอองผู้ใหญ่ผู้น้อย ราษฎรไพร่บ้านพลเมือง ไทยจีน ที่อยู่แพอยู่เรือนริมน้ำชวนกันตั้งโต๊ะเครื่องบูชาอย่างไทยจีน จุดประทีปธูปเทียนกระทำสักการบูชารับเสด็จรอบพระนคร มีความชื่นชมโสมนัสยินดียิ่งนัก…” (จัดแบ่งย่อหน้าใหม่โดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จลงเรือพระที่นั่ง เสด็จฯ เลียบพระนครโดยทางชลมารคตามทักษิณาวรรตรอบพระนคร เริ่มจากท่าราชวรดิฐไปทางทิศเหนือ เข้าคลองรอบพระนครไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร เสด็จฯ เข้าไปในพระอุโบสถทรงบูชานมัสการพระพุทธชินสีห์ ถวายไทยธรรมแก่พระสงฆ์ เสร็จแล้วเสด็จฯ กลับ
การเสด็จฯ เลียบพระนครในครั้งนั้น พระสงฆ์เถรานุเถระทั้งหลายที่เคยเป็นศิษย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงผนวช ได้รำลึกถึงพระเดชพระคุณช่วยกันแต่งคาถาเฉลิมพระเกียรติเป็นภาษามคธ แล้วสาธยายไว้ไว้สวดถวายชัยมงคลเมื่อเสด็จฯ แห่เลียบพระนครด้วย ภายหลังพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) แปลบางบทมาแต่งเป็นลิลิตภาษาไทย
อนึ่ง ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเลียบพระนครของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในครั้งนั้น มีจำนวนเรือในขบวนมากถึง ๒๖๙ ลำ มีเรือนอกขบวนที่เข้าร่วมด้วยประมาณ ๕๐ ลำเศษ และมีจำนวนฝีพายทั้งหมดประมาณ ๑๐,๐๐๐ คนเศษ
จึงอาจกล่าวได้ว่า “ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเลียบพระนคร” ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งนี้ เป็นการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์
อ้างอิง
รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ. พระเสด็จโดยแดนชล เรือพระราชพิธีและขบวนพยุหยาตราทางชลมารค, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กันยายน ๒๕๖๒.