ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เครื่องราชกกุธภัณฑ์ คือเครื่องใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชาธิบดี จึงเป็นสิ่งที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
การถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นประเพณีสืบเนื่องมาจากลัทธิพราหมณ์ซึ่งมีพระมหาราชครูพราหมณ์เป็นผู้กล่าวคำถวาย ตามคติความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์เป็นสมมุติเทพ เครื่องราชกกุธภัณฑ์จึงล้วนเป็นสัญลักษณ์แห่งเทพทั้งสิ้น
ตำราปัญจราชาภิเษก กล่าวถึงเครื่องสำหรับราชาภิเษกของสมเด็จพระมหากษัตริย์ ประกอบด้วย พระมหามงกุฎ พระภูษาผ้ารัตกัมพล พระขรรค์ พระเศวตฉัตร และเกือกทอง
แต่ละสิ่งมีความหมายดังนี้
พระมหามงกุฎ หมายถึง ยอดวิมานของพระอินทร์ พระภูษาผ้ารัตกัมพล หรือเครื่องประดับผ้ารัตกัมพล หมายถึง เขาคันธมาทน์อันประดับเขาพระสุเมรุราช พระขรรค์ หมายถึง พระปัญญาอันจะตัดมลทินถ้อยความไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน เศวตฉัตร ๖ ชั้น หมายถึง สวรรค์ ๖ ชั้น และ เกือกทอง (ฉลองพระบาท) หมายถึง แผ่นดินอันเป็นที่รองรับเขาพระสุเมรุราช และเป็นที่อาศัยแก่อาณาประชาราษฎร์ทั้งหลายทั่วแว่นแคว้นขอบขัณฑสีมา
ประเพณีการถวาย “เครื่องราชกกุธภัณฑ์” ของไทย มีปรากฏแต่ครั้งสุโขทัย ถึงสมัยรัตนโกสินทร์เครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประกอบด้วย
๑. พระมหาเศวตฉัตร หรือ พระนพปฏลมหาเศวตฉัตร เป็นฉัตร ๙ ชั้น มีความสำคัญยิ่งกว่าเครื่องราชกกุธภัณฑ์อื่นๆ
๒. พระมหาพิชัยมงกุฎ เป็นราชศิราภรณ์ที่พระมหากษัตริย์ทรงสวมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
๓. พระแสงขรรค์ชัยศรี เป็นพระแสงราชศัสตราประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ เป็นพระแสงราชศัสตราที่สำคัญที่สุดในพระราชพิธีสำคัญต่างๆ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
๔. ธารพระกร เดิมทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ปิดทอง ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างธารพระกรขึ้นใหม่องค์หนึ่งทำด้วยทองคำ
๕. วาลวิชนี (พัดและแส้) “วาลวิชนี” เป็นภาษาบาลีแปลว่าเครื่องโบก พัดวาลวิชนีทำด้วยใบตาลปิดทองทั้ง ๒ ด้าน ด้ามและเครื่องประกอบทำด้วยทองคำลงยา ส่วนพระแส้ทำด้วยขนจามรีด้ามเป็นแก้ว
๖. ฉลองพระบาทเชิงงอน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตามแบบอินเดียโบราณ
เดิมเจ้าพนักงานที่รักษาเครื่องราชูปโภคได้จัดพิธีสมโภชเครื่องราชูปโภคและเครื่องราชกกุธภัณฑ์เป็นประจำทุกปีในเดือน ๖ ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า วันพระบรมราชาภิเษกเป็นวันมงคล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระมหาเศวตฉัตรและเครื่องราชกกุธภัณฑ์ขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๓๙๔ พระราชทานชื่อว่า “พระราชพิธีฉัตรมงคล”
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มการบำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เปลี่ยนเรียกชื่อพระราชพิธีว่า “พระราชกุศลทักษิณานุปทาน” และ “พระราชพิธีฉัตรมงคล” สืบมาจนปัจจุบัน
อ้างอิง
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก กระทรวงวัฒนธรรม จัดพิมพ์ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๖๐.
เศรษฐเนตร มั่นใจจริง. “กกุธภัณฑ์” ใน, เว็บไซต์กรมศิลปากร.