“เอาตรงๆ นะ วันเดอร์วูแมน ก็คือการโฆษณาชวนเชื่อเชิงจิตวิทยาเพื่อผู้หญิงรุ่นใหม่…”

กัล กาดอต (Gal Gadot) ผู้รับบทวันเดอร์วูแมน (Wonder Woman) ในภาพยนตร์เรื่องวันเดอร์วูแมน (2017) กล่าวบนเวทีในโอกาสที่สหประชาชาติประกาศให้วันเดอร์วูแมนเป็นทูตกิตติมศักดิ์เพื่อการส่งเสริมบทบาทให้กับผู้หญิง และเด็กผู้หญิง ณ ที่ประชุมคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ, นิวยอร์ก เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2016 (AFP PHOTO / TIMOTHY A. CLARY)

“เอาตรงๆ นะ วันเดอร์วูแมน ก็คือการโฆษณาชวนเชื่อเชิงจิตวิทยาเพื่อผู้หญิงรุ่นใหม่ที่ผมเชื่อว่าควรเป็นผู้ปกครองโลก”

ดร.วิลเลียม โมลตัน มาร์สตัน (Dr. William Moulton Marston) ผู้สร้างตัวละครวันเดอร์วูแมน (Wonder Woman) กล่าว (Lepore, Jill. “The Surprising Origin Story of Wonder Woman.Smithsonian.com. Smithsonian Institution, Oct. 2014. Web  6 Jun. 2017.<http://www.smithsonianmag.com/arts-culture/origin-story-wonder-woman-180952710/?no-ist=&no-cache=&page=1>)

Advertisement

ทั้งนี้ มาร์สตัน เป็นนักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงโด่งดังในระดับนานาชาติ เขาได้รับการว่าจ้างให้มาสร้างตัวละครซุปเปอร์ฮีโร่ให้กับ All-American Comics (ปัจจุบันได้รวมกับ DC Comics) ในช่วงปี 1940 ซึ่งในขณะนั้นวงการการ์ตูนซุปเปอร์ฮีโร่กำลังถูกโจมตีค่อนข้างมากกว่าส่งเสริมความรุนแรง รวมถึงความรุนแรงทางเพศ เขาจึงได้สร้างวันเดอร์วูแมนเพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์ซุปเปอร์ฮีโร่ ในฐานะตัวแทนของเพศหญิง และผลักดันแนวคิดเรื่องสตรีนิยม พร้อมกับต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์ โดยได้เปิดตัวเป็นครั้งแรกในหนังสือ All Star Comics no.8 (ธันวาคม 1941)

มาร์สตัน ยึดหลักปฏิบัติในการมีภรรยาหลายคน (polygyny) ขณะเดียวกันเขาก็เชื่อว่า วันหนึ่งผู้หญิงจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำโลกเข้าสู่ยุคใหม่ซึ่งเปี่ยมไปด้วยสันติสุข นอกจากนี้ การที่เขามีคู่รักรายหนึ่งเป็นหลานของ มาร์กาเร็ต แซงเกอร์ (Margaret Sanger) ผู้บุกเบิกการวางแผนครอบครัว (ในยุคที่การคุมกำเนิดยังถือเป็นเรื่องผิด) บวกกับการมีส่วนร่วมกับการรณรงค์เพื่อสิทธิทางการเมืองของผู้หญิงมาอย่างยาวนาน ปัจจัยเหล่านี้จึงน่าจะมีอิทธิพลต่อการสร้างตัวละคร “วันเดอร์วูแมน” ของเขาขึ้นมา (Mangels, Andy. “Wonder Woman.” Encyclopedia Britannica. Encyclopedia Britannica, inc., 2 Jun. 2017. Web. 6 Jun. 2017. <https://www.britannica.com/topic/Wonder-Woman>)