อ่านออกเขียนได้ ความสามารถตื้นๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้ไม่ยาก?!?

บรรยากาศ นักอ่าน, นักเล่นหนังสือ ภายในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ ๒๓ และงานเทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน ครั้งที่ ๑๒ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ งานมีระหว่างวันที่ ๑๗-๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๑

วันนี้ทักษะทางภาษาในระดับ “การอ่านออกเขียนได้ถูกมองว่าเป็นความสามารถตื้นๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้ไม่ยาก” แต่ในความจริงกว่าจะมีความสามารถขั้นนี้มันง่ายจริงๆ หรือ?

หากคิดดูดีๆ การที่จะรู้หนังสือจนอ่านออกเขียนได้ ต้องใช้ “ต้นทุน” เท่าใด

บางส่วนของ “นำคำ” ซึ่งอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนเป็นคำนำของหนังสือซือ เพลงแห่งชีวิตของจีน, สนพ.ศิลปวัฒนธรรม (ไม่ได้ระบุปีที่พิมพ์) กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าคิดว่า

“…การที่วรรณกรรรมตัวเขียนเป็นสมบัติของชนชั้นสูงมาเป็นเวลานาน ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดแก่สังคมจีนเท่านั้น มีสังคมอื่นๆ ที่ได้เก็บการเขียนไว้เป็นสมบัติของชนชั้นสูงมาเป็นเวลานานเช่นกัน และเพราะเป็นสมบัติของชนชั้นสูง จุดมุ่งหมายหลักของงานเขียนก็เพื่อประโยชน์ของกลุ่มชนนั้น

แม้ว่าบางครั้งจุดมุ่งหมายหลักนั้นอาจสอดคล้องกับผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ก็ตาม แต่นั้นเป็นเพียงผลพลอยได้มากกว่าเจตนารมณ์จริงๆ ของผู้เขียน ประวัติของการใช้ภาษาเขียนของจีนจะช่วยอธิบายประเด็นนี้ได้ดี

ในปัจจุบันการอ่านออกเขียนได้ถูกมองว่าเป็นความสามารถตื้นๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้ไม่ยาก แต่ความสามารถนี้เกิดแก่คนทั่วไปได้ ก็เพราะระบบเศรษฐกิจแบบใหม่และการศึกษามวลชน ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นในโลกไม่นานมานี้เอง

อันที่จริงแล้วเพื่อจะให้อ่านออกเขียนได้นั้นเป็นการสิ้นเปลืองมาก ไม่ใช่แต่เพียงวัสดุที่ใช้เขียนซึ่งต้องผลิตด้วยมือเท่านั้น แต่หมายถึงการปลูกฝังความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ ทั้งของผู้เขียนและผู้อ่าน เพราะมีแต่ผู้เขียนโดยไม่มีผู้อ่านก็เท่ากับไม่มีภาษาเขียน เพียงเท่านั้นก็เป็นการสิ้นเปลืองเกินกว่าที่เศรษฐกิจโบราณของทุกสังคมจะอนุญาตให้ทุกคนทำได้

และด้วยเหตุดังนั้นการเขียนในสังคมดำบรรพ์จึงสงวนไว้สำหรับสิ่งที่เป็นประโยชน์จริงๆ เท่านั้น เช่นการจดบันทึกสมบัติที่มีค่าเพื่อรักษากรรมสิทธิ์ของตน (เช่นเอกสารที่ดินหรือใบสัญญากู้หนี้ หรือกรมธรรม์ทาส) หรือมิฉะนั้นก็จดบันทึกข้อความที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์เป็นพิเศษ อันเป็นผลประโยชน์ให้เกิดความสุขความเจริญของชุมชน เช่นคัมภีร์ศาสนาหรือมนต์สำหรับสวดในพิธีกรรมเป็นต้น

ส่วนตำนาน นิทาน นิยาย หรือคำประพันธ์ต่างๆ ก็มักใช้วิธีจดจำสืบต่อกันมา เพราะไม่มีประโยชน์ในเชิงปฏิบัติเพียงพอที่จะต้องลงทุนลงแรงจดบันทึกไว้

ความมั่งคั่งซึ่งเกิดขึ้นแก่คนกลุ่มน้อยที่เป็นชนชั้นปกครอง ทำให้คนเหล่านี้ทนต่อความสิ้นเปลืองของการเขียนได้มากขึ้น และเริ่มจดบันทึกประวัติศาสตร์และกวีนิพนธ์ที่ตนยกย่องหรือเห็นประโยชน์ลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษรบ้าง

ผลจากการนี้ทำให้กระแสของงานวรรณกรรมแยกออกเป็นสองสาย คือ สายที่มีการจดบันทึกเป็นของชนชั้นสูง และสายไม่มีการจดบันทึกเป็นของประชาชนทั่วไป…”

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 ตุลาคม 2565