ปี 58 บิลล์ เกตส์ คาดทศวรรษหน้า “ไวรัส” จะฆ่าคนนับสิบล้าน ไม่ใช่ “สงคราม”

เจ้าหน้าที่กาชาดของกินีสวมชุดป้องกันเพื่อนำศพของผู้เสียชีวิตจากไวรัสอีโบลาออกไปจากหอผู้ป่วยที่โรงพยาบาล Donka ในเมือง Conakry ประเทศกินี เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557 (Photo by CELLOU BINANI / AFP)

โลกรู้จัก “โรคอีโบลา” ตั้งแต่ พ.ศ. 2519 เมื่อมีการพบผู้ป่วย และบางรายที่เสียชีวิตในภาคตะวันตกของซูดาน และในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ซาอีร์) หลังจากนั้น “อีโบลา” ก็มีการระบาดหลายๆ ครั้งเรื่อยมา

พ.ศ. 2522 ระบาดในซูดาน

พ.ศ. 2538 ศูนย์กลางการระบาดอยู่ที่เมืองคิกวิท สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก มีผู้ป่วย 315 ราย เสียชีวิต 244 ราย

พ.ศ. 2537-2539 รายงานการระบาดถึง 3 ครั้งในประเทศกาบอง มีผู้ป่วย 150 ราย เสียชีวิต 98 ราย

พ.ศ. 2544 เดือนมกราคม มีการระบาดในอูกันดาตอนเหนือ มีผู้ป่วย 425 ราย เสียชีวิต 224 ราย

เดือนตุลาคม พ.ศ. 2544-เดือนเมษายน พ.ศ. 2546 มีรายงานการระบาดหลายครั้งในประเทศกาบอง และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก มีผู้ป่วย 278 ราย เสียชีวิต 235 ราย

พ.ศ. 2547 มีการระบาด 2 ครั้งในซูดาน ครั้งแรก ระหว่างพฤษภาคม-สิงหาคม มีผู้ป่วยจำนวน 17 ราย เสียชีวิต 7 ราย, ครั้งที่ 2 ระหว่างกันยายน-ตุลาคม มีผู้ป่วย 20 ราย เสียชีวิต 5 ราย

พ.ศ. 2550 ระบาดในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เกิดในจังหวัดคาไซทางตะวันตก มีผู้ป่วย 25 ราย

แต่การระบาดของอีโบลา ครั้งที่ “วิกฤต” ที่สุด คือ พ.ศ. 2557

เหตุการณ์เริ่มตั้งแต่ช่วงปลาย พ.ศ. 2556 เมื่อพบผู้ป่วยรายแรกที่ประเทศกินี และเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2557 ทางการประเทศกินีประกาศยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคอีโบลามากกว่า 50 ราย ปลายเดือนพฤษภาคม องค์การอนามัยโลก ออกมายืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตจากอีโบลารายแรกในประเทศเซียร์ราลีโอน

หลังจากนั้น “อีโบลา” ก็เริ่มแพร่กระจายไปทั่วโดยที่ยัง “ไม่มี” วัคซีนป้องกันหรือยารักษา ทำได้เพียงแค่การ “ป้องกัน”  

3 ประเทศในแอฟริกาตะวันตก ได้แก่ กินี, เซียร์ราลีโอน และไลบีเรีย ได้กลายเป็นประเทศที่มีการระบาดของเชื้ออีโบลาอย่างรุนแรง จนต้องประกาศมาตรการในการควบคุมกันอย่างเข้มข้น

ขณะที่ธนาคารโลกได้ตั้งงบประมาณสูงถึงกว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยเหลือ 3 ประเทศในแอฟริกาตะวันตกที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสอีโบลา เพื่อนำไปใช้เพื่อจ้างเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขทั้งในและจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจตราผู้ติดเชื้ออีโบลา รวมถึงฟื้นฟูหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่จำเป็น

ธันวาคม พ.ศ. 2557 องค์การอนามัยโลก เปิดเผยข้อมูลการระบาดของโรค ประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรคมากที่สุด

1. เซียร์ราลีโอน ที่มีผู้ติดเชื้อกว่า 9,200 คน และเสียชีวิตกว่า 2,655 ราย

2. ประเทศไลบีเรีย ที่มีผู้ติดเชื้อกว่า 7,800 คน และเสียชีวิตกว่า 3,300 ราย

3. ประเทศกินี มีผู้ติดเชื้อกว่า 2,600 คน และเสียชีวิตแล้ว 1,650 ราย

ขณะที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขติดเชื้ออีโบลา 666 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิต 366 ราย

หลังการระบาดของอีโบลาในปี พ.ศ. 2557 บิลล์ เกตต์ ผู้บริหารในธุรกิจไอที กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “The Next outbreak We are not ready-การระบาดครั้งต่อไป? เรายังไม่พร้อม” บนเวทีเทดทอล์กระดับโลก ในปี พ.ศ. 2558 ว่า

“หากจะมีอะไรที่จะฆ่าคนได้นับสิบล้านในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า ก็น่าจะเป็นไวรัสที่แพร่กระจายได้รวดเร็ว ไม่ใช่สงคราม”

นับเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าที่แม่นยำ ก่อนที่โควิด 19 จะเป็นที่รู้จักและเริ่มระบาดในปี พ.ศ. 2563

ในปาฐากถาข้างต้น บิลล์ เกตส์ กล่าวทิ้งท้ายว่า

“ถ้าหากจะมีเรื่องดีๆ สักเรื่องที่เกิดขึ้นจากการระบาดของไวรัสอีโบลา ก็คือหายนะครั้งนี้ช่วยปลุกให้คนตื่น ให้เรารู้จักการเตรียมพร้อม และถ้าเราเริ่มกันเสียแต่ตอนนี้ เราก็จะพร้อมรับมือกับการระบาดที่จะมาถึงในครั้งหน้า”

ทว่าโควิด 19 ที่ระบาดในต้นปี พ.ศ. 2563 ถึงปัจจุบัน (19 พฤษภาคม 2565) องค์การอนามัยโลกระบุว่า ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อกว่า 519 ล้านคน ในจำนวนนี้เสียชีวิตกว่า 6.2 ล้านคน

นี่เป็นเพราะเราไม่ได้เตรียมพร้อมจากบทเรียนของ “อีโบลา” หรือ “โรคระบาด” หรือมันยากเกิดกว่าจะคาดการณ์และเตรียมการล่วงหน้า และทศวรรษหน้าจะเป็นไวรัสตัวใด

 


ข้อมูลจาก :

กลุ่มโรคติดต่อระหว่างประเทศ กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค. เอกสาร โรคอีโบลา (Ebola Virus Disease) (Ebola Hemorrhagic Fever : ICD 10 – A98.4), 3 ธันวาคม 2563

ปีแห่ง วิกฤติอีโบลา…ที่ยังไม่สิ้นสุด, หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 30 ธันวาคม 2557

ผศ.ดร. ป๋วย อุ่นใจ, ภก.ดร. นรภัทร ปีสิริกานต์. สมรภูมิวัคซีนโควิด 19, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2564


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 พฤษภาคม 2565