รมช. คลัง? แจงกู้เงินพัฒนาประเทศ ประโยชน์ถึงคนรุ่นหลังจึงควรร่วมรับเฉลี่ยภาระ

ภาพประกอบบทความ จากกองบรรณาธิการมติชน

บทความต่อไปนี้เป็นการคัดย่อจาก “บันทึกผลงานของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ระหว่าง พ.ศ. 2491-2499” (กรมศิลปากร, 2500) ที่บันทึกโดย กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร เนื้อหาตอนหนึ่ง นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ (พ.ศ. 2452-2545) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวชี้แจงทางวิทยุโทรทัศน์ ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์ ไทย ที.วี. เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2500 อธิบายเรื่องการกู้เงิน (บางส่วน) ไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำใหม่โดยผู้เขียน)


 

“การกู้เงินของรัฐบาลนั้น นับว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นไม่ว่าประเทศใดๆ เพราะการลงทุนพัฒนาการประเทศชาติ จะอาศัยรายได้ประจำหาเป็นการเพียงพอไม่ เพราะมีจำนวนจำกัด นอกจากนั้น ในการลงทุนนั้นผลที่เกิดขึ้นย่อมเป็นมรดกตกทอดไปเป็นประโยชน์แก่อนุชนคนรุ่นหลัง จึงควรที่คนรุ่นหลังต้องร่วมรับเฉลี่ยภาระตามสมควร

(จากซ้าย) อันดับที่ 5 แถวหลังสุด นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ รมช.กระทรวงการคลัง

ดังนั้น การกู้เงินจึงเป็นของธรรมดาสำหรับประเทศทั้งหลาย และถ้าหากไม่อาจจะกู้เงินภายในประเทศได้ ก็จำเป็นต้องกู้จากต่างประเทศ มิฉะนั้นก็ไม่อาจจะสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรื่องให้แก่ประเทศชาติและประชาชนได้

การกู้เงินจากต่างประเทศของเรา ได้เริ่มกระทำกันมาตั้งแต่ครั้งรัชสมัยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เพื่อนำไปสร้างทางรถไฟและต่อมาก็ได้เอามาสร้างการชลประทาน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11 ล้าน 6 แสนปอนด์ ทำให้เรามีรถไฟใช้ขนส่งสินค้าและสัญจรไปมา และมีน้ำใช้ทำไร่นามาจนทุกวันนี้ รัฐบาลในสมัยต่อๆ มา ก็ได้ผ่อนชำระหนี้ตลอดมาจนถึงเวลานี้ ซึ่งยังคงมีหนี้เหลืออยู่เพียง 2 ล้าน 9 แสนปอนด์ ถ้าเทียบจำนวนเงินที่กู้มากับจำนวนรายได้ของประเทศในสมัยนั้น ก็นับว่าเงินกู้มีจำนวนมากกว่ารายได้ของแผ่นดินแต่ละปี

ในสมัยปัจจุบันนี้ รัฐบาลได้เงินจากต่างประเทศมาบูรณะและพัฒนาการบ้านเมืองเป็นจำนวนรวม 48 ล้าน 2 แสนเหรียญอเมริกัน เป็นเงินกู้จากธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและวิวัฒนาการ หรือที่เรียกว่า ธนาคารโลก 37 ล้าน 4 แสนเหรียญอเมริกัน และเป็นเงินกู้จากสหรัฐอเมริกา 10 ล้าน 8 แสนเหรียญ จำนวนเงินกู้ทั้งหมดนี้ได้ใช้คนไปแล้ว 1 ล้าน 6 แสน เหรียญ คงเหลือเป็นหนี้ 46 ล้าน 6 แสนเหรียญอเมริกัน

เงินกู้จากธนาคารโลกเป็นเงินกู้เพื่อนำไปสร้างเขื่อนเจ้าพระยา ที่จังหวัดชัยนาท บูรณะการรถไฟ และปรับปรุงการท่าเรือ รวมทั้งการขุดลอกสันดอนแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนเงินกู้จากรัฐบาลสหรัฐ เป็นเงินกู้เพื่อการสร้างทางหลวงและซื้อเรือเดินทะเล จะเห็นได้ว่า เงินกู้เหล่านี้ได้ใช้ไปเป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ประเทศในการบูรณะและพื้นฟูการเศรษฐกิจ

เขื่อนเจ้าพระยา ที่จังหวัดชัยนาท จะทำให้ผลิตข้าวเพิ่มได้ถึง 500,000 ตันต่อปี การขุดลอกสันดอนก็จะทำให้เราลดค่าส่งสินค้า ได้ปีละหลายสิบล้านบาท เพราะทำให้เรือขนาดใหญ่มาเทียบท่าเรือกรุงเทพฯ ได้ การปรับปรุงการรถไฟของเราทำให้มีประสิทธิภาพเป็นประโยชน์แก่ประชาชนยิ่งขึ้น ส่วนการสร้างทางหลวงแผ่นดินนั้น ก็เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ และทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการสัญจรไปมา…”

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 เมษายน 2565