มิสเตอร์มอรันต์ อาจารย์ฝรั่งวิจารณ์ “เสนาบดีสภา” สมัยรัชกาลที่ 5

มิสเตอร์โรเบิร์ต แอล. มอรันต์ (Robert Laurie Morant) เป็นชาวอังกฤษ เกิดที่ตำบลแฮมสเต็ด กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2406 สำเร็จการศึกษาปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด

ใน พ.ศ. 2429 หม่อมสุภาพ พระชายาในพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศรวรฤทธิ์ (พระองค์เจ้ากฤดาภินิหาร) อัครราชทูตสยามประจำกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศว่าจ้างครูฝรั่งให้เดินทางมายังประเทศสยาม เพื่อเป็นอาจารย์ถวายพระอักษรแก่พระโอรส

มิสเตอร์มอรันต์จึงได้ตกลงรับข้อเสนอในตำแหน่งครูพิเศษ กำหนดสัญญาว่าจ้าง 3 ปี โดยได้รับเงินค่าจ้างปีละ 300 ปอนด์ (ประมาณ 3,000 บาท) และเดินทางมาถึงยังกรุงเทพฯ ในต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2430

ขณะพำนักอยู่ในกรุงเทพฯ มิสเตอร์มอรันต์ต้องปรับตัวอย่างหนักในเรื่องอาหารการกินและโรคภัยไข้เจ็บของประเทศในเขตร้อน ส่งผลให้เขาล้มป่วยมีอาการโลหิตเป็นพิษอย่างร้ายแรง แต่ก็รอดชีวิตมาได้ มิสเตอร์มอรันต์พยายามเรียนรู้ภาษาไทยอย่างแข็งขัน กระทั่งสามารถพูดคุยได้อย่างคล่องแคล่วในระยะเวลาเพียงปีเดียว

ต่อมา รัชกาลที่ 5 ทรงแต่งตั้งให้มิสเตอร์มอรันต์เป็นอาจารย์ถวายพระอักษรแด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับองค์มกุฎราชกุมารในการเสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อยังทวีปยุโรป

มิสเตอร์มอรันต์เขียนจดหมายเล่าถึงเรื่องการตัดสินใจยอมรับข้อเสนอในตำแหน่งอาจารย์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร จากทางราชสำนักสยามแก่เพื่อนสนิทในอังกฤษ ความว่า

“แต่พวกเขาขอให้ฉันเริ่มต้นสอนทันที และเลิกล้มความคิดอยากกลับบ้านลงเป็นเวลาอีกสองปี ฉันบอกนายได้เลยว่าเป็นเรื่องที่ตัดสินใจยากจริง ๆ ตำแหน่งนี้มีท่าทีว่าจะสร้างประโยชน์ใหญ่หลวงนัก ถ้าปรับตัวให้เข้ากับมันได้ พวกเขาต้องการให้โอกาสฉันทำงานดี ๆ แล้วก็ไม่มีที่ไหนในโลกที่ฉันจะได้รับเงิน 600 ปอนด์ต่อปี! และม้าอีก!! โดยทำงานแค่วันละสองชั่วโมง!!!

ฉันเรียกร้องอย่างหนักเรื่องกลับบ้าน เกือบกำหนดเป็นเงื่อนไขเลยทีเดียว พอฉันเห็นว่า ข้อเสนอนี้เป็นประเภทรับหรือไม่รับ ฉันก็คิดว่าคงเกือบเป็นการตัดสินใจที่ผิด ถ้าไม่ฉวยโอกาสนี้ไว้ แล้วฉันยังรู้มาอีกด้วยว่า เหตุที่ต้องเร่งรีบกันยกใหญ่ เพราะเป็นพระประสงค์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเองที่จะเริ่มศึกษา หาใช่ความต้องการของเสด็จอาไม่ ฉันก็เลยยอมตาม และได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระครู”

มิสเตอร์มอรันต์กับนักเรียนหลวง

แต่ด้วยความสามารถทางด้านภาษาไทย ทำให้มิสเตอร์มอรันต์มีงานต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ได้แก่ งานแปลเอกสาร การตอบโต้จดหมายราชการของรัฐบาลสยาม เป็นต้น มิสเตอร์มอรันต์ได้เขียนจดหมายถึงเพื่อนสนิทในอังกฤษ เพื่อระบายความอัดอั้นตันใจเกี่ยวกับหน้าที่ของตน ความว่า

“ฉันพบว่า ความรับผิดชอบในตำแหน่งของฉันมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และยากที่จะเข้าใจด้วยสายตาคนนอก มันยากนักที่จะรู้ว่า เมื่อไหร่จึงควรใช้อำนาจของตน และเมื่อไหร่จึงควรปล่อยให้สิ่งที่ต้องการความช่วยเหลือและปฏิรูปเล็ดลอดผ่านมือไป…การเป็นคนมีอำนาจที่ผู้อื่นอยากสอพลอ แทนที่จะเป็นคนสอพลอ การเป็นผู้ที่สามารถกระทำดีและชั่ว แทนที่จะเป็นฝ่ายถูกกระทำเป็นความรู้สึกใหม่”

ครั้นรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชประสงค์ให้มิสเตอร์มอรันต์เป็นผู้จัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นที่อาคารหลังพระตำหนักสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ริมประตูพิมานไชยศรีในพระบรมมหาราชวัง เพื่อเป็นโรงเรียนพิเศษสำหรับองค์มกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ, พระเจ้าลูกยาเธอ และพระเจ้าหลานเธอ จึงโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งมิสเตอร์มอรันต์เป็นอาจารย์ใหญ่ คอยทำหน้าที่ถวายพระอักษรภาษาอังกฤษและดูแลเรื่องหลักสูตรการศึกษาในโรงเรียนหลวงแห่งนี้ โดยพระราชทานนามว่า “โรงเรียนราชกุมาร”

มิสเตอร์มอรันต์จึงไม่ได้เป็นเพียงอาจารย์ถวายพระอักษรแด่องค์มกุฎราชกุมารและเจ้านายพระองค์เล็ก ๆ อย่างเดียวเท่านั้น เขาได้ก้าวเข้ามามีบทบาทในวงการการศึกษาของสยามมากขึ้น ได้ถวายคำปรึกษาในการวางแผนระบบการฝึกหัดครูและการจัดตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับเจ้านายแก่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกรมศึกษาธิการ และด้วยความรอบรู้ของมิสเตอร์มอรันต์ จึงได้มาเป็นที่ปรึกษาด้านงานราชการให้กับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ อีกด้วย

นี่ทำให้มิสเตอร์มอรันต์มีบทบาทและอิทธิพลในราชสำนักอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม มิสเตอร์มอรันต์เกิดความขัดแย้งกับราชสำนัก เช่น ในเรื่องการใช้เงินจำนวนมหาศาลของเขาที่รัฐบาลสยามต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายจำนวนมาก, เรื่องภาระงานในด้านการศึกษาหรืองานนอกเหนือจากที่ตกลงกัน และโดยเฉพาะเรื่องการถวายพระอักษรแด่องค์มกุฎราชกุมาร ซึ่งไม่ได้ผลดีเท่าที่คาดหวัง จนนำไปสู่ข่าวลือว่าราชสำนักจะปลดมิสเตอร์มอรันต์ออกจากตำแหน่ง และกำลังหาอาจารย์คนใหม่

เรื่องนี้ทำให้มิสเตอร์มอรันต์ไม่พอใจมาก เขาจึงพิมพ์จดหมายที่มีความยาวกว่า 40 หน้ากระดาษ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 5 ให้ทรงทราบถึงข่าวดังกล่าว รวมถึงอธิบายความล้มเหลวและจุดอ่อนขององค์มกุฎราชกุมารอย่างละเอียดอีกครั้ง พร้อมกับกราบบังคมทูลรบเร้าให้ส่งองค์มกุฎราชกุมารไปเข้าเรียนในโรงเรียนทหารของอังกฤษที่กวดขันเรื่องระเบียบวินัยเป็นพิเศษในทันที

ก่อนหน้านี้ มิสเตอร์มอรันต์ได้เขียนจดหมายความยาว 11 หน้า นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2436 หลังจากได้ถวายการอภิบาลดูแลองค์มกุฎราชกุมารอย่างใกล้ชิดทั้งกลางวันและกลางคืน ตลอดระยะเวลา 10 เดือนที่ผ่านมา

โดยบรรยายถึงพระบุคลิกภาพบางประการขององค์มกุฎราชกุมารว่า “หากข้าพระพุทธเจ้าไม่คอยกระตุ้นตลอดเวลา พระองค์ก็จะไม่ทรงลุกขึ้นจากโซฟา” ทำให้ตนรู้สึกสิ้นหวัง เนื่องจากไม่สามารถบรรลุถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้ และกราบบังคมทูลเสนอให้แยกองค์มกุฎราชกุมารออกจากสิ่งแวดล้อมที่มีแต่การสรรเสริญเยินยอและประจบประแจง รวมถึงควรให้พระองค์เดินทางไปเข้าเรียนโรงเรียนทหารให้เร็วกว่ากำหนดเดิม ในประเทศอังกฤษ เยอรมนี เดนมาร์ก หรือสหรัฐอเมริกา ก็ตาม

มิสเตอร์มอรันต์

แม้รัชกาลที่ 5 จะทรงไว้วางพระราชหฤทัยมิสเตอร์มอรันต์เพียงใดก็ตาม แต่ก็จำต้องทรงยินยอมกระทำตามคำกราบบังคมทูลของเสนาบดีสภาด้วยการปลดมิสเตอร์มอรันต์ออกจากตำแหน่ง

มิสเตอร์มอรันต์ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะอาจารย์ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2431 ถึงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2436

อย่างไรก็ตาม มิสเตอร์มอรันต์เชื่อว่าการที่ตนถูกปลดออกจากตำแหน่งอาจารย์นี้ เป็นเพราะรัชกาลที่ 5 ทรงไม่พอพระราชหฤทัยกับท่าทีของรัฐบาลอังกฤษในกรณีพิพาทระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ในเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ซึ่งการปลดมิสเตอร์มอรันต์ออกจากตำแหน่งและเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ทั้งสองเหตุกาณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน

มิสเตอร์มอรันต์เดินทางกลับไปยังประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2437 และทันทีที่เดินทางถึงประเทศอังกฤษในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2437 เขาก็ลงมือเขียนบันทึกความทรงจำขึ้น 2 ฉบับ สำหรับส่งไปถึง เซอร์เอดเวิร์ด เกรย์ (Sir Edward Grey) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเทศสยามในทางลบเสียเป็นส่วนใหญ่

โดยเฉพาะการกล่าวโจมตีคณะเสนาบดีสภา ซึ่งรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นมาในชั่วระยะเวลาไม่นาน ด้วยถ้อยคำรุนแรง ความตอนหนึ่งว่า

“ในปีที่สอง เสนาบดีสภาเริ่มตระหนักอย่างรวดเร็วถึงศักยภาพของสถานะและอำนาจที่สภามีอยู่ในมือ จึงได้ขยายอิทธิพลของตนให้กว้างไกลขึ้น แต่น่าเสียดายที่ใช้โอกาสในทางที่ผิด เพื่อให้สบอารมณ์เคืองแค้นส่วนตัว ยิ่งเมื่อขาดองค์พระประมุข [ในขณะนั้นรัชกาลที่ 5 เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับผ่อนคลายพระราชอิริยาบถอยู่ที่เกาะสีชัง] ไปเป็นเวลานานอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้การกระทำดังกล่าวลุกลามมากขึ้นเท่านั้น…

นอกจากนี้สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน ก็คือความแตกแยกและความอิจฉาริษยาภายใน ซึ่งเป็นธรรมชาติของบรรดาพี่น้องต่างมารดาที่ขาดวิญญาณต่อสาธารณะ โดยมีผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นแรงกระตุ้น และมีกระแสแห่งความแคลงใจและความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันเป็นแรงหนุน

…ไม่มีโอกาสที่ประเทศจะรอดพ้นจากความอลหม่านภายใน อนาธิปไตยที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และ      ความเสื่อมสลายที่ใกล้จะมาถึง ซึ่งเริ่มต้นครอบคลุมจังหวัดด้านในเรียบร้อยแล้ว อันเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลไม่ลงมือทำอะไรเลย รวมทั้งความเฉยเมยอย่างสิ้นเชิง แลการที่ไม่มีใครในกระทรวงและทบวงกรมต่าง ๆ ของประเทศกระทำการใด ๆ

ไม่ต้องไปหวังอะไรจากเสนาบดีสภากันอีกแล้ว ในแง่ของการตัดสินใจด้านโยบายที่เหมาะสม…ไม่ว่าต่อรัฐบาลของฝรั่งเศส หรือต่อรัฐบาลของอังกฤษ ประเทศนี้จะต้องสูญสิ้นไป อันเนื่องจากความเสื่อมภายใน และจะค่อย ๆ กลายเป็นเหยื่อของใครก็ตามที่พร้อมจะดูดกลืนประเทศนี้เมื่อมีโอกาสอำนวย ยกเว้นแต่จะมีการรีบเร่งนำความช่วยเหลือจากภายนอกในรูปกำลังใจและอิทธิพลที่มีประสิทธิผล รวมทั้งอำนาจหน้าที่มาสู่องค์กรบริหารของสยามที่กำลังรอวันตายอยู่นี้…

ขณะที่เสนาบดีสภามัวแต่โจมตีซึ่งกันและกัน และพระเจ้าแผ่นดินทรงบรรทมอย่างไม่รู้สึกรู้สมอะไรกับหายนะที่กำลังเกิดขึ้นกับประชาชน…

ความสงสัยและความไม่ไว้วางใจที่เกาะกุมพระทัยส่วนที่เหลือของพระเจ้าอยู่หัวอย่างลบเลือนไม่ได้นั้น ทำให้พระเชษฐา พระอนุชา เสนาบดี ไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ที่จะช่วยเหลือประเทศไว้ได้”

แม้ข้อวิจารณ์ของมิสเตอร์มอรันต์นั้นจะเป็นไปอย่างดุเดือดรุนแรง เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของเสนาบดีสภาในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองในยามวิกฤต ที่ในมุมของเขาดูเหมือนจะเห็นว่าจะแก้ไขเหตุการณ์ได้ไม่ดีมากนัก แต่อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า รัชกาลที่ 5 และเสนาบดีสภา มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขเหตุการณ์ที่สามารถทำให้สยามผ่านพ้นยามวิกฤตไปได้


อ้างอิง :

สุทธิศักดิ์ นิยม สุขสุวานนท์. (มกราคม, 2558). มิสเตอร์โรเบิร์ต มอรันต์ กษัตริย์ผู้ไร้มงกุฎแห่งสยาม. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 36 : ฉบับที่ 3.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 สิงหาคม 2564