เผยแพร่ |
---|
รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นยุคที่ประเทศเริ่มมีการเปิดรับวิทยาการทางตะวันตก รัชกาลที่ 4 ทรงศึกษาภาษาอังกฤษ, ทอดพระเนตรหนังสือจากต่างประเทศ และติดต่อสนทนากับชาวตะวันตก ตั้งแต่ยังทรงผนวชอยู่
เมื่อทรงเปิดกว้างรับวิชาการความรู้จากตะวันตก เมื่อครั้นทรงเห็นการวินิจฉัยโรคต่างๆ ของแพทย์ว่ามีสาเหตุจาก “ลม” หรือ “โรคลม” ใน “พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” (อ้างอิงตามการแพทย์แผนไทย) รัชกาลที่ 4 ทรงค่อนแคะหมอไทยว่า [จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ]
“…พวกแพทย์หมอแลปากหญิงชายทั้งหลาย เจ็บอะไรๆ ก็ว่าลมทุกสิ่งไป ด้วยตำราอ้างว่าลม 500 จำพวก จะไล่ว่าอะไรบ้างๆ ก็ไม่มีใครนับถูก หมอนวดทั้งกรม วังหลวง วังหลัง เมื่อตั้งชื่อก็ล้วนด้วยวาโยวาตา หมื่นวาโยรักษา หมื่นสังหารวาโย หมื่นวาโยไชยา เป็นหมอสำหรับแก้ลมจับทั้งนั้นไม่มีอื่น
ดูหนึ่งวันในวังหลวงวังหน้ามีคนเป็นลมจับวันละ 100 คน 200 คน วันใดเสวยพระโอสถทุเลา ก็ต้องชุมนุมหมอไว้ทั้งเจ้ากรม ปลัดกรม และขุนหมื่นดีๆ กลัวจะประชวรพระวาโย ทั้งเมืองมีแค่โรคลมหมด ไม่ใคร่จะมีใครพูดถึงโรคอื่นๆ ไข้จับหนักก็ว่าพลอยไข้ห่าไข้ประจุบันก็เรียกว่าลมมาก…”
คลิกอ่านเพิ่มเติม : ทำไมหมอไทยสมัยรัชกาลที่ 5 ทำ “ยาลูกครึ่ง(ไทย-ฝรั่ง)” ปลอมเป็นยาไทย
ข้อมูลจาก
รัชดา โชติพานิช. “การแพทย์แผนไทย” ใน, ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย, แพทยสภาจัดพิมพ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กรกฎาคม 2564