รัชกาลที่ 7 : “ข้าพเจ้าคิดว่า…ชนชั้นที่มีการศึกษาได้ก้าวไปจนไกลมากเสียแล้ว”

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานรัฐธรรมนูญ, 10 ธันวาคม 2475

เมื่อรัชกาลที่ 7 เผชิญความตื่นตัว “ประชาธิปไตย” ในหมู่ปัญญาชนเมื่อตอนต้นรัชกาล ทรงวิตกและตระหนักว่า “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” จะหมดเวลาลงในไม่ช้า…

“…The movements of opinion in this country give a sure sign that the days of Autocratic Rulership are numbered…”

Advertisement

[…ความเคลื่อนไหวทางความคิดเห็นในประเทศนี้ได้ส่อสัญญาณอันแน่ชัดแล้วว่า วันเวลาของการปกครองแบบเอกาธิปไตยใกล้จะหมดลงแล้ว…]

“…I think that the evolution of the public opinion in Bangkok and educated class has already gone too far, and that it would be a wild goose chase to try and get back any of the old glory…”

[…ข้าพเจ้าคิดว่าวัฒนาการทางความคิดของสาธารณชนในกรุงเทพฯ และชนชั้นที่มีการศึกษาได้ก้าวไปจนไกลมากเสียแล้ว, และการพยายามจะเรียกเอาความรุ่งโรจน์แต่เก่าก่อนกลับคืนมานั้นก็ไม่ผิดอะไรกับการไล่จับห่านป่า…]

ข้อความข้างต้นเป็นความตอนหนึ่งจากพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 เรื่อง “Problems of Siam” ค.ศ. 1926 หรือ พ.ศ. 2469 ซึ่งมีขึ้นไม่นานหลังจากทรงครองราชย์ เมื่อ พ.ศ. 2468

พระราชหัตถเลขาเรื่องนี้ทรงพระราชทานเพื่อทรงขอคำปรึกษาข้อราชการด้านต่าง ๆ กับพระยากัลยาณไมตรี (Dr. Francis B. Sayre) ซึ่งเรื่อง Problems of Siam นี้สะท้อนให้เห็นว่ารัชกาลที่ 7 ทรงมีความวิตกกังวลถึงสถานภาพการปกครองในระบอบเดิม เนื่องจากมีการตื่นตัวทางความคิดในสยามอย่างหลากหลาย…

นอกจากนี้ยังทรงปรึกษาเรื่องอื่นในประเด็นประชาธิปไตยอีกดังใจความอีกส่วนหนึ่งว่า

“คำถามข้อที่ 3 ประเทศนี้ต้องมีการปกครองระบอบรัฐสภาในวันใดวันหนึ่งหรือไม่ และระบบรัฐสภาตามแบบตะวันตกนั้นเหมาะสมกับคนตะวันออกจริงหรือ?

คำถามข้อที่ 4 ประเทศนี้พร้อมที่จะมีรัฐบาลจากผู้แทนราษฎรแน่หรือ?

โดยส่วนตัวข้าพเจ้ายังไม่แน่ใจต่อคำถามข้อที่ 3 แต่สำหรับข้อที่ 4 ความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้า ยืนยันว่า ไม่”


อ้างอิง :

ปรามินทร์ เครือทอง. (มิถุนายน, 2553). “จินตนาการประชาธิปไตยที่แท้จริงของพระมหากษัตริย์สยาม”. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 31 : ฉบับที่ 8.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 ตุลาคม 2562