พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ผู้ทรงเป็นพลังของแผ่นดินไทย

“—ภูมิพลต้องเหยียบดิน ไอ้การลอยไม่เหยียบดินใช้ไม่ได้ ภูมิพลนี่เหยียบดิน เนี่ยไม่ใช่ดินข้างใต้นี้พื้นดิน ถึงเดินไปบนภูเขาก็เดินบนดิน เหาะเฮลิคอปเตอร์แล้วก็ลงมาถึงก็เดินกับดิน—”

เป็นพระราชดำรัสของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ทรงกล่าวถึงความหมายของพระนามพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชโอรส อันเป็นเสมือนคำตรัสย้ำถึงพระชาตาชีวิตหรือเส้นทางการดำเนินพระชนมชีพในการสร้างผืนแผ่นดินไทยให้มีพลังที่ยิ่งใหญ่จนสามารถที่จะบันดาลความอุดมสมบูรณ์ ความสุข และความสงบ ให้แก่อาณาประชาราษฎร์ในแผ่นดินผืนนี้ของพระองค์จนตลอดรัชสมัย

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ด้วยลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย ราษฎรมีอาชีพเป็นเกษตรกรร้อยละ 80 ของประชากรทั้งประเทศ การเกษตรจึงถือเป็นอาชีพสำคัญของคนส่วนใหญ่ในประเทศ ผลผลิตที่ได้จากการเกษตรนอกจากจะใช้เลี้ยงพลเมืองในประเทศแล้ว ยังสามารถเป็นสินค้าออกนำรายได้เข้าประเทศ การเกษตรต้องอาศัยพื้นดิน สมัยโบราณพื้นดินทุกตารางนิ้วในราชอาณาจักรสยาม ล้วนเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุธรรมชาติที่จำเป็นสำหรับพืชพันธุ์ธัญญาหารหลากชนิดหลายประเภท ทำให้ผู้คนที่อาศัยผืนดินแห่งนี้มีความเป็นอยู่ที่สุขสมบูรณ์ ผู้คนในสมัยนั้นพอใจกับชีวิตความเป็นอยู่ที่สงบ มีความต้องการเพียงปัจจัย 4 เพื่อการดำรงชีวิตเท่านั้น

แต่เมื่อสถานการณ์ของบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่เรียกว่าความเจริญจากอารยประเทศหลั่งไหลเข้ามา ความต้องการสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตของผู้คนเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องดิ้นรนขวนขวายหามาสนองความต้องการซึ่งไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งนโยบายรัฐบาลต้องการพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศอุตสาหกรรม ถึงขั้นจะต้องเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมในภาคพื้นเอเชีย ทำให้ไทยต้องรีบเร่งพัฒนาประเทศ เป็นเหตุให้จำเป็นต้องรับสิ่งแปลกปลอมที่ไม่ใช่ธรรมชาติเข้ามาใช้ในชีวิตความเป็นอยู่ตลอดจนการทำมาหากินเพิ่มขึ้นทุกขณะโดยที่ไม่เคยมีผู้ใดคำนึงถึงผลเสียที่จะได้รับในภายหลัง เป็นสาเหตุสำคัญ ทำให้คนในชาติห่างเหินจากธรรมชาติ อันมีผืนดินสำหรับทำกิน ป่าไม้ที่ช่วยปรับสมดุลธรรมชาติและแหล่งน้ำที่ใช้หล่อเลี้ยงผืนดิน นอกจากจะห่างเหินแล้ว ผู้คนยังไม่รู้ถึงความสำคัญของธรรมชาติ พากันทำลายธรรมชาติเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ของตน แผ่นดินผืนน้ำถูกปล่อยปละละเลยและถูกทำลายจนอยู่ในสภาพที่ไม่อาจใช้ทำมาหากินได้

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อคราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2493 (ภาพจาก หนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชตระหนักพระราชหฤทัยถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแผ่นดินของพระองค์เป็นอย่างดีด้วยพระปรีชาสามารถและพระสติปัญญาที่ลึกล้ำกว้างไกล ทรงมองเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างถ่องแท้ เพราะเศรษฐกิจปัจจุบันต้องพึ่งพาอาศัยน้ำมันเป็นหลัก หากน้ำมันหมดลงเศรษฐกิจจะต้องล้มละลาย  ประชากรโลกจะอดอยากขาดอาหาร แต่แผ่นดินของพระองค์จะไม่มีวันล้มละลาย ประชาชนของพระองค์จะต้องมีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ด้วยการพึ่งพาตนเอง ผืนแผ่นดินไทยทุกตารางนิ้วจะต้องเต็มไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารสำหรับเลี้ยงคนไทยไม่ให้อดอยาก ดังเช่นที่เคยเป็นมาในอดีต

แต่ครั้นได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรทั่วราชอาณาจักร กลับทรงพบว่าดินที่เคยอุดมสมบูรณ์กลับเป็นดินที่เสื่อมโทรมอันเนื่องมาจากการใช้ปุ๋ยเคมีมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้ธาตุอาหารที่อยู่ในดินถูกทำลายจนไม่สามารถที่จะใช้ประโยชน์ได้อีกต่อไป เกษตรกรได้รับความทุกข์ยากจากการทำเกษตรไม่ได้ผลิตผลคุ้มค่า เพราะยิ่งลงทุนก็ยิ่งเป็นหนี้ วิธีที่จะช่วยเกษตรกรเหล่านั้นได้ก็โดยปรับปรุงดินให้กลับสู่สภาพดีดังเดิมเท่านั้น ความสำคัญจึงอยู่ที่ ดิน

ทรงให้หลักง่าย ๆ เกี่ยวกับธรรมชาติของดินและวิธีบำรุงดินตามธรรมชาติ ดังที่คนโบราณได้ปฏิบัติกันมา เพราะดินทุกชนิดแม้แต่ดินลูกรังก็จะมีอาหารพืชตามธรรมชาติคือจุลินทรีย์ แต่การเผาการใช้สารเคมีฆ่าหญ้าและการเปลือยดิน ทำให้จุลินทรีย์ในดินหมดไป วิธีกระตุ้นให้เกิดจุลินทรีย์ในดินตามธรรมชาติ คือห่มหน้าดินด้วยใบไม้ใบหญ้าที่ล่วงหล่นทับถมกัน การห่มดินทำให้เกิดความชื้นกระตุ้นการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในดิน

สภาพดินเสื่อมในภาคต่าง ๆ ของประเทศมีหลายลักษณะ ซึ่งโปรดให้แก้ปัญหาตามหลักวิชาการสมัยใหม่ ดังปรากฏบทสรุปโดยย่อเกี่ยวกับลักษณะดินและพระราชดำริการฟื้นฟูดินในหนังสือสารานุกรมพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรอบ 60 ปีแห่งการครองราชย์ มี

1. ดินปนทราย เช่น ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา มีพระราชดำริให้สร้างระบบอนุรักษ์ดินและน้ำด้วยการปลูกป่าและหญ้าแฝก

2. ดินเปรี้ยวและดินพรุ เช่น ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส มีพระราชดำริให้ทดลองใช้กระบวนการแกล้งดิน และที่จังหวัดนครนายก มีพระราชดำริให้ใช้ระบบชลประทาน คือน้ำจากเขื่อนขุนด่านปราการชล มาช่วยเจือจางดินเปรี้ยว

3. ดินดาน เช่น ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา และศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี มีพระราชดำริให้ใช้หญ้าแฝกซึ่งมีระบบรากแทงทะลุดินอย่างมีประสิทธิภาพ

4. ดินพังทลาย เช่น ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีพื้นที่ลาดเขาเป็นภูเขา มีพระราชดำริให้ใช้หญ้าแฝกซึ่งมีระบบรากเกาะเกี่ยวเสมือนกำแพงธรรมชาติช่วยยึดดินอย่างมีประสิทธิภาพ

5. ดินเค็ม เช่น ที่ห้วยบ่อแดง อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร มีพระราชดำริให้ใช้ระบบชลประทานใช้น้ำช่วยเจือจาง

แนวพระราชดำริในการฟื้นฟูดินทุกประเภทนี้ ทรงใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยมีหน่วยงานที่สนองพระราชดำริ คือ กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น

การแก้ไขปัญหาเรื่องดินดำเนินควบคู่ไปกับปัญหาเรื่องน้ำ เพราะดินที่ดีจะต้องมีน้ำหล่อเลี้ยงให้ชุ่มชื่น การทำลายแหล่งต้นน้ำด้วยการตัดไม้ทำลายป่า เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระบบการไหลของน้ำแปรปรวน บางพื้นที่ในฤดูฝนน้ำท่วมหนัก แต่กลับแล้งจัดในฤดูแล้ง ไม่มีน้ำที่จะหล่อเลี้ยงผืนดินจนไม่สามารถที่จะใช้ประโยชน์ได้ เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำ โปรดเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรพื้นที่กันดารนั้นด้วยพระองค์เอง เพื่อจะได้ทรงพระราชวินิจฉัยแก้ปัญหาให้เหมาะสมกับสภาพแต่ละพื้นที่ เช่น จัดสร้างอ่างเก็บน้ำ ขุดคลองส่งน้ำ สร้างฝายทดน้ำ และสร้างเขื่อน เพื่อช่วยเหลือให้ราษฎรมีน้ำใช้ในการเกษตรตลอดปี

เมื่อการแก้ปัญหาดินและน้ำสำเร็จในแต่ละพื้นที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มิได้ทรงหยุดยั้งการช่วยเหลือราษฎรของพระองค์เพียงเท่านั้น เพราะเมื่อดินดีน้ำดีแล้ว ในขั้นตอนต่อไปคือการสรรหาพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับภูมิประเทศและภูมิอากาศ ในขั้นตอนนี้นอกจากการศึกษาข้อมูล ความนิยมของผู้คน และความต้องการของตลาด แล้วยังทรงนำวิทยาการด้านเทคโนโลยีและหลักวิชาการเกษตรแผนใหม่มาใช้ ด้วยการศึกษาค้นคว้าทดลองด้วยพระองค์เอง

ทั้งการทดลองการปลูกพืชต่าง ๆ ในอาณาเขตพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และจัดตั้งสถานีทดลองการเกษตรขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อให้ได้พืชที่เหมาะสมกับดิน น้ำ และสภาพดินฟ้าอากาศ เมื่อได้ผลที่ดีที่สุดแล้วจึงโปรดให้นำไปเผยแพร่ส่งเสริมเกษตรกรในแต่ละท้องถิ่นนำไปปลูก เช่น ตอนเหนือมีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขา อากาศหนาว จึงทรงแนะนำให้ปลูกผัก ผลไม้ และดอกไม้เมืองหนาว

ภาคใต้ที่มีพรุ ดินเป็นกรด ไม่สามารถปลูกพืชใด ๆ ได้ เฉพาะที่จังหวัดนราธิวาสมีพื้นที่พรุไม่ต่ำกว่า 280,000 ไร่ ทรงแก้ปัญหาดินเป็นกรดให้กลับสภาพเป็นดินดี จากพื้นที่ที่เคยรกร้างว่างเปล่าเจิ่งนองด้วยน้ำ ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่เขียวขจีด้วยพืชพันธุ์ที่เหมาะสมหลากหลาย มีทั้งสวนมะพร้าว สวนยางพารา บางแห่งเป็นนาข้าว เป็นทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์

ส่วนในภาคกลางทรงพระราชดำริว่า ข้าวเป็นพืชสำคัญที่สุดของคนไทย จึงให้ความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับพันธุ์ข้าว วิธีการปลูกข้าวให้ได้ผลดี และดินที่ปลูกข้าว โปรดทดลองทำแปลงนาสาธิตในบริเวณสวนจิตรลดา ตั้งแต่ .. 2504 โดยโปรดให้นำดินมาจากจังหวัดต่าง ๆ ทั้ง 4 ภาค และพันธุ์ข้าวที่คัดเลือกว่าดีและเหมาะสมในแต่ละประเภทของดิน ส่วนวิธีการนั้น โปรดให้ทดลองทำนาแต่ละแบบ คือ ทั้งนาดำ นาหยอด และนาหว่าน การใช้ปุ๋ยบำรุงดินนั้นโปรดทดลองใช้ทั้งปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก จนได้ผลที่ดีที่สุดโดยเฉพาะเป็นข้าวที่มีคุณภาพดี ผลผลิตต่อไร่สูง จึงจะพระราชทานให้ชาวนานำไปปลูกขยายพันธุ์ต่อไป

ผืนแผ่นดินหล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ฉันใด พระราชกรณียกิจในองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอันเกี่ยวกับการพลิกฟื้นผืนดินที่เสียหายถูกทำลายให้อุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุอาหารสำหรับพืช ก็หล่อเลี้ยงชีวิตประชาชนของพระองค์ฉันนั้น

การทรงงานเพื่อการอนุรักษ์ดินและการแก้ปัญหาดินประเภทต่าง ๆ นี้ เป็นงานที่ทรงปฏิบัติอย่างต่อเนื่องมายาวนานเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก ดังปรากฏหลักฐานเป็นรูปธรรมใน .. 2547 สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Sciences) มีมติเสนอให้วันพระบรมราชสมภพ 5 ธันวาคม เป็นวันดินโลก (World Soil Day) เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระเกียรติคุณและพระปรีชาสามารถในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นพลังของแผ่นดินไทยอย่างแท้จริง

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 ตุลาคม 2562