ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ธนิต อยู่โพธิ์ ย้อนเล่าเรื่อง ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับพระแสงดาบ ที่ขุดได้จากกรุวัดราชบูรณะ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงให้ความสนพระทัยโบราณวัตถุเป็นอย่างยิ่ง ได้เสด็จไปทอดพระเนตรบรรดาของที่ขุดได้จากกรุวัดราชบูรณะ ณ กองกำกับการตำรวจภูธร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500
หลังจากทอดพระเนตรเสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปประทับเพื่อเสวยพระกระยาหารกลางวัน ณ บริเวณ วังโบราณ ในวันนั้น นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอย่างใกล้ชิด และได้เล่าถึงเหตุการณ์สำคัญยิ่งในวันดังกล่าวว่า
“มีประชาชนมาเฝ้ารับเสด็จเต็มไปหมด พระองค์ประทับเสวยบนเสื่อจันทรบูร ใต้ร่มมะขาม พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรให้นายธนิต อยู่โพธิ์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่ใกล้ๆ เผื่อพระองค์จะมีรับสั่งถาม ระหว่างเสวยก็ทอดพระเนตรไปรอบๆ รับสั่งว่า เอ๊ะทำไมคนมากมาย
กราบทูลว่า ชาวบ้านเขาพากันจะมาดูการทรงถอดพระแสงดาบที่ขุดได้จากวัดราชบูรณะ
รับสั่งว่า สนิมจับอย่างนั้นใครจะถอดออก
กราบทูลว่า ชาวบ้านพูดกันเช่นนั้น จึงกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ
รับสั่งว่า นี่เขามีน้ำมันกัดสนิมนะ เอาน้ำมันนั่นมาหยอดสิ
กระแสพระราชดำรัสวันนั้น คือ พระราชดำรัสที่ก่อให้เกิดการสงวนรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ตามอย่างวิทยาการสมัยใหม่ แสดงว่าพระองค์ทรงทราบเกี่ยวกับวิทยาการสงวนรักษาโบราณวัตถุเป็นอย่างดี จึงได้ทรงแนะนำวิธีการและมิได้ทรงถอดพระแสงโดยที่มิได้ผ่านการศึกษาอย่างเป็นวิชาการเสียก่อนและด้วยกระแสพระราชดำรัสนี้ กรมศิลปากรได้จัดส่งนักวิทยาศาสตร์ไปศึกษาวิชาการสงวนรักษาโบราณวัตถุยังต่างประเทศ ก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิทยาการในการปฏิบัติงานด้านนี้อย่างดีจนมาทุกวันนี้
ต่อมา…พระแสงดาบองค์นั้นได้ทอดไว้ ณ ห้อง แสดงศิลปวัตถุสมัยอยุธยา ในวันเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารสร้างใหม่ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๑๐…หลังจากพระองค์เสด็จพระราชดำเนิน ทอดพระเนตรไปเรื่อยๆ จนถึงห้องอยุธยาซึ่งตั้งโต๊ะทอดพระแสงไว้ พอทอดพระเนตรเห็นก็รับสั่งถามว่า
นั่นพระแสงดาบเล่มนั้นใช่ไหม
ใช่พระพุทธเจ้าข้า
แล้วเป็นยังไงถอดได้ไหม แล้วท่านก็เสด็จพระราชดำเนินตรงไปถอดพระแสง แสดงว่าทรงสนพระทัยอย่างจริงจังและไม่เคยทรงลืม…”
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, 2542” ในบทที่ 7 พระมหากรุณาธิคุณในการพัฒนาท้องถิ่น
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 พฤษภาคม 2559