ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อเกิด “ไฟไหม้” สิ่งที่ทุกคนต้องการขนย้ายหนีกองเพลิงก็ล้วนแต่ “ของมีค่า” หากของมีค่าของแต่ละบุคคลไม่ใช่แก้วแหวนเงินทองเสมอไป ดังที่ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ รับสั่งว่า “…ถ้าเกิดไฟไหม้ไม่ต้องเก็บเครื่องเพชร ให้เก็บหนังสือก่อน…” ที่แสดงให้เห็นสำหรับพระองค์ “หนังสือ” คือของมีค่ากว่า “เครื่องเพชร”
สมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ หรือ สมเด็จพระราชปิตุฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร (พ.ศ. 2427-2482) พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า แต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ผู้เป็นพระขนิษฐา ทรงขอไปเป็นพระราชธิดาบุญธรรมตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ มีพระราชดำริเกี่ยวกับการศึกษาของสตรีว่า ความรุ่งเรืองของบ้านเมืองจะบรรลุผลสำเร็จได้ ขึ้นอยู่กับการศึกษาของประชาชนชายหญิง แต่ขณะนั้น สตรีไทยยังล้าหลังบุรุษอยู่มากในเรื่องการศึกษา เพราะสตรีขาดผู้อุดหนุนและชักนำให้เห็นคุณประโยชน์ของเรียน
ด้วยพระเจตนารมณ์ดังกล่าว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถจึงทรงปลูกฝังให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ทรงเห็นคุณค่า สนพระทัย และรักการศึกษา เริ่มตั้งแต่โปรดให้อาจารย์ทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามาสอนเจ้าฟ้าหญิงในราชสำนักฝ่ายในตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทำให้ทรงแตกฉานในวิชาการและภาษาต่างๆ
สมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ทรงถ่ายทอดปลูกฝังนิสัยรักการศึกษาให้แก่ข้าหลวงที่อยู่ในพระอุปถัมภ์ ข้าหลวงทุกคนได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสมตามลำดับอายุ ข้าหลวงชั้นเล็กจะมีครูมาสอนหนังสือถึงพระตำหนักที่ประทับ ข้าหลวงที่โตหน่อยจะโปรดให้ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนราชินีสุนันทาลัย
พระองค์ยังทรงสนับสนุนสตรีทั่วไปให้ได้รับการศึกษาด้วย โดยโปรดประทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างสถานศึกษาใหม่ๆ ขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เช่น โรงเรียนราชินีบน, โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์, โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ จังหวัดเพชรบุรี ฯลฯ
ในส่วนพระองค์เองทรงใช้ความสนพระทัยเกี่ยวกับความรู้รอบพระองค์อยู่ตลอดเวลา เล่ากันว่าทรงสั่งหนังสือจากต่างประเทศหลากหลายประเภท ทรงใช้เวลาว่างทุกเวลาทรงหนังสือและทรงพระอักษร โดยเฉพาะก่อนพระบรรทมจะทรงหนังสือจนดึก ทั้งนี้เพราะมีพระดำริว่าวิชาการความรู้เท่านั้นที่จะเป็นสมบัติเพียงอย่างเดียวที่ติดตัวไปจนตาย สำหรับพระองค์ “หนังสือ” คือของมีค่ากว่า “เครื่องเพชร” ดังพระดำรัสที่สะท้อนให้เห็นถึงพระดำรินี้คือ
“…ของประดับถ้าไม่รู้จักเก็บรักษาก็สูญหายได้ แต่วิชาความรู้นั้นติดตัวไปตลอดชีวิต…” และ “…ถ้าเกิดไฟไหม้ไม่ต้องเก็บเครื่องเพชร ให้เก็บหนังสือก่อน…”
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. วาทะเล่าประวัติศาสตร์, สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2556.
แก้ไขปรับปรุงในระบบออนไลน์ครั้งล่าสุดเมื่อ 11 พฤษภาคม 2567