รัชกาลที่ 7 เสียพระราชหฤทัยที่มิอาจทำในสิ่งที่นำความสุขสมบูรณ์มาสู่ประชาชนของพระองค์

พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม วันที่ 10 ธันวาคม 2475

“สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ก็ดี พ่อขุนรามคำแหงฯ ก็ดี ท่านเป็นพระมหากษัตริย์ที่สร้างความสุขสมบูรณ์แก่บ้านเมือง ฉันรักษาบ้านเมืองให้สุขสมบูรณ์ไม่ได้ อย่าให้ฉันใช้สมบัติของท่านเลย–“

เป็นพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2476 อันเป็นวันเตรียมการเปิดสภาผู้แทนราษฎร ทรงมีรับสั่งกับ เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ เสนาบดีกระทรวงวัง ซึ่งมีหน้าที่ที่จะต้องเตรียมการพระราชพิธีนี้ ได้บันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ ว่าพระราชพิธีนี้จะต้องทรงเครื่องต้นเต็มพระอิสริยยศตามขัตติยราชประเพณี ทรงมีพระราชดำรัสสั่งว่า

“เจ้าคุณอย่าเอาพระสังวาลของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มาให้ฉันใส่นะ เอาเส้นจำลองก็แล้วกัน” รับสั่งแล้วก็ทรงนิ่งไปพักหนึ่ง รู้สึกว่าพระสุรเสียงแตกพร่าผิดปกติ สักครู่จึงรับสั่งต่อไปอีก “แล้วก็พระแท่นมนังคศิลาของพ่อขุนรามคำแหงฯ ก็เหมือนกัน ให้เอาที่จำลอง”

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ปวงชนชาวไทยก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ดังจะเห็นได้จากพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัตินับแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติตามลำดับดังนี้

เมื่อแรกที่เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ โปรดให้ตั้งอภิรัฐมนตรีเป็นการกระจายงานและกระจายอำนาจ และเพื่อฝากสอนข้าราชการให้มีความคิดอ่าน พูดจาและรู้จักออกความคิดเห็น

พ.ศ. 2476 มีหลักฐานถึงพระราชปุจฉา 9 ข้อ ที่ทรงบันทึกพระราชทานไปยังพระยากัลยาณไมตรี (ดร.ฟรานซิส ปีแซย์) ทรงขอคำปรึกษา ว่าไทยควรจะมีธรรมนูญการปกครองในรูปแบบใด และถึงเวลาสมควรหรือยังที่ไทยจะเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็นประชาธิปไตย

แต่อย่างไรก็ตามพระองค์ก็ทรงเตรียมปูพื้นฐานเพื่อมอบอำนาจการปกครองให้ แก่ปวงชนชาวไทย เช่น ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเวลานั้น ให้เร่งรัดจัดการเกี่ยวกับเรื่อง ประชาภิบาล (คือเทศบาลในสมัยต่อมา) เพื่อฝากให้ประชาชนได้รู้จักใช้สิทธิในการออกเสียงควบคุมการบริหารท้องถิ่น ก่อนที่จะเข้าไปคุมการบริหารในระบบรัฐสภาต่อไป ทรงตั้ง “สภาบำรุงชายทะเลตะวันตก” ขึ้นที่หมู่บ้านชายทะเลตั้งแต่ตำบลบ้านชะอำไปจนถึงตำบลหัวหิน เป็นการทดลองให้ประชาชนในท้องถิ่นได้ปกครองตนเอง

ใน พ.ศ. 2470 โปรดให้ตราพระราชบัญญัติองคมนตรี กำหนดให้มีสภากรรมการองคมนตรี ทำหน้าที่ประชุมปรึกษาหารือข้อราชการตามแต่จะโปรดพระราชทานปัญหามาทรงปรึกษาขอความเห็น และใน พ.ศ. 2474 ขณะเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และแคนาดา พระราชทานสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2474 ที่กรุงวอชิงตัน แสดงพระราชประสงค์ที่จะทรงจำกัดพระราชอำนาจของพระองค์และพระราชทานอำนาจนั้นแก่ราษฎรในการปกครองประเทศ โดยจัดในรูปแบบเทศบาลขึ้นก่อนเพื่อเป็นฐานก้าวไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในโอกาสภายหน้า

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวางพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยทีละน้อยตามลำดับเรื่อยมา ควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปได้รับการศึกษา เพื่อจะได้รู้จักหน้าที่ของตน เมื่อระบอบการปกครองของประเทศเปลี่ยนไป ทรงค่อยเพาะค่อยบ่ม เพื่อให้ได้รับผลที่สมบูรณ์และงดงามที่สุด

เมื่อคณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นั้น มิได้ทรงแปลกหรือตกพระทัยเลย เพราะทรงคาดการณ์อยู่แล้ว ทรงเสียดายเพียงผลที่ได้รับจะไม่งดงามและสมบูรณ์ดังเช่นที่ทรงหวังไว้ แต่สิ่งที่ทำให้ทรงเสียพระทัยอย่างยิ่งก็คือ คำประกาศของคณะราษฎร ถึงเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งถือเอาเรื่องความประพฤติและการปฏิบัติตนไม่สมควรบางอย่างของพวกเจ้าเป็นเหตุผล สำคัญ ซึ่งทรงถือเป็นการเสื่อมเสียแก่พระเกียรติยศของบูรพกษัตริย์ และเมื่อคณะราษฎรอัญเชิญเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต์รัฐธรรมนูญนั้น ทรงเปรียบการกระทำของคณะราษฎร ว่าเหมือนเอาผ้ามาจะทำธง แล้วเอามาเหยียบย่ำเสียให้เปรอะเปื้อน แล้วเอาขึ้นมาชักเป็นธงจะเป็นเกียรติยศงดงามแก่ชาติหรือ แต่เพื่อความสงบของบ้านเมือง ความสุขของราษฎร และเพื่อช่วยให้เสถียร ภาพของรัฐบาลมั่นคงเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ จึงทรงยินยอมที่จะดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในระบอบประชาธิปไตย โดยทรงมีพระราชดำริว่า เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองสงบเรียบร้อยแล้ว ก็จะทรงสละราชสมบัติ

ความเสียพระราชหฤทัยที่มิอาจทำในสิ่งที่นำความสุขสมบูรณ์มาสู่ประชาชนของพระองค์ ตามเยี่ยงบูรพมหากษัตริย์ได้ จึงทำให้ทรงมีพระราชดำริว่าไม่ควรจะนำสิ่งอันเป็นมงคลยิ่งของบูรพกษัตริย์มาใช้ ดังพระราชดำรัสที่ว่า

“สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ก็ดี พ่อขุนรามคำแหงฯ ก็ดี ท่านเป็นพระมหากษัตริย์ที่สร้างความสุขสมบูรณ์แก่บ้านเมือง ฉันรักษาบ้านเมืองให้สุขสมบูรณ์ไม่ได้ อย่าให้ฉันใช้ สมบัติของท่านเลย”


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 10 เมษายน พ.ศ. 2562