เผยแพร่ |
---|
ปี 2008 ภูฏานจัดการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ ภายใต้สภาพจำนวนประชากรไม่ถึงล้านคน การเลือกตั้งครั้งนั้นถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นผลมาจากการทุ่มเทของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก
สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์วังชุก พระองค์ทรงสละราชสมบัติเมื่อ ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) เจ้าชายจิกมี นัมเกล วังชุก พระราชโอรสพระองค์แรก และองค์รัชทายาทเสด็จขึ้นครองราชย์แทน
เป็นที่ทราบกันว่าสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ทุ่มเทเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่สืบทอดต่อกันมายาวนานให้เป็นระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐสภา
หลายร้อยปีที่ผ่านมา ภูฏานปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยไม่มีรัฐธรรมนูญ ไม่มีพรรคการเมือง หวังหลง นักเขียนและนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ “ราชสำนักจีนหันซ้าย โลกหันขวา” บรรยายว่า ประชาชนภูฏานไม่ได้เรียกร้องให้ใช้ระบอบประชาธิปไตย คนส่วนใหญ่เชื่อมั่นในกษัตริย์เป็นอย่างยิ่ง ครั้งที่พระองค์ประกาศสละพระราชอำนาจ และประกาศใช้ระบอบการปกครองประชาธิปไตย ประชาชนจำนวนหนึ่งยังเสียใจและกังวลอยู่ลึกๆ
อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ทรงตรัสโน้มน้าวประชาชนด้วยพระองค์เองอย่างจริงใจว่า การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่อาจรับประกันว่าจะได้กษัตริย์ที่ดีตลอดกาล แต่ระบอบประชาธิปไตยสามารถรับประกันได้ว่าประชาชนจะมีสิทธิ์ปลดกษัตริย์ไม่ดี และรักษาสิทธิประโยชน์ของทุกคนเอาไว้
หวังหลง ยกพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า
“เพื่อความสุขนิรันดร์ของชาวภูฏาน พวกเราจำเป็นต้องผลักดันระบอบประชาธิปไตย ระบอบที่มีประสิทธิภาพนั้นสำคัญกว่าราชบัลลังก์นัก”
สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ทรงครองราชย์ตั้งแต่ค.ศ. 1972-2006 พระองค์ได้รับการยกย่องจากนานาประเทศว่าเป็นผู้ปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยในหลายด้าน อาทิ การเกษตรในช่วง 70s ด้วยโครงการพัฒนาชุมชนเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี มีอาหารและรายได้อย่างพอเพียง ความสำเร็จของโครงการนำร่องทำให้ชุมชนอื่นสนใจนำแนวทางมาปฏิบัติตาม
ปี 1999 รัฐบาลยกเลิกแบนโทรทัศน์และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต พระองค์ตรัสว่าโทรทัศน์เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่นำพาไปสู่ความทันสมัยเช่นเดียวกับองค์ประกอบอื่นที่มีผลต่อดัชนีชี้วัดความสุขของภูฏาน อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงเตือนว่าหากใช้เทคโนโลยีอย่างไม่ถูกต้อง เทคโนโลยีย่อมส่งผลกระทบต่อคุณค่าในวิถีดั้งเดิมของภูฏาน
ในด้านการปกครอง พระองค์ทรงมีรับสั่งให้ร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2001 และในปี 2005 พระองค์ประกาศให้จัดเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2008 ซึ่งทางการและสื่ออินเดียต่างมองว่า อินเดียมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือให้ภูฏานเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองสืบเนื่องมาจากการช่วยเหลือจากรัฐบาลและคณะกรรมการการเลือกตั้งของอินเดีย โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งของอินเดียเป็นผู้เชิญคณะกรรมการการเลือกตั้งของภูฏานให้มาดูงานที่อินเดียในปี 2006 หลังจากที่ภูฏานมีคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ไม่กี่ปีต่อมา ทรงถ่ายโอนพระราชอำนาจมาสู่สภารัฐมนตรี และบัญญัติให้สามารถฟ้องร้องตำแหน่งกษัตริย์ได้ด้วยเสียง 2 ใน 3 ของสภาแห่งชาติ
ภูฏานยังถูกนักวิชาการมองว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ผสมผสานประเพณีและค่านิยมดั้งเดิมที่มีมายาวนานกับองค์ประกอบของ “ความทันสมัย” สะท้อนผ่านการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองอย่างราบรื่น โดยอิทธิพลที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงมีหลายปัจจัย ทั้งอิทธิพลจากอินเดีย หรือความเปลี่ยนแปลงของหลายทวีปทั่วโลก
การวางรากฐานทางประชาธิปไตยจากพระบิดาทำให้สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี นัมเกล วังชุก พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องรับพระราชภารกิจบริหารประเทศ และด้วยพระจริยวัตรของกษัตริย์พระองค์ปัจจุบันทำให้สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี นัมเกล วังชุก เป็นกษัตริย์ที่ได้รับความนิยมในหมู่ประชาชน
อ้างอิง:
หวังหลง, ราชสำนักจีนหันซ้าย โลกหัวขวา. เขมณัฏฐ์ ทรัพย์เกษมชัย และสุดารัตน์ วงศ์กระจ่าง แปล. กรุงเทพฯ : มติชน, 2559
Wangchuk, Rinchen Norbu. “India’s Critical Role in Bhutan’s Historic Path From Absolute Monarchy to Democracy”. The Better India. Online. 18 FEB 2019. <https://www.thebetterindia.com/172766/india-bhutan-history-role-monarchy-democracy/>