พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระราชวิเทโศบายเปิดประเทศ

รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กับ “พระราชวิเทโศบาย” เปิดประเทศ ที่ช่วยปูทางมิให้สยามต้องตกเป็นอาณานิคมตะวันตกในยุคถัดมา 

“—อาวุธชนิดเดียวซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อเราในอนาคตก็คือวาจาและหัวใจของเราอันกอร์ปด้วยสติและปัญญา—”

เป็นข้อความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานไปยัง พระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ซึ่งเป็นราชทูตพิเศษ เดินทางไปฝรั่งเศสเพื่อเจรจาความเมืองกับรัฐบาลพระเจ้านโปเลียนที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2410 สืบเนื่องจากการที่มหาอำนาจทั้งสอง คือ อังกฤษและฝรั่งเศส ต่างพยายามแผ่อิทธิพลเข้าครอบครองดินแดนในแถบเอเชีย

อังกฤษได้พม่าและมลายู ฝรั่งเศสได้ญวน และกำลังพยายามทุกวิถีทางที่จะเข้าครอบครองเขมรและลาว ซึ่งขณะนั้นเขมรเป็นเมืองขึ้นของไทย แต่ฝรั่งเศสไม่สนใจ อ้างว่าเมื่อฝรั่งเศสยึดญวนได้แล้วจึงมีอำนาจที่จะสืบสิทธิของญวนเหนือดินแดนเขมร ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของญวน แต่ไทยไม่ยินยอม แย้งว่าขณะนั้นเขมรเป็นเมืองขึ้นของไทย หลักฐานที่ไทยใช้อ้างคือ การที่เขมรต้องส่งเครื่องราชบรรณาการให้ไทยเป็นประจำทุกปี และกษัตริย์ไทยยังเป็นผู้ดูแลจัดการสถาปนากษัตริย์เขมรตามพระราชพิธีแบบไทยมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทรงอ้างถึงคือ คำขึ้นต้นจดหมายทุกฉบับของราชทูตฝรั่งเศสชื่อ นายชาร์ลส์ เดอ มงติญี่ (Charles de Montigny) ส่งมาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ยังรับรองความเป็นเจ้าอธิราชของไทยเหนือเขมรอย่างเป็นทางการ โดยขึ้นต้นจดหมายว่า “—พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งสยามกษัตริย์แห่งลาว เจ้าอธิราชแห่งเขมรและแหลมมลายูเกือบทั้งหมด—”

แม้จะอ้างหลักฐานหรือเหตุผลใดๆ ก็ตาม ฝรั่งเศสก็ยังดึงดันที่จะยึดเขมรเป็นอาณานิคมให้ได้ โดยวิธีบังคับให้เขมรทำสัญญายินยอมยกดินแดนให้เป็นอาณานิคม และข่มขู่ไทยให้สละและยกเขมรให้ฝรั่งเศส มิฉะนั้นจะใช้กำลังกองทัพเรือเข้าบังคับ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักพระราชหฤทัยถึงภยันตรายอันเกิดจากนักล่าอาณานิคมชาวตะวันตก พระองค์จึงทรงให้ความสนพระราชหฤทัยในพฤติกรรมของชาวตะวันตกที่เกี่ยวเนื่องกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ทรงศึกษาถึงแนวคิดและวิธีปฏิบัติของชาวตะวันตก พบว่าการคุกคามของจักรวรรดินิยมตะวันตกมีลักษณะทั้งที่เหมือนและที่ต่างกับการรุกรานของพวกเอเชียด้วยกัน คือ มีวัตถุประสงค์เพื่อการเข้าครอบครองเหมือนกัน แต่มีความแตกต่างด้านสาเหตุการเข้าครอบครอง อันเนื่องมาจากวัฒนธรรมและแนวคิด การรุกรานของชาวตะวันออก ส่วนใหญ่เป็นการแสดงความมีอำนาจ หรือมีกำลังที่เหนือกว่า

แต่สำหรับชาวตะวันตกถือว่ามนุษย์ทุกคนในโลกจะต้องมีความสุขความเจริญอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน และถือว่าประเทศตนเป็นประเทศที่เจริญ มีทั้งความก้าวหน้าทางวิทยาการและความสูงส่งทางวัฒนธรรม เมื่อพบประเทศใดที่ยังไม่มีความเจริญ ต้องพยายามหาหนทางเข้าไปช่วยเหลือนำความสุขความเจริญไปให้ ดังที่ได้ปฏิบัติกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ญวน

แม้ รัชกาลที่ 4 จะทรงทราบดีว่าแนวคิดและวิธีปฏิบัติดังกล่าวเป็นเพียงข้ออ้างในการที่จะเข้าครอบครองดินแดนต่างๆ ก็ตาม เมื่อทรงทราบแนวคิดของชาติตะวันตก จึงทรงพยายามศึกษาถึงข้อด้อยของคนชาติตะวันออก ทรงพบว่าข้อด้อยสำคัญคือแสนยานุภาพ ซึ่งประกอบด้วยอาวุธยุทธภัณฑ์แบบใหม่ที่มีอานุภาพสูง พาหนะซึ่งสะดวกรวดเร็วกว่าอาวุธและพาหนะที่ชาวเอเชียใช้กันอยู่สมัยนั้น

ประการสำคัญมหาอำนาจที่ครอบครองยุทธภัณฑ์ทันสมัยดังกล่าวคือ อังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งล้วนเข้ามามีบทบาทในการแย่งกันเข้าครอบครองประเทศทางเอเชีย รวมทั้งราชอาณาจักรสยามด้วย ดังที่ทรงเล่าถึงสถานการณ์ขณะนั้นไว้ในพระราชหัตถเลขาฉบับเดียวกันว่า

“—ในเมื่อสยามถูกรังควาญโดยฝรั่งเศสด้านหนึ่งโดยอังกฤษอีกด้านหนึ่ง—เราต้องตัดสินใจว่าเราจะทำอย่างไร จะว่ายทวนน้ำขึ้นไปเพื่อทำตัวเป็นมิตรกับจรเข้หรือว่าว่ายออกทะเลไปเกาะปลาวาฬไว้—”

ในสถานการณ์เช่นนี้ รัชกาลที่ 4 ต้องมีพระราชดำริอย่างรอบคอบ ทรงทราบถึงสาเหตุของการที่ประเทศเพื่อนบ้านต้องตกเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตกนั้น เพราะประการแรกไม่มีความรู้เกี่ยวกับชาวตะวันตกจึงประเมินการผิดพลาด อีกประการหนึ่งคือความด้อยกว่าในเรื่องกำลังศัสตราวุธ ยานพาหนะ กำลังพล ตลอดจนวิธีการรบ ซึ่งล้วนแต่ล้าสมัย และทรงตระหนักพระราชหฤทัยดีว่าสยามก็มิได้มีความแตกต่างจากเพื่อนบ้านเหล่านั้นเท่าใดนัก

หนทางที่จะเอาชนะนักล่าอาณานิคมตะวันตกก็คือความทัดเทียมในด้านกำลังอาวุธ พาหนะ และกำลังพล แต่ก็ทรงมองไม่เห็นความเป็นไปได้ ดังพระราชปรารภที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขาฉบับเดียวกัน ความว่า

“—ถ้าหากว่าเราพบบ่อทองในประเทศ เราพอที่จะใช้ซื้อเรือรบจำนวนร้อยๆ ลำก็ตาม เราก็คงไม่สามารถจะสู้กับพวกนี้ได้ เพราะเราจะต้องซื้อเรือรบและอาวุธจากประเทศเหล่านี้ (อังกฤษและฝรั่งเศส) พวกนี้จะหยุดขายให้เราเมื่อไรก็ได้—”

เมื่อทรงตระหนักพระราชหฤทัยว่ามิอาจเอาชนะศัตรูด้วยกำลังอาวุธ กำลังกองทัพแล้ว ทรงเห็นว่าวิธีเดียวที่จะทำให้สยามรอดพ้นเงื้อมมือนักล่าอาณานิคมเหล่านี้ได้ ก็คือการรู้จักศัตรูให้แจ่มแจ้ง รู้ถึงแนวความคิด วัตถุประสงค์ จุดอ่อนจุดแข็ง และวิธีการปฏิบัติด้วยการผูกมิตรและปฏิบัติกับประเทศเหล่านี้อย่างเป็นมิตรและเสมอภาค

ครั้งแรกทรงเห็นว่าอังกฤษน่าจะเป็นมิตรที่ดีกว่าฝรั่งเศส ซึ่งมีทีท่าคุกคามสยามอย่างเปิดเผยและรุนแรง จึงทรงพยายามผูกมิตรกับอังกฤษ โดยทรงหวังให้อังกฤษช่วยคานอำนาจฝรั่งเศส และในการที่จะคบค้าสมาคมกับชาวยุโรปอย่างเป็นมิตรและเสมอภาคกันนั้น สยามก็จะต้องปรับตัวให้เข้ากับมหามิตรในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านชีวิตความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เพื่อมิให้มหาอำนาจดูถูกดูหมิ่นว่าเป็นประเทศป่าเถื่อนล้าหลัง และหาเหตุใช้กำลังเข้ายึดครองประเทศ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้องพัฒนาบ้านเมืองในด้านต่างๆ อย่างเร่งรีบ และเป็นแนวทางให้รัชกาลต่อมาปฏิบัติอย่างสืบเนื่อง

จึงอาจกล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์สมัยรัตนโกสินทร์พระองค์แรกที่ทรงเริ่ม “พระราชวิเทโศบาย” เปิดประเทศคบค้าสมาคมกับชาวตะวันตก ยอมรับวัฒนธรรมบางอย่างมาใช้ บางอย่างก็มาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทย ทรงศึกษาวิชาการที่ทันสมัยจากตำรา สดับตรับฟังข่าวสารความเคลื่อนไหวของชาวตะวันตกจากหนังสือพิมพ์ และจากการสนทนากับเจ้าของประเทศ

ทำให้ทรงรู้แนวคิดและวิธีปฏิบัติตนให้พ้นจากภัยคุกคามของมหาอำนาจตะวันตก จึงทรงดำเนิน พระราชวิเทโศบาย ตามคตินิยมแบบใหม่ เช่น การส่งทูตไปเจรจาชี้แจงความจริงอันไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับสยาม เรียกร้องความยุติธรรมอันเป็นวิธีที่ชาวตะวันตกถือว่าเป็นวิธีการของอารยประเทศ จึงเป็นที่มาของพระราชดำรัสที่ว่า

“—อาวุธชนิดเดียวซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อเราในอนาคตก็คือวาจาและหัวใจของเราอันกอร์ปด้วยสติและปัญญา—”

นับเป็น “พระราชวิเทโศบาย” สำคัญอันเกิดจากพระสติปัญญาเฉลียวฉลาดและสายพระเนตรกว้างไกล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ได้อย่างถูกต้อง เป็นแนวทางให้พระมหากษัตริย์พระองค์ต่อมาทรงปฏิบัติตาม เป็นผลให้สยามเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่รอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 14 มีนาคม 2562