“เครือมติชน” จัดใหญ่! “๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์” ชมของหายากยุค 2475 มากสุดในไทย 23-24 มิ.ย. นี้

เครือมติชน สโมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล

เดือนมิถุนายนปีนี้ บรรยากาศเต็มไปด้วยความคึกคัก มีชีวิตชีวา ไม่เพียงเพราะเพิ่งผ่านพ้นการเลือกตั้งทั่วไปตามวิถีระบอบประชาธิปไตย แต่ยังเพราะเป็นเดือนที่มีความสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

เครือมติชน นำโดย ศิลปวัฒนธรรม, สำนักพิมพ์มติชน, ศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC) และเส้นทางเศรษฐี จึงชวนทุกคนย้อนบรรยากาศ “วันชาติ” ด้วยการจัดงานใหญ่ สโมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล “๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์” เวลา 10.00-20.00 น. ระหว่างวันที่ 23-24 มิถุนายน 2566 ที่มติชนอคาเดมี

จัดเต็ม 6 ไฮไลต์ งานนี้งานเดียว! ทั้งระดมนักวิชาการเบอร์ต้นมากสุดขึ้นเวทีทอล์ก, นิทรรศการ “เปิดกรุ” ของหายากยุค 2475 มากสุดในเมืองไทย, เทศกาลหนังสือการเมืองจาก 8 สนพ. ชื่อดัง, วอล์กกิ้ง ทริป ย้อนวันย่ำรุ่งประชาธิปไตย, เพลิดเพลินกับปาร์ตี้ย้อนยุค “บรรเลงรมย์” โดย โฉมฉาย อรุณฉาน พร้อมเสิร์ฟเมนูเด็ดยุคสร้างชาติ

“เครือมติชน” ยืนหนึ่งคอนเทนต์ประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม

ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ในโลกของข้อมูลข่าวสารและเนื้อหาสาระ เครือมติชนไม่เคยหยุดยั้งในการนำเสนอประเด็นใหม่ๆ ในแง่มุมต่างๆ ผ่านช่องทางและแพลตฟอร์มทั้งหมดของเครือมติชน เพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมองค์ความรู้ ติดอาวุธทางปัญญาและความคิดให้สังคมไทย

ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เล่าว่า เครือมติชนให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม ตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นพ็อกเก็ตบุ๊กของสำนักพิมพ์มติชน, การจัดวอล์กกิ้ง ทัวร์ ของศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC), ทัวร์รายการต่างๆ ของมติชนอคาเดมี, รายการขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว, โปรเจ็กต์ “ทอดน่องท่องฟ้า” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทยสมายล์ ร่วมกับ ทัวร์เอื้องหลวง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และเครือมติชน นำรายการ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว เปิดให้ผู้โดยสารรับชมบนเครื่องบินไทยสมายล์ ตั้งแต่ปลายปี 2565 ถึงปัจจุบัน รวมถึง Knowledge Book Fair เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม และอีเวนต์เสวนา อย่าง สโมสรศิลปวัฒนธรรม

ล่าสุด ในวาระครบรอบ “91 ปี 24 มิถุนา” จะเป็นครั้งแรกที่ 4 สื่อในเครือ ได้แก่ ศิลปวัฒนธรรม, สำนักพิมพ์มติชน, ศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC) และเส้นทางเศรษฐี ร่วมกันจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ คือ สโมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล “๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์” 2 วันเต็ม ตั้งแต่ 23-24 มิถุนายนนี้

“ย้อนกลับไปในปี 2563 ต่อเนื่องมาถึงปี 2564 สำนักพิมพ์มติชนตีพิมพ์หนังสือชุด 2475 ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี จนเมื่อปี 2565 เราจัดงาน 90 ปี 2475 อภิวัฒน์สยาม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม มีผู้เข้าร่วมฟังปาฐกถาพิเศษ, เสวนาวิชาการ และวอล์กกิ้ง ทัวร์เป็นจำนวนมาก ถือเป็นหนึ่งในงานที่ประสบความสำเร็จสูงสุด

“นอกจากนั้น ยังทดลองจัดนิทรรศการส่วนเล็กๆ ชื่อว่า ศิลปะ สถาปัตยกรรม สิ่งพิมพ์ คณะราษฎร ในงาน สมานมิตรฯ Return เปิดโกดังหนังสือดี เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งประสบความสำเร็จอีกเช่นกัน นำมาสู่การจัดงานใหญ่ในปีนี้ที่มีบรรยากาศทางการเมืองเหมาะสม สำนึกในความเป็นชาติเบ่งบาน จะเห็นได้จากงานวันชาติที่จัดขึ้นหลายงานในช่วง 23-24 มิถุนายนนี้” ปานบัว เผย

ขึ้นชื่อว่าเป็นงานใหญ่ทั้งที สโมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล “๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์” จึงอัดแน่น 6 ไฮไลต์ ให้ผู้ร่วมงานได้สาระความรู้และความเพลิดเพลินอย่างเต็มอิ่ม

กรรมการผู้จัดการ เครือมติชน เล่ารายละเอียดว่า งานนี้เป็นการรวมตัวของนักวิชาการแถวหน้าของไทยที่มาร่วมเวที “เสวนา ศิลปวัฒนธรรมสเปเชียล” โดย ศิลปวัฒนธรรม และ Book Talk โดย สำนักพิมพ์มติชน รวมถึง 9 เวที หลากหลายมิติ

นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการ “เปิดกรุ” ของสะสมหายาก ยุค 2475 กว่า 250 ชิ้น ที่ไม่เคยจัดแสดงมาก่อน เช่น ขันเงินที่ระลึกงานฉลองรัฐธรรมนูญ ปี 2476, เข็มกลัดที่ระลึกงานฉลองรัฐธรรมนูญ ปี 2476, เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และเข็มกลัดลายพานรัฐธรรมนูญ ที่แจกให้ผู้ปราบกบฏบวรเดช ปี 2476, เหรียญที่ระลึกเปิดอนุสรณ์รัฐธรรมนูญ จังหวัดสุรินทร์ 10 ธันวาคม 2476, กระดุมที่ระลึกงานวันชาติ ปี 2482-2485, กระดุมที่ระลึกรวมไทย 2483 (เรียกร้องดินแดน), ภาพถ่าย, สื่อสิ่งพิมพ์ และโปสเตอร์ เป็นต้น

“งานนี้ยังมี ‘เทศกาลหนังสือการเมือง ๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์’ ซึ่งถือเป็นเทศกาลหนังสือการเมืองครั้งแรก โดยสำนักพิมพ์มติชน และ 7 เพื่อนสำนักพิมพ์ คือ สำนักพิมพ์แสงดาว, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, สำนักพิมพ์ต้นฉบับ, สำนักพิมพ์ยิปซี, สำนักพิมพ์สารคดี-เมืองโบราณ, สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน และสำนักพิมพ์สมมติ มีหนังสือให้เลือกมากมาย ทั้งหนังสือใหม่ หนังสือเก่า หนังสือหายาก หนังสือคลาสสิก เนื้อหาครอบคลุมทุกมิติประเด็นการเมือง

“อีกหนึ่งไฮไลต์คือ คอนเสิร์ต บรรเลงรมย์ โดย คุณโฉมฉาย อรุณฉาน รวมถึงรับชมภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อย่างพระเจ้าช้างเผือก และชิมเมนูอาหารยุคสร้างชาติ ที่คัดสรรโดยเส้นทางเศรษฐีออนไลน์ จึงอยากชวนทุกคนมาร่วมสัมผัสบรรยากาศการเฉลิมฉลองวันชาติไปด้วยกัน”

 

เครือมติชน สโมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล "๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์"
รูปปั้นปรีดี พนมยงค์ (ซ้าย) และรูปปั้นหลวงพิบูลสงคราม (ขวา) ของสะสมส่วนตัว นริศ จรัสจรรยาวงศ์

“ศิลปวัฒนธรรม” ชูเวทีทอล์กจุใจ-สุดอลัง! “เปิดกรุ” ของสะสมยุค 2475 มากสุดในไทย

ด้าน สุพจน์ แจ้งเร็ว บรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เล่าว่า กองบรรณาธิการจัด “สโมสรศิลปวัฒนธรรม” ต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2557 มีการเสวนาในหัวข้อต่างๆ ทุกเดือน เป็นงานเล็กๆ ราว 2-3 ชั่วโมง แต่มีเว้นวรรคไปบ้างช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ปีนี้เป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์ทางการเมืองมีความเปลี่ยนแปลง จึงมีการจัดงานใหญ่ในชื่อ “สโมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล” โดยถือโอกาสวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 จัดงานขึ้น ระหว่างวันที่ 23-24 มิถุนายน

“เราเลือกวันประชาธิปไตย 24 มิถุนายน ซึ่งมีความสำคัญ ถามว่าทำไมเป็นสเปเชียล ประการแรก เพราะเป็นงานใหญ่ต่อเนื่อง 2 วัน และอีกประการคือ เป็นการจัดงานร่วมกับอีกหลายหน่วยงาน ทั้งสำนักพิมพ์มติชน, ศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC), เส้นทางเศรษฐี

“กิจกรรมในงานมีทั้งเสวนา ศิลปวัฒนธรรมสเปเชียล หลากหลายประเด็น เช่น กำเนิดและสิ้นสุดวันชาติ 24 มิถุนายน โดย ผศ. ดร.ณัฐพล ใจจริง และ ผศ. ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์, เมนูสร้างชาติ ราษฎรยุค 2475 โดย ผศ. ดร.ชาติชาย มุกสง เป็นต้น รวมทั้งมีนิทรรศการจัดแสดงของสะสมที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่างๆ ในช่วง 2475 และหลังจากนั้นมาให้ชมกัน ไม่ว่าจะเป็น สิ่งพิมพ์ เหรียญตรา และภาพโปสเตอร์ รวมถึงรายการอื่นๆ ที่หาชมยาก, ภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ที่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ สร้าง เราก็เอามาฉายในงานนี้ด้วย”

ณัฐพล ใจจริง เครือมติชน สโมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล "๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์"
ผศ. ดร.ณัฐพล ใจจริง ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ยุค 2475 ที่ขึ้นเวทีเสวนา และยังนำของสะสมส่วนตัวมาจัดแสดงให้ชมอย่างใกล้ชิด

นิทรรศการที่บรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรมหมายถึงนั้นก็คือ “เปิดกรุ” ของสะสมหาชมยาก ที่กูรูประวัติศาสตร์ยุค 2475 ทั้ง ผศ. ดร.ณัฐพล ใจจริง, นริศ จรัสจรรยาวงศ์ และ ผศ. ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ รวมทั้งคนรุ่นใหม่อย่างอัครชัย อังศุโภไคย พร้อมใจกันนำของสะสมส่วนตัวที่เสาะหามาอย่างยากเย็น มาจัดแสดงให้ชมอย่างใกล้ชิดกว่า 250 ชิ้น นับเป็นครั้งแรกก็ว่าได้ที่จัดเต็มมากสุดในไทยในงานเดียวขนาดนี้

ส่วนใครที่ชอบฟังเพลงเพราะๆ จากนักร้องระดับตำนานของไทย สโมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล “๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์” ก็ไม่พลาดจัดมาให้ชมกันอย่างใกล้ชิด และแน่นอนว่ายังคงคอนเซ็ปต์งานไว้อย่างเหนียวแน่นเช่นเคย

สุุพจน์ขยายความว่า ในงานมีการขับร้องบทเพลงและบรรเลงดนตรี โดยเฉพาะเพลงในช่วงหลัง 2475 เป็นต้นมา ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่ดนตรีไทยเริ่มเปลี่ยนมาเป็นดนตรีสากล มีพระเจนดุริยางค์ เกิดวงดนตรีกรมโฆษณาการ ภาพยนตร์เสียง จึงนำเพลงยุคนั้นที่สะท้อนสังคม เป็นความบันเทิงในยุคนั้นมาให้ฟังแบบได้อารมณ์

โฉมฉาย อรุณฉาน เครือมติชน สโมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล "๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์"
โฉมฉาย อรุณฉาน

ไฮไลต์คือเวลา 17.30 น. เป็นต้นไปของวันที่ 24 มิถุนายน โฉมฉาย อรุณฉาน จะมาร้องเพลงในช่วง “บรรเลงรมย์” แต่ก่อนหน้านั้นราว 1 ชั่วโมง โฉมฉายจะขึ้นเวทีกับบูรพา อารัมภีร โดยเป็นการพูดคุย เล่าเรื่องเพลงและดนตรีหลัง 2475 ว่ามีความเป็นมาอย่างไร

เหตุผลที่ต้องเป็น “โฉมฉาย อรุณฉาน” เพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญ จบปริญญาเอก อยู่วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ มีความรู้เรื่องเพลงเหล่านี้มาก จะหาคนที่ทั้งร้องได้และเล่าได้ด้วยข้อมูลความรู้จริงๆ นั้นไม่ง่าย แม้เป็นคนในสมัยหลัง แต่เพลงเหล่านี้สืบทอดกันมา นักร้องวงกรมประชาสัมพันธ์ร้องกันได้ และยังทราบที่มาที่ไป รวมถึงความหมายและประวัติ

สุพจน์บอกด้วยว่า งานนี้จะช่วยฉายภาพสังคมไทยในยุคนั้นว่าเขาอยู่อย่างไร กินอย่างไร รสนิยม ภาพยนตร์ ดนตรี เป็นอย่างไร นับเป็นงานที่มีความหมายทั้งต่อการรับรู้ และการเรียนรู้ มีทั้งความบันเทิง และสาระข้อเท็จจริง ซึ่งหลายสิ่งเราอาจไม่เคยเห็น ไม่เคยทราบมาก่อน

“สโมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล ในครั้งนี้ ไม่ใช่งานย้อนยุคในทางวิชาการเท่านั้น แต่เป็นประวัติศาสตร์สังคม อยากให้มากันเยอะๆ นอกจากเสวนา เพลง ดนตรี และนิทรรศการแล้ว ยังมีหนังสือที่น่าสนใจให้เลือกซื้อด้วย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเล่มของสำนักพิมพ์มติชนและในเครือ รวมถึงบูธสำนักพิมพ์พันธมิตร และนิตยสารศิลปวัฒนธรรมฉบับเก่าๆ ที่หายาก เราก็จะนำออกมาจำหน่ายด้วย”

ราสดรสร้างชาติ นริศ จรัสจรรยาวงศ์ สนพ.มติชน เครือมติชน
ผลงาน “ราสดรสร้างชาติ” โดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์ จาก สนพ.มติชน

ครั้งแรก! เทศกาลหนังสือการเมือง โดย สนพ.มติชน และ 7 เพื่อนสำนักพิมพ์

ไม่เพียงเป็นงานที่รวมนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์การเมืองเบอร์ต้นของไทยไว้ในงานเดียวร่วม 20 ราย นับว่ามากสุดในช่วงนี้ มี “เปิดกรุ” ของสะสมหายากยุค 2475 มากสุดในไทยเท่าที่เคยนำออกมาจัดแสดงแล้ว งานนี้ยังเป็นครั้งแรก ที่มี “เทศกาลหนังสือการเมือง ๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์” เอาใจนักอ่านที่ชื่นชอบหนังสือแนวนี้แบบเนื้อๆ เน้นๆ

มณฑล ประภากรเกียรติ ผู้จัดการสำนักพิมพ์มติชน เล่าถึงที่มาของธีมเทศกาลหนังสือการเมืองฯ โดย สำนักพิมพ์มติชน ร่วมกับอีก 7 เพื่อนสำนักพิมพ์ ว่า เทศกาลหนังสือการเมืองฯ นอกจากจะเป็น “มาร์เก็ต เพลส” ยังเป็นคอมมูนิตี้ที่เพื่อนสำนักพิมพ์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และนักอ่านกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มาเจอกัน

“นักอ่านมาเจอสำนักพิมพ์ เจอคนทำหนังสือตัวจริง หรือนักอ่านมาเจอนักเขียนที่ติดตามมาตลอด พอเป็นคอมมูนิตี้เราเลยใส่คอนเซ็ปต์เข้าไปด้วย เดือนนี้เป็นเดือนมิถุนายน เป็นเดือนแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองมา 91 ปีแล้ว เป็นเดือนแห่งประวัติศาสตร์การเมืองที่สำคัญของประเทศไทยด้วยซ้ำ เราเลยอยากจัดการรวมตัวของบุคคล กลุ่มคนที่สนใจในการศึกษาเรื่องเดียวกันให้มาพูดคุยกัน เพราะนอกจากการซื้อ-ขาย ยังได้อะไรมากกว่านั้นเยอะ มาพูดคุย ศึกษา มาพบเจอ แลกเปลี่ยนความเห็น เราจึงเลือกจัดงานเทศกาลหนังสือการเมืองฯ ในเดือนสำคัญเดือนหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย

“กล้าพูดเลยว่า 2 วันนี้เป็นวันที่เรารวมนักวิชาการ นักเขียน ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมืองมาเยอะที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศก็ว่าได้ ซึ่งจะมาแลกเปลี่ยนประเด็นที่สำคัญๆ กัน”

“พจนานุกรม ตัวสกดแบบไหม่” ตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2485 สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกฯ ที่นำมาจัดแสดงในงานนี้

มณฑลบอกอีกว่า นอกจากผู้ร่วมงานจะได้รับความรู้เรื่องวันชาติในอดีตว่ามีความเป็นมาอย่างไร และสำคัญอย่างไรกับสังคมไทย ยังจะได้สัมผัสกับกิจกรรมอีกหลากหลาย เช่น อาหารที่เกี่ยวกับคอนเซ็ปต์การเฉลิมฉลองวันชาติในช่วงนั้น มีกิจกรรมฉายภาพยนตร์ ฯลฯ เพราะการเรียนรู้เกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบ หรือแม้กระทั่งเรื่องนิทรรศการของสะสมที่ทุกคนไม่เคยเห็นมาก่อน เพราะไม่มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติแน่นอน

“ของสะสมพวกนี้เป็นของสะสมส่วนตัวของนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ยุคคณะราษฎร ที่จะนำมาจัดแสดงให้ทุกคนชมกันอย่างใกล้ชิด จากที่เก็บเป็นสมบัติส่วนตัวอยู่ที่บ้าน ตลอด 2 วันของการจัดงาน ทุกคนจะได้เห็นหลักฐานยุคนั้นว่ามีอะไรบ้าง และสิ่งของเหล่านี้สะท้อนความคิดและอุดมการณ์ยุคนั้นอย่างไร เป็นมิวเซียมที่อยู่นอกมิวเซียมอีกที เชื่อว่าหาดูที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว ไปพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศก็ไม่มี”

หนังสือ วิชาอาหาร จอมพล ป. เครือมติชน
หนังสือ “วิชาอาหาร” เนื้อหาส่งเสริมโภชนาการคนไทย ซึ่งนำมาจัดแสดงในงานนี้ด้วยเช่นกัน

“เส้นทางเศรษฐี” เสิร์ฟเมนูความอร่อยยุคสร้างชาติ

เพราะอาหารมีความสำคัญมาทุกยุคสมัย ทั้งยุคหนึ่งยังมีบทบาทสำคัญในการสร้างชาติไทยให้แข็งแกร่ง งานนี้จึงมีมิติของอาหารเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างน่าสนใจยิ่ง

กรชุลี เสนะเวส บรรณาธิการเส้นทางเศรษฐีออนไลน์ เริ่มต้นว่า เรื่องวัฒนธรรมการกินยุค 2475 และเส้นทางเศรษฐี มีจุดเชื่อมโยงกันในเรื่องอาหาร วัฒนธรรมการกินอาหารในไทยมีความหลากหลายและเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย โดยครั้งนี้จะเน้นไปที่ยุค 2475 ซึ่งเป็นยุคสร้างชาติ ที่แน่นอนว่าวัฒนธรรมการกินไม่เหมือนปัจจุบัน แต่จะมีเมนูที่ถูกส่งต่อกันมาในยุคนี้ ที่เห็นได้ชัดคือ “ก๋วยเตี๋ยว” เป็นอาหารที่เส้นทางเศรษฐีให้ความสนใจเป็นพิเศษ ถือเป็นอาหารสร้างชาติในยุคของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ส่งเสริมให้คนไทยหันมาบริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ มีประโยชน์ต่อสุขภาพพลานามัย

“ยุคนั้น รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เคยส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยง ไม่ว่าจะเลี้ยงหมู ไก่ไข่ เป็ด ปลา เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบต่อยอดเป็นอาหาร อย่างก๋วยเตี๋ยว ผัดไทย ที่มีโภชนาการครบเช่นเดียวกัน เราจึงคัดเลือกเมนูและร้านอาหารมาให้ทุกคนที่ร่วมงานได้ชิมและได้ทำความรู้จักกับรูปแบบอาหารในยุคนั้น ที่นอกจากจะอร่อยแล้วยังมีความเข้าใจว่าส่งต่อมาจนถึงยุคปัจจุบันได้อย่างไรด้วย”

งานนี้ บรรณาธิการเส้นทางเศรษฐีออนไลน์บอกว่า คัดร้านเด็ดมาถึง 8 ร้าน เป็นร้านดังระดับตำนาน รวมเอาเมนูยุคสร้างชาติมาไว้ในงานเดียว ไฮไลต์เด่นๆ เมนูแรก คือ ผัดไทย นำร้านเด็ดอย่าง “ผัดไทยโบราณเจ๊นิด” ซึ่งเคยมาสอนถ่ายทอดอาชีพที่มติชนอคาเดมี มาออกร้าน เจ้านี้ขายมานาน อยู่ริมคลองบางกอกน้อย ความพิเศษคือเป็นผัดไทยโบราณที่ใส่หมู สูตรสมัยก่อนจะใช้เส้นเล็ก หรือเส้นก๋วยเตี๋ยวธรรมดา ปรุงด้วยซอสมะขามเปียก โรยด้วยกากหมูเจียว ที่สำคัญต้องใส่กุ้งแห้ง นอกจากนี้ ยังมีก๋วยเตี๋ยวร้าน “เจริญพุงโภชนา” เป็นก๋วยเตี๋ยวหมูเจ้าดังตั้งอยู่บนถนนจันทน์ เคล็ดลับความอร่อยเด็ดอยู่ที่สูตรต้มยำ ที่ดึงคนเข้าร้านอย่างเนืองแน่น

กรชุลีบอกว่า นอกจากอาหารแล้วก็ยังมีขนมหวาน เช่น “D.K. เบเกอรี่” ซึ่งเป็นเบเกอรี่เจ้าแรกๆ ในไทย ตั้งอยู่ใกล้วัดแขก สีลม เปิดมากว่า 70 ปี พูดให้เห็นภาพคือเปิดมาตั้งแต่ยุคที่ยังมีรถรางวิ่ง จนตอนนี้ก็ยังขายอยู่ ถือเป็นร้านเก่าแก่อยู่คู่ถนนสีลมมานาน เมนูเด็ดๆ ที่นำมาขายในงานคือขนมปังไส้สังขยาใบเตย ขนมปังไส้สังขยารสดั้งเดิม รวมถึงเมนูใหม่ที่ปรับตามยุคสมัยโดยทายาทรุ่น 3 ยังมีร้านขนมไทยที่ต่อคิวยาวมากในซอยอารีย์คือร้าน “ยายทำให้หลานขาย” ที่คัดเอาขนมไทยหากินได้ยากมาให้ทุกคนได้อร่อยกัน

“ยังไม่หมด เรายังมีร้านไอศกรีมบ้านแพ้ว เจ้าดังจากตลาดนัดจตุจักรที่เปิดขายมากว่า 10 ปี เป็นไอศกรีมกะทิ รอบนี้เราชวนมาด้วย เขารู้สึกว่าคอนเซ็ปต์ของงานดีก็เลยอยากมาขาย จุดเด่นคือมีท็อปปิ้งให้เลือกมากมาย แต่ตัวเด็ดคือไอศกรีมกะทิสูตรเฉพาะของร้าน ยังมีร้านน้ำลำไย ฟูนัน ที่ตอนนี้น้ำลำไยเป็นกระแสอยู่ เนื้อลำไยทะลักออกมา อย่างงานที่แล้วคือ Upskill Thailand 2023 ‘ถึงรสถึงชาติ’ จัดโดยเครือมติชน ร้านนี้ก็ขายดีมาก ชวนมารอบนี้เขาตอบตกลงทันทีเพราะเดือนที่แล้วขายดีจริงๆ

“อยากให้ทุกคนที่มางานได้ทั้งสาระความรู้ ความเพลิดเพลิน ความสนุกสนาน มารับรส ลองอาหารยุคสร้างชาติว่าจะเด็ดประมาณไหน จะมีเซกชั่น เมนูสร้างชาติ ราษฎรยุค 2475 สมมติว่าฟังจนอินจากตรงนั้นแล้วก็สามารถออกมาชิมผัดไทยโบราณต่อได้ด้วย”

สโมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล “๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์” อีเวนต์ใหญ่ เครือมติชน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-24 มิถุนายน 2566 เวลา 10.00-20.00 น. ที่มติชนอคาเดมี เข้าฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย เดินทางสะดวกด้วยรถโดยสารสาธารณะ และรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง สถานีวัดเสมียนนารี สอบถามโทร. 0-2954-3977 ถึง 84

ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกกรรม สามารถลงทะเบียนร่วมงานได้ที่ http://www.matichonevent.com/24june/ และติดตามรายละเอียดได้ที่เฟซบุ๊ก Silpawattanatham – ศิลปวัฒนธรรม และเว็บไซต์ www.silpa-mag.com

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่