แบบพระบรมราชานุสาวรีย์ “สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี” ที่ไม่เคยเห็น

พระบรมราชานุสาวรีย์ “สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี” ภาพนี้เป็น 1 ใน 7 แบบที่กรมศิลปากรออกแบบให้ประชาชนลงมติเลือก ในแบบภาพนี้จะเห็นลานอนุสาวรีย์ยกพื้นสูงมีบันไดโดยรอบ ด้านหน้ามีบ่อน้ำขนาดใหญ่ ด้านหลังมีปีกทรงแบน 2 ปีก ลักษณะคล้ายกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

โดยในปี พ.ศ. 2477 นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ ผู้แทนจังหวัดธนบุรี (ขณะนั้นยังไม่รวมฝั่งธนบุรีเข้ากับฝั่งพระนครเป็นกรุงเทพมหานคร) เป็นผู้เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีในการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

ต่อมาถึงปี พ.ศ. 2478 รัฐบาลได้รับเรื่องมาดำเนินการ โดยกำหนดให้ตั้งพระบรมราชานุสาวรีย์ที่วงเวียนใหญ่ ธนบุรี มอบหมายให้กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบขึ้นมาทั้งหมด 7 แบบ ตั้งแสดงในงานรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2480 เพื่อขอมติมหาชน โดยผู้ใดชอบแบบใดก็ให้บริจาคทรัพย์เป็นคะแนนเสียงใส่ในตู้ ซึ่งตั้งอยู่หน้าภาพนั้น

ผลของประชามติเลือกแบบ “พระบรมรูปทรงม้าถือดาบ” ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ได้คะแนนถึง 3,932 คะแนน แต่การดำเนินงานก่อสร้างต้องชะงักลงเสียก่อน เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 (ปี พ.ศ. 2484-2488) กว่าจะได้ดำเนินการอีกครั้งก็ล่วงเข้าปี พ.ศ. 2491 โดยนายทองอยู่ พุฒพัฒน์ และนายเพทาย โชตินุชิต สมาชิกเทศบาลธนบุรี ได้รื้อโครงการนี้ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

กระทั่งถึงปี พ.ศ. 2492 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้อนุมัติเงินงบประมาณจำนวน 200,000 บาท ก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สัดส่วนขนาดหนึ่งเท่าครึ่งของคนจริง โดยกรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบพระบรมรูปและพระแท่น ปั้นหล่อเรียบเรียง และจัดทำแผ่นจารึก, กรมโยธาธิการตกแต่งบริเวณวงเวียนใหญ่, บริษัท สหการก่อสร้าง จำกัด สร้างแท่นฐาน

ล่วงถึงปี พ.ศ. 2494 ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ทำการปั้นพระบรมรูปเสร็จ ทางราชการจึงจัดประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์และเททองพระเศียรเป็นปฐมฤกษ์ ในวันที่ 30 พฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2494 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 17 เมษายน ปี พ.ศ. 2497

และนี้คือ 1 ใน 7 แบบของพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2556)

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 ธันวาคม 2564