ค้นที่มา “ศาลเจ้าจีน” บนดาดฟ้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 17 สักการะศาลจีน “ศาลเจ้าพ่อเพ่งนั้มกิมไซ” บนดาดฟ้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ภาพจากไลฟ์สดเพจ : ชัชชาติ สิทธิพันธุ์)

ช่วงบ่ายวันที่ 1 มิถุนายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 17 ได้เข้ารับตำแหน่งเริ่มงานวันแรกที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ผู้ว่าฯ ชัชชาติ พร้อมด้วยทีมงานและคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครได้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย พระพุทธนวราชบพิตร และศาลไทย-ศาลจีน เพื่อความเป็นสิริมงคล หลายท่านที่ชมพิธีการนี้ผ่านไลฟ์สดของเพจชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อาจสงสัยอยู่ในใจขึ้นมาว่า บนศาลาว่าการกรุงเทพมหานครมี “ศาลเจ้าจีน” ด้วยหรือ?

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 17 สักการะศาลจีน “ศาลเจ้าพ่อเพ่งนั้มกิมไซ” บนดาดฟ้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ภาพจากไลฟ์สดเพจ : ชัชชาติ สิทธิพันธุ์)

ศาลไทย-ศาลจีน “ศาลพระภูมิ” บนศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

หนังสือ “เทพ-เทวะ ศักดิ์สิทธิ์-สักการะ” โดย กองบรรณาธิการข่าวสด จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2553 ให้ข้อมูลศาลไทย-ศาลจีน “ศาลพระภูมิ” บนดาดฟ้าชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ว่า “ศาลไทย “ศาลพระภูมิหลวงปู่มงคลประสาท” อยู่ติดกับสำนักงบประมาณกรุงเทพฯ ขณะที่ศาลจีน “ศาลเจ้าพ่อเพ่งนั้มกิมไซ” อยู่ติดกับสำนักงานผู้ตรวจราชการ ในปี พ.ศ. 2539 ศาลไทยอยู่ในสภาพทรุดโทรมและแตกร้าว นายประเสริฐ สมะลาภา ปลัดกรุงเทพมหานครในขณะนั้นสั่งการให้กองกลางปรับปรุงให้ใหญ่ขึ้นและสวยงามกว่าเดิม โดยมีพิธีถอนศาลเดิมซึ่งเป็นศาลปูนขนาดเล็กแล้วตั้งศาลใหม่ในจุดเดิม

ศาลไทย “ศาลพระภูมิหลวงปู่มงคลประสาท” (ภาพจากหนังสือ “เทพ-เทวะ ศักดิ์สิทธิ์-สักการะ”โดย กองบรรณาธิการข่าวสด)

ส่วนศาลจีน ซึ่งเกิดปัญหาดาดฟ้าบริเวณใต้ศาลมีน้ำรั่วซึมลงไปที่ห้องผู้ตรวจราชการ และตัวศาลก็ชำรุดทรุดโทรม นางนินนาท ชลิตานนท์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองกลางในขณะนั้น ได้เตรียมปรับปรุงเช่นกัน ส่งทีมงานไปเสาะหาหินอ่อนคุณภาพดีที่สุดถึงจังหวัดสระบุรี และอีกหลายๆ ที่ แต่ไม่ถูกใจ กระทั่งนางนินนาทพ้นตำแหน่ง การสร้างศาลจีนก็ยังไม่สำเร็จ แม้จะมีการซ่อมแซมไปบ้างแล้วแต่ยังมีปัญหาน้ำรั่วซึมลงมา

ทาง กทม. ยังดำริจะย้ายศาลทั้งสองศาลลงมาด้านล่างของศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เพื่อความสะดวกในการประกอบพิธีสักการบูชา แต่ทำไม่สำเร็จ นางนินนาทเล่าว่า ขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการกองกลางมีหน่วยงานแนะนำพระภิกษุสายธุดงคืมาให้รูปหนึ่ง จึงพาท่านไปดูที่ตั้งของศาลไทยและศาลจีน เพื่อดูว่าหากจะปรับปรุ่งศาลจะทำได้หรือไม่ หากทำได้จะอัญเชิญลงไปอยู่ข้างล่างทั้ง 2 ศาล

ผ่านไป 3-4 เดือน ได้รับคำแนะนำว่า การย้ายศาลลงไปข้างล่างไม่เหมาะสม เพราะด้านหน้าเป็นวัดสุทัศน์ ด้านข้างเป็นศาลเจ้าพ่อเสือ และยังได้รับคำแนะนำด้วยว่า ไม่ชอบให้นำสิ่งของมาตั้งวางเกะกะจึงติดป้ายห้ามวางสิ่งของไว้บริเวณศาลจนถึงทุกวันนี้ นางนินนาทเผยด้วยว่า ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ละทิ้งความพยายามในการสร้างศาลจีนขึ้นใหม่ แต่ต้องหาผู้เชี่ยวชาญในด้านศาลจีนเข้ามาทำพิธี เพราะเกรงว่าจะมีผลกับฮวงจุ้ยภายในกรุงเทพมหานคร

ศาลจีน “ศาลเจ้าพ่อเพ่งนั้มกิมไซ” (ภาพจากหนังสือ “เทพ-เทวะ ศักดิ์สิทธิ์-สักการะ”โดย กองบรรณาธิการข่าวสด)

ทั้ง 2 ศาลนี้ข้าราชการกรุงเทพมหานครทุกคนให้ความเคารพนับถือเสมือนเป็นศาลพระภูมิเจ้าที่ประจำบ้าน ใครไปใครมานอกจากจะต้องไปกราบพระพุทธนวราชบพิตรแล้ว ก็ต้องขึ้นไปกราบไหว้ทั้งศาลไทย-ศาลจีนบนดาดฟ้า ชั้น 5 ด้วยเช่นกัน

“ศาลเจ้าพ่อเพ่งนั้มกิมไซ” บนดาดฟ้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ภาพจากไลฟ์สดเพจ : ชัชชาติ สิทธิพันธุ์)

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เอกสารอ้างอิง :

กองบรรณาธิการข่าวสด. เทพ-เทวะ ศักดิ์สิทธิ์-สักการะ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2553


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 มิถุนายน 2565