เรียนรู้ “พิพิธภัณฑ์ครุฑ” สัตว์หิมพานต์สัญลักษณ์แห่งความกตัญญู ความซื่อสัตย์ และความดีงาม

พิพิธภัณฑ์ครุฑ โดยธนาคารทหารไทยธนชาต

พิพิธภัณฑ์ครุฑ โดยธนาคารไทยธนชาต ได้รวบรวมครุฑที่ประดิษฐาน ณ ธนาคารต่างๆ มากกว่า 150 องค์ มาไว้ด้วยกัน โดดเด่นด้วยองค์ครุฑไม้ที่แกะสลักอย่างวิจิตรงดงาม สะท้อนถึงความประณีตของศิลปิน พร้อมเรียนรู้เรื่องราว “พญาครุฑ” สัตว์หิมพานต์ สัญลักษณ์แห่งความกตัญญู ความซื่อสัตย์ และความดีงาม

ประวัติความเป็นมา

“พิพิธภัณฑ์ครุฑ” ก่อตั้งขึ้นโดยเริ่มจากการที่ธนาคารธนชาตได้รวมกิจการกับธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ซึ่งธนาคารนครหลวงนั้นได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเครื่องหมายครุฑพ่าห์หรือตราครุฑพระราชทานมาติดตั้งอยู่ที่สำนักงานใหญ่และสาขาต่างๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2484

Advertisement

ภายหลังการรวมกิจการระหว่างธนาคารนครหลวงไทยกับธนาคารธนชาต ใน พ.ศ. 2554 ธนาคารธนชาตได้ตระหนักถึงคุณค่าและเห็นความสำคัญขององค์ครุฑพระราชทาน จึงได้อัญเชิญครุฑจากสำนักงานและสาขาต่างๆ มาประดิษฐานยังศูนย์ฝึกอบรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ

ต่อมาได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ครุฑขึ้น เพื่อร้อยเรียงเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับครุฑในรูปแบบสื่อผสมผสาน (Multimedia) ในพิพิธภัณฑ์ได้มีการออกแบบและสร้างสรรค์สถานที่เพื่อให้ผู้ชมได้ทราบถึงความเป็นมาของครุฑตามตำนาน ทั้งในเชิงพุทธศาสนาและพราหมณ์

ส่วนจัดแสดง

ส่วนจัดแสดงที่ 1 โถงตอนรับ “ครุฑ” ต้นแบบความกตัญญู ปลดปล่อยมารดาสู่อิสรภาพ ศึกษาจุดเริ่มต้นแห่งตำนานศึกสายเลือด ต่างมารดาระหว่างครุฑและนาคที่มีมาอย่างยาวนาน ผ่านเทคโนโลยีโลกเสมือน หรือ AR (Augmented Reality) ที่จะช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ในการเรียนรู้ภายในพิพิธภัณฑ์

ภาพส่วนจัดแสดงที่ 1 โถงต้อนรับ “ครุฑ” ต้นแบบความกตัญญู ปลดปล่อยมารดาสู่อิสรภาพ

ส่วนจัดแสดงที่ 2 ครุฑพิมาน ท่องไปในแดนหิมพานต์ ที่มีสระน้ำอโนดาตหล่อเลี้ยงชีวิตที่ไม่มีวันเหือดหาย ซึ่งใจกลางสระบานสะพรั่งไปด้วยบัวบานหลากพรรณหลายสีสันที่เบ่งบานดึงดูดสัตว์หิมพานต์ ทั้ง ครุฑ นาค หงส์ สิงห์ และกินรี

ภาพส่วนจัดแสดงที่ 2 ครุฑพิมาน ท่องไปในแดนหิมพานต์

ส่วนจัดแสดงที่ 3 นครนาคราช บุกนครนาคราช ตามหาหนทางปลดปล่อยมารดาของพญาครุฑ ในความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู นางกัทรุ มารดาของเหล่านาค และนางวินตา มารดาของครุฑ ได้พนันกันถึงสีของม้าอุไฉศรพซึ่งเป็นสมบัติของพระอินทร์ โดยพนันว่าใครแพ้ต้องเป็นทาสอีกฝ่ายห้าร้อยปี ผลสรุปของการพนันครั้งนี้ นางวินตาพ่ายแพ้และตกเป็นทาสของนางกัทรุถึงห้าร้อยปี

ภายหลังเมื่อครุฑได้ทราบสาเหตุที่มารดาต้องตกเป็นทาสและได้ทราบเงื่อนไขจากพวกนาคว่า ต้องไปเอาน้ำอมฤตให้นาคเสียก่อนจึงจะให้นางวินตาเป็นอิสระ พญาครุฑจึงใช้สติปัญญาความเฉลียวฉลาดนำน้ำอมฤตกลับไปได้ แต่กระนั้นทั้งพญานาคและครุฑก็ยังเป็นคู่แค้นกันมาโดยตลอด

ภาพส่วนจัดแสดงที่ 3 นครนาคราช บุกนครนาคราช ตามหาหนทางปลดปล่อยมารดาของพญาครุฑ

ส่วนจัดแสดงที่ 4 อมตะจ้าวเวหา “ครุฑ” ต้นแบบความดีเป็นที่ประจักษ์ พญาครุฑเป็นสัญลักษณ์แห่งพลังอำนาจ คุณธรรม เมื่อครั้งพระรายณ์เสด็จขึ้นจากเกษียรสมุทรเพื่อห้ามปรามพญาครุฑเรื่องน้ำอมฤต แต่พญาครุฑก็ยืนยันเจตนาที่จะช่วยเหลือมารดาอย่างถึงที่สุด พระนารายณ์จึงประทานความเป็นอมตะและให้พรสำคัญคือ การอยู่สูงกว่าพระองค์ “ขอให้ท่านเป็นพาหนะของข้า ร่วมแบกรับภารกิจยิ่งใหญ่ ขอให้ท่านสถิตที่ยอดเสาธงของข้าเพื่อท่านจะได้อยู่สูงกว่าข้า”

ภาพส่วนจัดแสดงที่ 4 อมตะจ้าวเวหา

ส่วนจัดแสดงที่ 5 ล้นเกล้าจอมราชัน ครุฑกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามความเชื่อกษัตริย์ทุกพระองค์เปรียบเป็นอวตารของพระนารายณ์ ครุฑซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนองค์กษัตริย์จึงนำมาใช้เป็นตราแผ่นดินหรือเรียกว่า “ตราครุฑพ่าห์” เริ่มใช้นับตั้งแต่ สมัยอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี จวบจนสมัยรัตนโกสินทร์

และในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ครุฑเป็นเครื่องหมายประทับบนธงว่า “ธงมหาราช” ซึ่งจะถูกชักขึ้น ณ สถานที่ที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับ และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเปลี่ยนให้ใช้ตราอาร์มแทนตราแผ่นดินในระยะหนึ่ง แต่ต่อมาทรงดำริว่าตราอาร์มมีความเป็นตะวันตกมากไป จึงทรงพระกรุณาเปลี่ยนมาใช้พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์อีกครั้งหนึ่งและสืบเนื่องมาจวบจนปัจจุบัน

ภาพส่วนจัดแสดงที่ 5 ล้นเกล้าจอมราชัน

ส่วนจัดแสดงที่ 6 ห้องจัดแสดงครุฑ “ครุฑ” ต้นแบบความซื่อสัตย์ ตราตั้งห้างพระราชทาน เพื่อให้ประกอบกิจการอยู่ในศีลธรรมอันดี เสน่ห์ของตราครุฑพระราชทานไม่ได้อยู่ที่ความสวยงามเพียงอย่างเดียวแต่อยู่ที่คุณค่าและประวัติศาสตร์การสร้างสรรค์ครุฑ การบรรจงสลักเสลาลายอันมีเอกลักษณ์เฉพาะในแต่ละองค์ ศิลปินแต่ละคนต่างมีแนวคิดค่านิยมในการปั้นครุฑแตกต่างกัน จึงทำให้เห็นพญาครุฑแต่ละองค์จะมีรูปร่าง หน้าตา สีของผ้านุ่งและเครื่องทรงที่หลากหลายกันออกไป

ภาพส่วนจัดแสดงที่ 6 ห้องจัดแสดงครุฑ

พิพิธภัณฑ์ครุฑ โดยธนาคารทหารไทยธนชาต ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู ซอย 9A จังหวัดสมุทรปราการ เปิดบริการทุกวันศุกร์และเสาร์ วันละ 3 รอบ ในเวลา 10.00 / 13.00 / 15.00 นาฬิกา สามารถจองคิวเข้าชมผ่านทางออนไลน์ www.ttbfoundation.org/th/garudamuseum