พบซาก ‘สำนักจี้เซี่ย’ สถาบันที่เป็นคลังสมองของรัฐฉีในจีน เก่าแก่กว่า 2 พันปี

ภาพประกอบเนื้อหา - ซากโบราณสถานหลางหยาไถ นครชิงเต่า มณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2019 ภาพจาก แฟ้มภาพซินหัว ใช้ประกอบเนื้อหาเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูลโดยตรง

สถาบันวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีมณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน เปิดเผยการขุดพบซาก สำนักจี้เซี่ย ในเขตหลินจือ เมืองจือโป๋ของมณฑลซานตง โดยสถาบันแห่งนี้เป็นหน่วยงานการศึกษาระดับสูงที่บริหารงานโดยราชการแห่งแรกในสมัยจีนโบราณ สร้างขึ้นเมื่อ 374 ปีก่อนคริสต์ศักราช

สำนักจี้เซี่ย ก่อตั้งโดยรัฐฉีช่วงยุครณรัฐ (475-221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) สถาบันแห่งนี้เคยเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของรัฐที่มีบทบาทหลากหลาย อาทิ สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย และคลังสมอง และดำเนินงานมานานกว่า 150 ปี

รายงานจากสำนักข่าวซินหัวอ้างอิงรายงานท้องถิ่นที่ระบุว่า มีการขุดพบโครงสร้างสิ่งก่อสร้างหลังดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีมานาน 5 ปี โดยข้อมูลทางประวัติศาสตร์ยืนยันว่าสิ่งก่อสร้างที่พบนี้เป็นสถาบันจี้เซี่ย

นักโบราณคดีขุดพบฐานสิ่งก่อสร้างรวม 4 แถว มีช่วงกว้างที่สุดราว 210 เมตรเมื่อวัดจากตะวันออกไปตะวันตก ยาว 190 เมตรเมื่อวัดจากเหนือจรดใต้ และมีพื้นที่รวมเกือบ 40,000 ตารางเมตร โดยสิ่งก่อสร้างนี้เชื่อมต่อกับอดีตเมืองหลวงของรัฐฉี และมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมูมุมฉาก เมื่อมองจากด้านบน

เจิ้งถงซิ่ว จากสมาคมโบราณคดีซานตง ซึ่งเป็นภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ประจำซานตงด้วย กล่าวว่าการก่อตั้ง จี้เซี่ย เป็นหนึ่งในการปฏิรูปครั้งสำคัญของรัฐฉี ซึ่งได้กำหนดทิศทางทางของการขยายวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของสังคมใหม่ในขณะนั้นเป็นครั้งใหญ่ โดยการค้นพบครั้งนี้สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาวัฒนธรรมของรัฐฉีเพิ่มเติม

 


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดจากรายงานในบริการข่าวสารภาษาไทยของสำนักข่าวซินหัว (ซานตงพบซาก ‘สำนักจี้เซี่ย’ ‘สถาบันคลังสมองของรัฐฉี’ เก่าแก่กว่า 2 พันปี) เผยแพร่เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2565